วัยโจ๋ริเปิดโต๊ะรับแทงบอลเอง ยอมแม้ผิดกฎหมายหวังหาเงินเล่นพนัน พบเด็กต่ำกว่า 18 ปี ส่ง SMS ทายผลชิงโชค “นักกฎหมายด้านเด็ก” ชี้พรบ.การพนัน ระบุชัด ห้ามเด็กต่ำกว่า 20 ปีเล่น..
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 1 ก.ค. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน ร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ จัดเสวนา “รู้ทันพนันบอล ตอน สื่อสร้างสรรค์หรือชวนพนัน” โดยนายธนากร คมกฤส ผู้ประสานงานเครือข่ายหยุดพนัน กล่าวว่า จากการที่เครือข่ายฯ ทำการสำรวจ “การนำเสนอข่าวการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010” ระหว่างวันที่ 26-29 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในหนังสือพิมพ์ประเภทกีฬา จำนวน 7 ฉบับ พบว่า 47% มีการวิเคราะห์ วิจารณ์ทีมฟุตบอล รวมไปถึงเทคนิคการเล่นของแต่ละทีม เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชน ทำให้เกิดความสนใจในการเล่นฟุตบอล
ที่น่าเป็นห่วงคือ 41% มีการระบุอัตราต่อรอง การบอกแต้มต่อของการแข่งขันฟุตบอลคู่นั้น ซึ่งลักษณะนี้จะเข้าข่ายการให้ข้อมูลสำหรับการเล่นพนันบอลโดยตรง ส่วนอีก 12% เป็นการฟันธง วิเคราะห์ทำนายผลแพ้-ชนะในแต่ละคู่ โดยมีการวิเคราะห์ออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ รวมทั้งผลต่างการยิงประตู ซึ่งอาจเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจนำไปใช้ในการเล่นพนันได้ นอกจากนี้ ในผลสำรวจของหนังสือพิมพ์ทั่วไป จำนวน 6 ฉบับ ยังชี้ให้เห็นว่า 81% นำเสนอเนื้อหาวิเคราะห์ วิจารณ์ 14% ฟันธงผลแพ้-ชนะ และ 5% ระบุอัตราต่อรอง
“หากมองภาพรวมของการนำเสนอข่าวสารของสื่อ ทำให้เห็นชัดว่าเกิดการบรรยากาศเชิญชวนให้พนัน หรือเสี่ยงโชค เพราะสื่อส่วนใหญ่ค่อนข้างเสนอข่าวสารในทำนองให้ความสำคัญกับ ผลแพ้-ชนะ มากกว่าให้ความสำคัญกับบทเรียน นอกจากนี้ สื่อที่ส่งเสริมการขายโดยการใช้วิธี เสี่ยงโชค ด้วยคำพูดว่า ร่วมสนุกหรือร่วมลุ้นโชค ซึ่งถือว่าเข้าขายการเล่นพนันทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นการเล่นพนันที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ไม่มีการพูดหรืออธิบายถึงขอบเขต อายุ ของผู้ที่เหมาะสมที่สามารถร่วมทายผลฟุตบอลชิงของรางวัลได้ ทำให้เด็กจำนวนมากถูกดึงเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้เรื่องการเล่นพนันโดย ไม่รู้ตัว ดังนั้นควรจะมีการกำหนดให้ชัดเจนถึงอายุของผู้มีสิทธิ์ร่วมกิจกรรมเสี่ยงโชค ของธุรกิจต่างๆ” นายธนากร กล่าว
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม นักกฎหมายมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากรูปแบบของการพนันแล้ว พบว่าเด็กและเยาวชนตกอยู่ใน 3 สถานะ ได้แก่ 1. เป็นผู้เล่นทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะหากดูจากข้อมูลในช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร ปี 2551 จะพบว่า เด็กอายุต่ำสุดที่เล่นการพนัน คือ อายุ 7 ปี 2. เป็นผู้เกี่ยวข้องกับการพนัน เริ่มตั้งแต่คนเดินโพย คนชักจูง เป็นนายหน้าให้มีการเล่นการพนัน รวมถึงการเดิมพันด้วยแฟนหรือคนรัก และที่เลวร้ายคือ ยอมทำผิดกฎหมายด้วย การขายยาเสพติดหรือการค้าประเวณี เพื่อนำเงินมาเล่นพนันบอล และ 3. เป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน เน้นไปที่การเยียวยามากกว่าการลงโทษ ทำให้เด็กและเยาวชนถูกใช้หรือเป็นผู้กระทำความผิดเอง
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า สำหรับ พ.ร.บ.ที่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเล่นพนัน คือ พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 7 (3) ระบุชัดว่า ห้ามเด็กต่ำกว่า 20 ปี เล่นการพนันในลักษณะการจับสลากชิงรางวัล ยกเว้นการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล และคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย ที่เคยพิจารณาว่า การส่ง SMS ชิงรางวัล ถือผิดกฎหมาย ตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.การพนันอย่างไรก็ตามคงต้องดูว่า SMS นี้ ได้มีการขออนุญาติหรือไม่ และประเด็นดังกล่าวอยากให้กฤษฏีกา ตีความออกมาให้ชัดเจน นอกจากนี้ ในส่วนของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ยังระบุชัดเจนว่า ไม่ให้ผู้ใดพาเด็กเข้าไปเกี่ยวข้องกับการพนันไม่ว่าจะเป็นการยินยอมหรือไม่ หากฝ่าฝืน ถือว่ามีโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“จากสภาพการเล่นพนันบอลทำให้เกิดความเสียหายต่อเด็กเยาวชนทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ การพัฒนาสติปัญญา อารมณ์ อย่างมาก ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีมาตรการในการปราบปรามเจ้ามือหรือโต๊ะพนันบอลอย่างจริงจัง รวมถึงการรณรงค์ และการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในส่วนของครอบครัว โรงเรียนในฐานะใกล้ชิดเด็กและเยาวชนต้องเพิ่มมาตรการในการดูแลเด็ก และเยาวชน ให้เวลา ให้ความรู้ ชี้ให้เห็นถึงภัยของการเล่นพนันฟุตบอล และผลที่จะตามมา ในขณะเดียวกันต้องดูแลเด็ก และเยาวชนอย่างใกล้ชิด เช่น สอบถามถึงการใช้จ่ายเงิน การคบเพื่อน” นายณัฐวุฒิ กล่าว
ด้านนายชาญชัย วิกรวงษ์วณิช เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า สำหรับสื่อโทรทัศน์และสื่อวิทยุส่วนใหญ่จะพบการนำเสนอข่าวในลักษณะวิเคราะห์ วิจารณ์ ให้ข้อมูลของทีมฟุตบอลและนักบอลเป็นส่วนใหญ่ โดยจะมีข้อมูลเชิงฟันธงแฝงมาอยู่บ้าง ซึ่งผู้สื่อข่าวอาจจะคิดว่าเป็นการสร้างสีสันให้กับการติดตามข่าว แต่อยากให้ระมัดระวังในแง่ของเด็กและเยาวชนที่ติดตามชมด้วย เพราะที่เห็นอยู่ตลอดทุกครั้งที่มีการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกคือการให้ ส่ง SMS เชียร์ทีมที่ชอบ เพื่อลุ้นรับรางวัล ซึ่งการกระทำลักษณะนี้นอกจากจะไม่เป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนหันมาให้ความสนใจกับการเล่นกีฬาแล้วยังเป็นการเชียร์ให้เด็กเริ่มหัดเล่นการพนันเพื่อหวังรางวัล และรายการยังแสดงให้เห็นว่ามีผู้ โชคดีได้รับรางวัล แต่กลับไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้จริงหรือหลอกลวง ที่สำคัญทางรายการได้รับอนุญาตถูกต้องแล้วหรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาตรวจสอบด้วย.
Monday, July 5, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment