Tuesday, June 29, 2010

แมวน้ำ'แอฟริกาใต้'ตัวผู้สร้างอาณาจักรรอคู่

ช่วงนี้กระแสฟุตบอล "ฟีเวอร์" ซะเหลือเกิน และเพื่อไม่ให้ "เอาต์" หรือตกยุค หลายวันก่อนทางสวนสัตว์เชียงใหม่ จึงได้จับเอาแมวน้ำแอฟริกาใต้ เพศเมียที่ชื่อว่า "หนูแดง" กับ "ดีดี้" มาแต่งตัวแข่งขันบอลโลก เพื่อเรียกเสียงฮาจากผู้คนรอบข้าง

ส่วน...คณะที่ยกกันไปเกาะติดขอบสนามแข่งขันบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาได้ "กริ๊งกร๊าง" มาเล่าให้ ทีมงาน "หลายชีวิต" ฟังว่า ช่วงที่พอมีเวลาว่างหลายคนต่างท่องเรือไปอ่าว อู๊ตเบย์ (Hout Bay) อยู่ริมมหาสมุทรแอตแลนติก เยื้องลงมาทางตอนใต้ของเคปทาวน์ ซึ่งเดิมทีเป็นชุมชนประมงเก่า มีเกาะแมวน้ำ Duiker Island อยู่ห่างจากฝั่ง

..."แมวน้ำ" ที่อาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้ จะต่างจากแมวน้ำทั่วไป จัดอยู่ ในกลุ่ม Fur Seal ลักษณะคล้ายสิงโตทะเล พวกนี้ใช้ "ครีบ" เหมือนกับขาหลังเดิน ไม่ใช่กระดื๊บตัวไปเรื่อยๆเหมือนพวกที่อยู่แถวขั้วโลก เป็นกลุ่มขนดกมีนับสิบชนิด แต่พันธุ์ที่อาศัยอยู่ในแอฟริกา เรียกว่า Cape Fur Seal คำว่า Cape หมายถึงเขตเคปทาวน์และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งในโลกพบแค่ 2 แห่ง ที่แรกอยู่แถว ออสเตรเลียตอนใต้ อีกที่คือ ตอนใต้ของทวีปแอฟริกา นี่เอง...

1 แมวน้ำแอฟริกาใต้หรือเคปเฟอร์ซีล อาศัยอยู่ในแถบทะเลใกล้เกาะเล็กๆทางแอฟริกาใต้ พวกมันเป็นสัตว์สังคมอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ มีนิสัยขี้เล่นชอบว่ายน้ำฉวัดเฉวียน หลอกล่อ ล่าเหยื่อหากิน ปลา ปลาหมึก หอย ตามผิวน้ำหรือน้ำตื้นๆ ซึ่งบางครั้งพวกมันก็สร้างความเดือดร้อนให้กับเรือของชาวประมง

เคปเฟอร์ซีล จะมีจมูกและดวงตากลมโตสีดำ หนวดที่ยาวแข็ง เขี้ยวแหลมคมสำหรับกัดกินเหยื่อและใช้ต่อสู้กับศัตรู หรือผู้บุกรุกเขตแดน มีใบหูขนาดเล็ก โดยตั้งแต่ข้างแก้มจมูกจนถึงลำคอที่เป็นสันใหญ่ จะมีขนขึ้นยาวประปราย มีครีบคู่หน้า 2 ข้าง แข็งแรง นอก จากสามารถพยุงตัวรับน้ำหนัก ใช้เดิน หยิบจับสิ่งของได้ ยังเป็นอาวุธคู่กายของพวกมันอีกด้วย ครีบหางแยกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนมีกระดูกอ่อนยาว 5 ชิ้น มองคล้ายนิ้วเท้าคนเรา

สีขนลำตัวของตัวผู้เป็นสีเทา-ดำ และมีสีน้ำตาลแซม น้ำหนักราว 247 กิโลกรัม ความยาว 2.15 เมตร ตัวเมียมีสีลำตัวเป็นสีน้ำตาล-เทา น้ำหนักราว 57 กิโลกรัม มีความยาว 1.56 เมตร และตัวผู้จะมีขนาดรูปร่างที่ใหญ่กว่าตัวเมีย พวกมันมีสมองที่ค่อนข้างฉลาดแกมโกง เรียนรู้กับสิ่งรอบข้างได้ไว

...โดยในช่วงกลางเดือนตุลาคมนั้น ตัวผู้จะเริ่มเสาะหาอาณาจักรตามชายหาดโขดหิน จับจองประกาศอาณา เขตไว้รอตัวเมียที่จะตามเข้ามาทีหลังอีกจำนวนนับสิบตัว สำหรับเป็นแหล่งขยายเผ่าพันธุ์ และหากมีตัวผู้เข้ามารุกล้ำเขตแดน ตัว "จ่าฝูง" ก็จะไล่ออกให้พ้นเขตจนกว่ามันจะได้ผสมพันธุ์กับตัวเมียทุกตัวนั่นแหละ ถึงจะยอมใหัตัวอื่นเข้ามาอาศัยอยู่ได้ ซึ่งพวกมันจะอยู่ ที่นี่เป็นเวลาประมาณ 1 ปี

กระทั่งบรรดาสาวๆในฝูงจะเริ่มเบ่งทายาทที่ครั้งหนึ่งจะมีเพียงแค่ 1 ตัว หลังจากนั้น 5–6 วัน ธรรมชาติของตัวเมียก็จะเริ่มเรียกร้องให้ทำหน้าที่ขยายเผ่าพันธุ์ได้อีก.

No comments: