Monday, June 21, 2010

โละ7ตำแหน่ง รองอธิบดี สวนบิ๊กแรงงาน

ก.พ.ตบหน้าบิ๊กแรงงาน ชี้ชัดแต่งตั้งข้าราชการไม่เป็นธรรม สั่งโละใหม่หมดทั้ง 7 ตำแหน่ง พร้อมคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ ทั้งนี้ผู้ที่ถูกยกเลิกคำสั่งดังกล่าวทุกตำแหน่งจะต้องกลับไปดำรงตำแหน่ง เดิมก่อนการแต่งตั้ง.....

นางจรวยพร ธรณินทร์ โฆษกคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้เผยแพร่ผลการวินิจฉัยลงว็บไซต์ ก.พ.ค. กรณีนายพานิช จิตร์แจ้ง ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในฐานะผู้ร้องทุกข์และเป็นผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกการแต่งตั้งให้ดำรง ตำแหน่งนักบริหารระดับต้น (รองอธิบดี) ได้ร้องเรียนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการกระทรวงแรงงานตำแหน่งรองอธิบดี 4 กรม จำนวน 7 อัตรา ตามคำสั่งกระทรวงแรงงานที่ 333/2552 เรื่องการย้ายข้าราชการและคำสั่งที่ 334/2552 เรื่องการโอนข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งลงนามโดย นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ รูปแบบและวิธีการของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และขอให้ ก.พ.ค.พิจารณาให้ความเป็นธรรม

การวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ชี้ว่า การคัดเลือกตำแหน่งดังกล่าวซึ่งมีผู้สมัคร 24 คน ด้วยการให้คะแนนประเมินวิสัยทัศน์และการสัมภาษณ์ ปรากฏว่า หัวหน้าส่วนราชการระดับกรม (อธิบดี) หรือผู้แทนกรมที่มีตำแหน่งว่าง 4 คน ในจำนวนนี้หัวหน้าส่วนราชการได้ให้คะแนนในตำแหน่งของกรมอื่นด้วย รวมทั้งกรมที่มีตำแหน่งรองอธิบดีว่างลง 2 ตำแหน่ง ก็ได้เสนอรวม 6 รายชื่อ ก.พ.ค. วินิจฉัยว่า การดำเนินการคัดเลือกรองอธิบดี 4 กรม 7 อัตรา ไม่เป็นไปตามรูปแบบขั้นตอนและวิธีการตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.พ.รวม 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ไม่ ปรากฏหลักฐานว่า คณะกรรมการคัดเลือกได้ประชุมพิจารณาออกประกาศโดยมีการวิเคราะห์งานในตำแหน่ง ที่ว่าง กำหนดความรู้ความสามารถของตำแหน่ง แต่ใช้วิธีประชุมกรรมการเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ หลังจากที่ผู้สมัคร 24 รายได้ยื่นใบสมัครไปแล้ว

2.ตำแหน่งรองอธิบดีทั้ง 4 กรมนั้น หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่มีตำแหน่งว่างเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์ให้คะแนน แต่ปรากฏว่า มีหัวหน้าส่วนราชการ 3 กรมไปช่วยให้คะแนนของกรมอื่นที่มิใช่ตำแหน่งว่างของส่วนราชการของตน ทำให้ลำดับที่ของผู้ได้รับการคัดเลือกแต่ละกรมสลับกัน 3.หลักเกณฑ์ของ ก.พ.ให้เสนอชื่อไม่เกิน 3 ชื่อต่อ 1 ตำแหน่ง แต่ปรากฏว่าตำแหน่งว่าง 2 ตำแหน่ง ได้เสนอชื่อไม่เกิน 6 ชื่อ โดยไม่ได้แยกตำแหน่ง และไม่ระบุเหตุผลของความเหมาะสมของบุคคลในแต่ละตำแหน่งด้วย ดังนั้น ก.พ.ค.จึงได้วินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่งกระทรวงแรงงาน ที่ 333/2552 และ 334/2552 ลงวันที่ 10 พ.ย. 2552 รวมทั้งในดำเนินการคัดเลือกให้ใหม่ให้ถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแต่งตั้งโยกย้ายที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการเล่นพรรคเล่นพวกและเสนอแต่งตั้งข้ามระบบอาวุโสมาแล้ว ซึ่งรายชื่อที่ได้รับการแต่งตั้งและต้องถูกยกเลิกตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ได้แก่ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นายสมชาย วงษ์ทอง รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นายสุภัท กุขุน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน นายสุเมธ มโหสถ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน นายประวิทย์ เคียงผล รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทั้งนี้ผู้ที่ถูกยกเลิกคำสั่งดังกล่าวทุกตำแหน่งจะต้องกลับไปดำรงตำแหน่ง เดิมก่อนการแต่งตั้ง

No comments: