แฟชั่นเผาเริงเมือง กรมสุขภาพจิตชี้โจ๋เครียดเพ่ิมขึ้นเพราะม็อบป่วน ด้าน "อาจารย์แม่" ย้ำนักเรียน ม.5 เครียดจนต้องเผาห้องสมุดราบ เพราะครูไทยห่วยแตก ด้าน "ประธานสภาเด็กและเยาวชน จ.อุดรธานี" หวั่นเด็กเทพมองเด็ก ตจว.รุนแรง แนะทำลายความแตกต่างด้วยการแลกเปลี่ยนนักเรียนกัน...
เป็นเรื่องถกเถียงกันเป็นวงกว้างอีกครั้ง ภายหลังเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ถูกระบุว่าเครียดจากโดนครูกดดันเพราะสอบได้คะแนนต่ำลงจากเดิม อีกทั้งยังอ้างว่าถูกเด็กนักเรียนในกรุงเทพฯ ดูถูกว่าเป็นนักเรียนต่างจังหวัด จนตัดสินใจนำน้ำมันราดเผาห้องสมุดชั้นล่างของอาคาร 2 จนวอดเสียหายมากมายเกือบ 200 ล้าน โดยอ้างว่าเลียนแบบพฤติกรรมการเผาของผู้ใหญ่
รศ.สุนีย์ สินธุเดชะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต หรือ อาจารย์แม่ กล่าวกับไทยรัฐ ออนไลน์ถึงประเด็นนี้ว่า ปัญหาหลักที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ทั้งหมดคนที่เป็นต้นเหตุ เป็นคนที่น่าจะโดนสังคมตบมากกว่านักเรียนก็คือคนที่ได้ชื่อว่าเป็นครูคน
"ทุกวันนี้ภาพที่น่าเวทนาก็คือ ภาพของเด็กๆ หิ้วหนังสือไปโรงเรียนมากมายจนหลังแอ่น ดิฉันเคยเข้าไปถามว่า ทำไมถึงต้องแบกหนังสือมามากขนาดนี้ เขาบอกว่าเพราะว่าไม่รู้ว่าวันนี้ครูจะสอนอะไรบ้าง ซึ่งต้องยอมรับว่าคุณครูมีปัญหามากในการสอน เช่นไม่ทำตารางสอน เมื่อไม่เตรียมก็ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะสอนอะไร ทุกวันนี้ดิฉันมองว่าทุกคนมองเห็นปัญหา แต่ไม่ยอมแก้ไข ปัญหาหลักอีกประการหนึ่ง วันนี้คนรุ่นใหม่กำลังตกอยู่ใน "ลัทธิเอาอย่าง" ซึ่งรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงบอกว่า "การเอาอย่างเขาจนไม่รู้จักคิด เขาก็จะเอ็นดูเราเหมือนลูกหมา" เหมือนพวกเด็กมหาวิทยาลัยที่แต่งตัวเลียนแบบเกาหลี เราก็เลยแซวไปว่า "พ่อมึงเป็นคนเกาหลีหรอ" อย่าว่าแต่เด็กอายุ 15-17 ปีไม่มีความคิด อายุ 25 ปีหลายคนก็ยังคิดอะไรดีๆ ไม่ได้"
อธิการมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต แนะนำวิธีแก้ไขว่า ให้เริ่มต้นย้อนไปดูการศึกษาขั้นพื้นฐานว่า ในแต่ระดับชั้นจะเอายังไง แล้วเด็กเรียนจบไปแล้วเขาจะทำงานอะไร เอาให้ชัดๆ
"อยากให้ย้อนไปดูหลักสูตรสมัยก่อนที่เรียกกันว่า ม.8 เขาเรียกกันว่านักเรียนชั้นบริบูรณ์ คำว่าบริบูรณ์คือ ม.8 คือทำงานได้แล้ว เดี๋ยวนี้ ม.6 ก็น่าห่วงจริงๆ ม.1 ก็ยังมีนักเรียนบางคนอ่านหนังสือไม่ออก ที่มีนักเรียนจับฉลากเข้า ต้องไปเอาพวกครูประถมมาสอนเด็ก ม.ต้น ตอนนี้ไม่ต้องปฏิรูปอะไรแบบที่พูดมาตลอดหรอก มาคุยเรื่องการศึกษากันดีกว่า ทำใจให้กว้างเรื่องการยอมรับดีกว่า เราอยู่ในสังคมทุเรศ อับเฉาแล้วก็กำลังถอยหลังไปสู่ความเขลา พอเขลามากๆ ก็ไม่มีปัญญา ขอฝากว่าการวางพื้นฐานลูกหลานให้แน่วแน่วางพื้นฐานการเรียนกันใหม่ ครูก็ใช้จิตวิญญาณในการสอน ไม่ใช่สอนไปวันๆ"
ส่วนนายพิทักษ์ พลีขันธ์ ประธานสภาเด็กและเยาวชน จ.อุดรธานี แสดงความเป็นห่วงกรณีนี้ว่า อาจจะทำให้คนกรุงเทพฯ มองเด็กที่มาจากต่างจังหวัดไม่ดี ชอบใช้ความรุนแรงแม้ว่าจะมีคนออกมายอมรับ
"ปัญหาการดูถูกระหว่างเด็กนักเรียนที่เรียนอยู่ที่กรุงเทพฯ กับเด็กนักเรียนที่ดูถูกเด็กต่างจังหวัดกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว จากการที่เราคลุกคลีกับเด็กจากต่างจังหวัด พวกเขาก็เข้าใจความแตกต่าง และก็เจียมตัว เมื่อต้องย้ายไปเรียนในกรุงเทพฯ เพราะทั้งค่านิยมเริ่ดหรูหรา สิ่งแวดล้อม กระทั่งวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ เมืองที่มีแต่ความเจริญทางวัตถุ มันแตกต่างจากต่างจังหวัดแทบทุกอย่างกับโรงเรียนที่เราอยู่ ดังนั้นจึงอยากจะเสนอผู้ที่ดูแลทางด้านการศึกษา ให้จัดหลักสูตรแลกเปลี่ยนนักเรียนต่างจังหวัดกับเด็กกรุงเทพฯ ให้แลกเปลี่ยนไปเรียนในภูมิลำเนานั้นๆ เช่นคนที่เรียนอยู่ กทม.ให้มาลงวิชาเรียนที่เชียงใหม่ดูบ้าง เพื่อจะได้เข้าใจความแตกต่าง และวิถีชีวิตของแต่ละจังหวัด จะได้ลดความแตกต่างความแตกแยกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน"
ขณะที่นายดนัย จันทร์เจ้าฉาย นักคิดนักเขียนและยังเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสมาธิ กล่าวว่า ข่าวนี้เป็นการสะท้อนถึงปัญหาแรงกดดันจากสังคมอย่างหนึ่ง การที่จะต้องเรียนเก่งเพราะว่าสังคมทำให้เกิดการแข่งขันเปรียบเทียบแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแล้ว จริงๆ มันสะท้อนไปถึงภาพใหญ่ของสังคมไทยซึ่งวันนี้เราก็เป็นสังคมที่มีการเปรียบเทียบและการแข่งขันสูง แถมยังแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอีก โดยเฉพาะตัวเด็กเองก็บอกว่าเลียนแบบการเผาโรงเรียนมาจากผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก
"กรณีนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะเยาวชนโดยธรรมชาติแล้ว จะเป็นเหมือนผ้าขาว มันขึ้นอยู่กับว่าผู้ใหญ่จะเอาอะไรไปแต้มให้เป็นอย่างไรก็ได้ในหัวใจเด็ก ประเด็นสำคัญผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของคนทุกคนในสังคมเราที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ อีกทั้งเราจะเห็นได้ว่ากรณีน้องคนนี้สะท้อนว่าการศึกษาเราเน้นที่ฐานความคิดมากเกินไป การจะพัฒนามนุษย์นั้นต้องมี 3 ฐาน โดยมี ฐานกาย ฐานใจ และฐานความคิด ฐานที่จะทำให้เราเกิดความแตกแยกก็คือความคิด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยสอนเรื่องนี้ว่า อันดับแรกจะต้องมีสัมมาทิฐิ คือความเห็นชอบความเห็นถูก การจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีความแข็งแกร่งของฐานกายและฐานใจ"
วิธีแก้ไขชุดความคิดที่ว่าต้องเรียนเก่ง แพ้ไม่เป็น ซึ่งไม่เพียงจะทำร้ายเด็ก วันนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องกลับมาทบทวน และปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง อย่าไปเอาค่านิยมที่ต้องสร้างเด็กที่เก่งจนเกินไป และไปแข่งขันกันในเชิงความคิดอย่างเดียว อาจจะทำให้ชีวิตและสังคมเราบิดเบี้ยวอย่างไม่รู้จักจบสิ้น
ขณะที่ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงขั้นตอนในการตรวจเช็กสภาพจิตของเด็กคนนี้ว่าอยู่ในกระบวนการตรวจสอบพิเศษทางด้านอารมณ์ พฤติกรรมต่างๆ ว่ามีแนวคิดอย่างไร ผิดปกติไหม
"จริงๆ แล้วไม่อยากให้ตกใจเพราะว่าเหตุการณ์แบบนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ส่วนมากปัจจัยที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงและความเสียหายคือ 1.คืออยู่ที่ตัวเด็กเอง เช่น ธรรมชาติของเด็กวัยรุ่นคือใจร้อน ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ค่อยได้ 2.สภาวะกดดันต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเด็ก จะมี 3 ระดับ อันแรกคือครอบครัว ซึ่งชอบสร้างหวังไปกับเด็กให้เรียนตามที่ตัวเองชอบ บางคนก็ทนได้และทนไม่ได้ ต่อมาคือสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การสอน การสอบ การแข่งขัน การปรับตัวกับเพื่อนและสังคมรอบข้าง ซึ่งต้องสรรหาข้อมูลมาว่ามันจะอยู่ในระดับไหนอย่างไร และอันสุดท้ายสังคมใหญ่ เช่น ค่านิยมของเด็กวัยรุ่นไทยที่มีความทะเยอทะยาน ฟุ้งเฟ้อ หรือความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง"
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน พบว่ายิ่งโต ไอคิว-อีคิวของคนไทยก็ยิ่งต่ำลงจากเมื่อ 5-10 ปีที่ผ่านมา ทั้งความฉลาดทางสติปัญญา และทางอารมณ์ต่ำลงเรื่อยๆ จนน่าเป็นห่วง นอกจากนี้ ยังพบว่าคนไทยความเครียดระดับสูงขึ้นร้อยละ 10 ความเครียดระดับปานกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 แล้วก็พบว่าเรื่องอารมณ์รุนแรงของการเมืองพุ่งขึ้นสูงที่สุดในวันที่ 19 พ.ค. 2553 ถึงร้อยละ 31 แม้โดยล่าสุดลดลงเหลือร้อยละ 25
"วิธีแก้ไขสภาวะกดดันทางสังคม ทางที่ดีก็ควรจะอยู่กับครอบครัว ซึ่งพ่อแม่จะต้องมีความใกล้ชิด ห่วงใย ดูแลลูก คอยสังเกตดูพฤติกรรม คนที่จะสังเกตคนได้ต้องมีความใกล้ชิดกันเสียก่อน แล้วจะรู้ว่าลูกเราเปลี่ยนไปหรือไม่ ซึ่งถ้าเขาไว้ใจเรา เขาก็จะเปิดใจคุยกับเราว่ามีปัญหาอะไรบ้าง แล้วจะช่วยทำให้เขาในการปรับตัวได้ เพราะเด็กนั้นเป็นวัยที่กำลังแสวงหาคำตอบกับตัวเอง ซึ่งความใกล้ชิดความห่วงใยและคอยสังเกตพฤติกรรมจะช่วยได้มาก" รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตสรุป.
Tuesday, June 8, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment