นักวิชาการ โวยชาวบ้านเมินดูแล มรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จี้ รัฐเอาจริงจัดระเบียบผู้ค้า ทำสภาพภูมิทัศน์ย่ำแย่...
วันที่ 29 มิ.ย. 2553 รศ.เสนอ นิลเดช นักวิชาการด้านอยุธยาศึกษา และอาจารย์อาวุโสมหาวิทยาลัยศิลปากรกล่าวถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับมรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาว่า ปัญหาอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มี 2 สาเหตุ คือ 1.เกิดจากคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ไม่ได้รักอยุธยาอย่างแท้จริงโดยเฉพาะผู้ค้า ส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นคนอยุธยาตั้งแต่กำเนิด 2.หน่วยงานภาครัฐไม่ได้เอาจริงกับการแก้ปัญหารวมทั้งไม่ได้จริงจังกับการจัดระเบียบและพัฒนาอยุธยาให้เป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการมรดกโลกกำหนด สำหรับแนวทางการแก้ปัญหานั้นต้องเริ่มจากคนอยุธยาต้องหันมามองปัญหาที่เกิดขึ้นอย่านึกถึงแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมศิลปากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องเอาจริงในการจัดระเบียบไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเช่นนี้ และ อปท.ต้องไม่พัฒนาอยุธยาไปในทิศทางที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ อปท.และกรมศิลปากรต้องมีหน้าที่ให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ให้มีจิตสำนึกรู้จักหวงแหนมรดกโลก รักอยุธยามากกว่าที่เป็นอยู่หากไม่มีการปลูกจิตสำนึกให้แก่เด็กรับรองว่าต่อไปอยุธยาจะไม่เหลือความสวยงามเอาไว้
“ผมอยากให้ถอดถอนอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาออกจากการเป็นมรดกโลก เพราะจากการที่ได้เห็นอยุธยาที่เป็นบ้านเกิดมากว่า 70 ปี รวมทั้งได้ทำการศึกษาประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมอยุธยามาเกือบทั้งชีวิตไม่เคยเห็นอยุธยามีสภาพที่ย่ำแย่อย่างนี้ ร้านค้ารกรุงรังเต็มไปหมด แม้แต่ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ก็แทบจะไม่มีการปลูกหญ้าให้สวยงามเห็นแล้วรู้สึกรำคาญสายตา หากคนอยุธยาไม่รักมรดกโลกแล้วก็ควรถอดถอนเสียดีกว่า” นักวิชาการด้านอยุธยาศึกษา กล่าว
ด้าน ศ.พิเศษศรีศักดิ์ วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) กล่าวว่าที่ผ่านมาการทำประชาพิจารณ์ถึงการปรับภูมิทัศน์อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาของกรมศิลปากรมีการทำความเข้าใจกับ อปท. ประชาชน ตลอดจนผู้ค้าในพื้นที่ไม่เพียงพอ ทั้งที่มีแผนงานทุกอย่างไว้ชัดเจนแล้วกลับกลายเป็นว่า ต่างคนต่างคิด ทางการก็ต้องการจะอนุรักษ์ แต่ชาวบ้านมองกว่าการอนุรักษ์ทำให้ได้รับความเดือดร้อน จนเป็นปัญหาบานปลาย ดังนั้น กรมศิลปากร อปท. และผู้ว่าฯ ต้องนำแผนงานมาหารือกัน และชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ หากทำความเข้าใจในจุดนี้แล้ว การดำเนินงานน่าจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้
Wednesday, June 30, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment