นักวิจัยไบโอเทค ยืนยัน "ว่านจักจั่น" ไม่ใช่ว่าน แต่เป็นตัวอ่อนจักจั่นที่ตายจากการติดเชื้อรา ย้ำไม่ควรนำมาบริโภคทั้งกินสด หรือต้มเพื่อรักษาโรคตามความเชื่อเด็ดขาด อาจทำให้วิงเวียน อาเจียนท้องร่วงรุนแรงได้...
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. นายสายัณห์ สมฤทธิ์ผล นักวิจัยห้องปฏิบัติการราวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงข่าวที่มีชาวบ้านจำนวนมากออกมาขุดหาว่านจักจั่น ในบริเวณป่าช้าวัดบ้านฆ้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เนื่องจากเชื่อว่าเป็นเครื่องรางของขลังที่ช่วยให้มีโชคลาภว่า ว่านจักจั่นที่ชาวบ้านพยายามขุดนั้น เป็นจักจั่นที่ตายจากการติดเชื้อรา คาดว่าเป็นตัวอ่อนในช่วงที่กำลังจะขึ้นมาลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยบนพื้นดิน
นักวิจัยไบโอเทค กล่าวว่า ในระยะลอกคราบ ร่างกายจักจั่นจะอ่อนแอ เมื่อเจอกับฝนตกและอากาศที่ชื้น จึงมีโอกาสติดเชื้อราจากแมลงที่มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติได้ง่าย กลายเป็นโรคและตายในที่สุด หลังจากที่จักจั่นระยะตัวอ่อนเสียชีวิต เชื้อราจะแทงเส้นใยเข้าไปเจริญในตัวจักจั่นเพื่อดูดน้ำเลี้ยงเป็นอาหาร และเจริญเติบโตเป็นโครงสร้างสืบพันธุ์ที่มีลักษณะคล้ายเขาบริเวณหัว มีหน้าที่ในการสร้างสปอร์เพื่อแพร่พันธุ์เชื้อรา จึงทำให้ดูเหมือนว่าจักจั่นมีเขา มีแขน มีขา โดยเราเรียกลักษณะที่เกิดขึ้นนี้ว่า ราแมลง
ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างจักจั่นที่มีการขุดค้นพบในช่วงเดือน มิ.ย.ปี 2552 มาตรวจสอบ ในเบื้องต้นพบว่า เป็นราที่อยู่ในสกุล คอร์ไดเซพ (Cordyceps sp.) ส่วนจะเป็นชนิดใดนั้น ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบทางพันธุกรรม การนำว่านจักจั่น หรือราแมลงมาเก็บไว้กับตัว หากดูแลรักษาไว้ไม่ดีก็อาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากราบนตัวจักจั่นที่ขุดขึ้นมาอาจยังมีชีวิตอยู่และสร้างสปอร์ได้ และแม้ว่าจะนำมาทำความสะอาด หรือใส่กรอบเหมือนกรอบพระ ก็อาจจะยังมีราหลงเหลืออยู่ เพราะว่าราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมาก อีกทั้งในช่วงนี้เป็นฤดูฝน อากาศมีความชื้นสูง หากเก็บรักษาไม่ดี จะทำให้มีเชื้อราชนิดอื่นๆ มาเจริญเติบโตซ้ำได้อีกหากเป็นเชื้อราที่ก่อโรคในคนแล้วก็จะยิ่งเป็นอันตรายอย่างมาก
นักวิจัยไบโอเทค กล่าวด้วยว่า ข้อควรระวังที่สำคัญ คือ ห้ามนำมารับประทานโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะกินสด หรือนำมาต้มน้ำดื่ม ตามความเชื่อที่ว่าช่วยรักษาโรคได้ เพราะแม้จะยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่แน่ชัดว่ามีพิษหรือไม่ แต่เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2552 ได้มีรายงานพบว่า มีชาวบ้าน จ.ร้อยเอ็ดนำว่านจักจั่นมาต้มน้ำรับประทาน ส่งผลให้เกิดอาการเวียนศีรษะ อาเจียน และท้องร่วงอย่างรุนแรง จนต้องนำส่งโรงพยาบาล อย่างไรก็ดี ราแมลงไม่ได้พบแค่เฉพาะจักจั่นเท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ในแมลงทั่วไป เช่น หนอน ด้วง แมลงวัน มวน เพลี้ย ผีเสื้อ ปลวก แมงปอ และแมงมุม เป็นต้น ซึ่งชนิดของราที่พบก็จะแตกต่างกันไป จึงถือเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งมหัศจรรย์หรือสิ่งแปลกประหลาด จึงอยากเตือนประชาชนให้ใช้วิจารณญาณ อย่าตกเป็นเหยื่อจากความเชื่อในครั้งนี้.
Thursday, July 1, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment