Thursday, July 15, 2010

แฉไทยติดยาบ้า อันดับ1โลก เด็กสุดอายุ12ปี

แฉไทยติดยาบ้า อันดับ1โลก เด็กสุดอายุ12ปี

ผลสำรวจระบุไทยติดยาบ้าอันดับ 1 ของโลก โดยวัยรุ่นฮิตยาไอซ์ สถาบันธัญญารักษ์ พบเด็กอายุ 12 ปีมาบำบัดยาเสพติด เผยปี 53 ยอด "ขี้ยา" พุ่งพรวดแค่ครึ่งปีพบแล้ว 100,000 ราย จับมือ ม.เย. สหรัฐฯ วิจัยความสัมพันธ์ยีน...

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2553 ที่ฮอลล์ 9 อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติ ครั้งที่ 11 เรื่อง "รู้ลึก รู้จริง รู้ทันยาเสพติด : Update in Addiction" พร้อมมอบรางวัลธัญญารักษ์อวอร์ด ประจำปี 2553 ซึ่งจัดโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย พล.อ.พิจิตร กล่าวว่า การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ถือเป็นเรื่องน่ายกย่อง เพราะนอกจากช่วยเหลือผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นการช่วยประเทศชาติ จึงขอให้เจ้าหน้าที่ที่บำบัดรักษาผู้ที่ติดยา ขอให้มีความตั้งใจ มีความมานะในการฟื้นฟูทำให้ผู้ที่ติดยากลับเป็นคนดีอีกครั้ง เปรียบได้กับความเพียรของพระมหาชนกที่ว่ายน้ำแม้ไม่เห็นฝั่ง แต่ก็มีความพยายาม

ด้าน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์การติดยาเสพติดในประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้น จากปี 2552 พบผู้ติดยาเสพติดที่เข้ารับการบำบัด ประมาณ 120,000 ราย แต่ระยะเวลาไม่ถึง 8 เดือนของปี 2553 กลับพบสูงถึง 100,000 ราย โดยพบว่าร้อยละ 32 เป็นเด็กอายุตั้งแต่ 15-19 ปี ทั้งนี้ พบว่าในกลุ่มผู้ติดยาเสพติดที่มีอายุต่ำที่สุดที่เข้ารับการบำบัดในสถาบันธัญญารักษ์ คืออายุ 12 ปี โดยส่วนใหญ่ติดยาเสพติดประเภทยาบ้า กัญชา และ ยาไอซ์

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมากลุ่มวัยรุ่นเริ่มติดยาเสพติดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยาไอซ์ ซึ่งมีส่วนผสมของแอมเฟตามีน (Amphetamine) ที่มีความบริสุทธิ์มากกว่ายาบ้า สำหรับการประชุมวิชาการครั้งนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจคือการหารือในเรื่องการศึกษาวิจัยความสัมพันธ์ระหว่าง การติดยาเสพติดและยีนในร่างกายมนุษย์ เพื่อศึกษาว่าการติดยาเสพติดมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางพันธุกรรมหรือไม่ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) สถาบันธัญญารักษ์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหาความสัมพันธ์ดังกล่าว โดยศึกษาวิจัยในประเทศต่างๆ ทั้งประเทศในแถบอาเซียน สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย โดยจะมีการวิจัยถึงสารเสพติดในแต่ละกลุ่มประเทศที่มีการใช้มากที่สุด ซึ่งจะง่ายต่อการศึกษาวิจัยสารเสพติดประเภทนั้นๆ

ซึ่งประเทศไทยได้รับการเลือกในการศึกษาครั้งนี้ เนื่องจากพบว่า ประเทศไทยมีตัวเลขผู้ติดยาเสพติดประเภทยาบ้า มากเป็นอันดับ 1 ของโลก จากเดิมการสำรวจอัตราการติดยาเสพติดในประเทศไทยเมื่อปี 2536 พบว่า คนไทยติดยาเสพติดประเภทกัญชา เฮโรอีน สูงสุด รองลงมาคือ ยาบ้า แต่หลังจากปี 2539 จนถึงปัจจุบันมีอัตราการเสพยาบ้าในประเทศไทยสูงขึ้นจนมากที่สุดในโลก ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย และเวียดนาม มีการติดยาเสพติดประเภทเฮโรอีน สหรัฐอเมริกา พบมีการติดโคเคนสูงสุด

รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า ขั้นตอนการวิจัยดังกล่าวในประเทศไทยจะทำการสำรวจกลุ่มวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-19 ปี รวมกว่า 500 คน ในภาคกลาง และภาคเหนือ ที่มีความสมัครใจจะให้ทำการวิจัย โดยขณะนี้ใช้เวลาในการวิจัยมาเข้าปีที่ 3 แล้ว และการวิจัยกำลังเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 จากขั้นตอนในการวิจัยทั้งหมด 3 ขั้นตอน ซึ่งหากการวิจัยประสบความสำเร็จจะมีส่วนช่วยในการเฝ้าระวังการระบาดของยาเสพ ติดได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเมื่อทราบประวัติของผู้ที่ติดยาเสพติดแล้ว ก็จะต้องมีการเจาะเลือดสำรวจคนในเครือญาติ ครอบครัวของผู้ที่ติดยาเสพติดว่ามียีนชนิดเดียวกันหรือไม่ เพื่อหาทางป้องกันต่อไป.

No comments: