คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สพฐ.ได้เตรียมตัวเลขที่จะเสนอรัฐบาลตามนโยบายที่กำหนดให้เรียนฟรี 14 ปี โดยเฉพาะเรื่องของค่าใช้จ่ายรายหัว ซึ่งปัจจุบันกำหนดอยู่บนพื้นฐานของโรงเรียนขนาดกลาง และเป็นค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุดในโรงเรียนสามขนาด ทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงต้องไปเก็บเงินเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้แก้ปัญหานี้ด้วยการจัดสรรเงินเพิ่มให้กับโรงเรียนในสังกัด เพื่อจะได้ไม่ต้องเรียกเก็บเพิ่มจากผู้ปกครอง ดังนั้น ถ้ารัฐบาลไม่อยากให้ผู้ปกครองเดือดร้อน คงต้องเสนอตัวเลขให้ทราบว่านอกเหนือจากค่าใช้จ่ายรายหัวที่จัดสรรให้ โรงเรียนแล้ว ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษที่มีกิจกรรมหลากหลาย จะจัดสรรเงินเพิ่มให้หรือจะรับบริจาคจากผู้ปกครอง
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า ส่วนที่ว่าหากจะจัดการศึกษาฟรีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย จะขอรับการสนับสนุนเพิ่มจากรัฐบาลเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอนั้น ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ลงตัว แต่จากการหารือเห็นว่าถ้าได้รับการสนับสนุน 5,000-6,000 บาทต่อคนต่อปีจะสามารถจัดการศึกษาได้โดยไม่ต้องเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่ม อย่างไรก็ตามคงต้องรอฟังนโยบายจาก รมว.ศึกษาธิการก่อน นอกจากนี้โรงเรียนขนาดเล็กที่เคยเสนอว่าจะจัดสรรเงินเพิ่มให้หัวละ 500 บาท ในปีนี้ก็ยังไม่ได้รับการจัดสรรเพิ่ม เพราะสำนักงบประมาณรอผลงานวิจัยอยู่ นอกจากนี้ สพฐ.จะมีข้อเสนอด้วยว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้เด็ก ม.1- 3 ได้รับงบอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวัน ส่วนเรื่องของการเก็บแป๊ะเจี๊ยะนั้น ตนได้ทำหนังสือชี้แจงสังคม โดยระบุห้ามไม่ให้มีการกรอกตัวเลขเงินบริจาคล่วงหน้าในช่วงรับนักเรียน
นาย รังสรรค์ มณีเล็ก ผอ.สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. กล่าวว่า การเสนอปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวคงเป็นเรื่องที่ลำบาก ดังนั้น สพฐ.จะเสนอต่อ รมว.ศึกษาธิการว่า หากจะเรียนฟรีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รัฐบาลควรจะจัดสรรงบฯเพิ่มเติมเพื่ออุดหนุนเป็นค่าเครื่องแบบนักเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน อาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม) ซึ่งขณะนี้ กทม.ก็อุดหนุนอยู่ 20 รายการ และ สพฐ. ก็เคยมีแต่ถูกตัดไป.
ข้อมูลจาก ไทยรัฐ
Thursday, December 25, 2008
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ
Post a Comment