Wednesday, June 30, 2010

ร้องอย.นมยี่ห้อดัง กลายเป็นน้ำ สั่งอายัดสินค้าแล้ว

ร้องอย.ตรวจสอบนมยูเอชทียี่ห้อดัง หลังซื้อมารับประทานแล้วกลายเป็นน้ำ อย. สั่งอายัดสินค้า พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจโรงงานพบสายพานเครื่องจักรมีปัญหา จึงสั่งระงับการผลิตทันที...

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2553 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)เปิดเผยว่าได้มีประชาชนย่านสุวินทวงศ์ และบางนา นำนมกล่องยูเอชทียี่ห้อดัง รสจืด ขนาด 180 มล. เข้าร้องเรียน หลังจากซื้อมารับประทานแล้วเปิดออกมากลายเป็นน้ำสีขุ่น ไม่มีกลิ่นนม แต่ภายนอกบรรจุภัณฑ์ไม่มีรอยแกะเปิด จึงได้สั่งเก็บตัวอย่างและตรวจล็อตการผลิตดังกล่าว เพื่อวิเคราะห์ หาโปรตีน ไขมัน เนื้อนม ที่กำหนดไว้ว่า ได้มาตรฐานหรือไม่เบื้องต้น

เจ้าหน้าที่ ออกสุ่มเก็บตัวอย่าง ที่ห้างย่านรามคำแหง และ โรงงานที่ทำการผลิตสินค้าล็อตดังกล่าวแล้ว พบว่าเมื่อตัดกล่องออกและเทออกมากลายเป็นน้ำใสๆ 1 กล่อง ยังไม่ทราบว่าเป็นน้ำอะไร ต้องรอการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก่อน นอกจากนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ อย.ส่วนหนึ่งเข้าตรวจโรงงานผลิตนมกล่องยูเอชที ยี่ห้อดังกล่าวย่านสมุทรปราการ พบว่า มีเครื่องจักรในสายการผลิตล็อตเดียวกับสินค้าที่เป็นปัญหา เกิดการชำรุด จึงได้สั่งให้โรงงานหยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อตรวจสอบ และซ่อมแซม พร้อมทั้งสั่งอายัดสินค้า และให้บริษัทเก็บผลิตภัณฑ์ออกจากร้านค้าชั่วคราวจนกว่าจะตรวจสอบสำเร็จ

ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่ถ้าเป็นข้อเท็จจริงผู้ร้องเรียนสามารถร้องเรียนได้ที่ อย. ซึ่งอย.จะช่วยดูให้ แต่ต้องเป็นข้อเท็จจริง ส่วนแนวทางการดูแลด้านคุณภาพ เนื่องจากนมเป็นอาหาร กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ในการที่จะดูแลให้เป็นไปตามพรบ.อาหาร ให้อย.รับเรื่องไปตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยนมโรงเรียน ได้มอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดช่วยตรวจสอบปีละ 2 ครั้ง หากพบมีปัญหาให้แจ้งบริษัทผู้ผลิตรับทราบและปรับปรุงแก้ไข หากถึงขั้นด้อยคุณภาพ ผิดกฎหมายต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ขณะเดียวกันให้องค์กรปกครองท้องถิ่นที่จัดซื้อ พิจารณาว่าควรซื้อต่อไปอีกหรือไม่

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ปัญหานมไม่มีคุณภาพ ในช่วงหลัง ๆ มีการตรวจพบไม่มากนัก ความจริงเรื่องนมโรงเรียนมีผู้เกี่ยวข้อง 3 ส่วน 1. ฝ่ายจัดซื้อ คือองค์การปกครองท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ 2. ผู้ตรวจรับคือโรงเรียน 3. กระทรวงสาธารณสุขจะเข้าไปช่วยตรวจสอบคุณภาพ ขณะนี้ ได้มีการอบรมครูในโรงเรียนก่อนตรวจรับนมขอให้ตรวจสอบคุณภาพเบื้องต้นก่อน เพื่อดูด้านกายภาพของนมว่า เสียหรือไม่ บูดหรือไม่ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนการตรวจคุณภาพเชิงลึกว่ามีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนหรือไม่ ต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

No comments: