อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ ยังไม่การพิสูจน์หลักฐานที่แท้จริงว่าหมูยอที่ห่อด้วยพลาสติกปนเปื้อนสาร Clostridium botulinum แนะผู้บริโภคเลือกซื้อหมูยอที่ผลิตใหม่ มีการระบุวันผลิตและวันหมดอายุที่ชัดเจน และควรปรุงให้สุกเพื่อความปลอดภัยในการรับประทาน...
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ "ไทยรัฐออนไลน์" ถึงกรณีที่นพ.สมชาย ตั้งสุภาชัย ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 (สคร.5) จ.นครราชสีมา ออกมาเตือนภัยผู้บริโภคที่จะรับประทานหมูยอดิบ อันตรายอาจถึงแก่ชีวิตได้ หากพบว่ามีสาร Clostridium botulinum ปนเปื้อนอยู่ ว่า โดยปกติแล้วหมูยอไม่น่าจะมีโอกาสที่จะเกิดเชื้อดังกล่าวได้ง่ายๆ หากสันนิษฐานในหลายๆ ส่วนจะพบเห็นชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์หมูยอในรุ่นหลังๆ จะถูกบรรจุด้วยพลาสติก ซึ่งหากห่อแน่นจนกระทั่งอากาศไม่สามารถเข้าไปได้ และหากว่าวัตถุดิบที่นำมาผลิตนั้นเกิดการปนเปื้อน ก็อาจส่งผลให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ แต่สาเหตุดังกล่าวนี้มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดขึ้นได้ มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดการปนเปื้อนได้ในกระบวนการปรุงอาหารก็เป็นได้ ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงที่ส่งผลอันตรายนั้นยังไม่สามารถสรุปออกมาเป็นที่ชัดเจน
นพ.มานิต กล่าวต่อว่า วิธีการป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงสารปนเปื้อนนั้น แนะนำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อหมูยอที่ผลิตใหม่ มีการระบุวันผลิตและวันหมดอายุบนหีบห่อผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจนเห็นได้ชัด เพราะถ้าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เก็บไว้นานเกินไปและมีสาร Clostridium botulinum ปนเปื้อนอยู่ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ ส่วนที่มองว่าการหันมาใช้พลาสติกห่อหมูยอแทนใบตอง ก่อให้เกิดอันตราย กรณีนี้ยังไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ความจริงว่าก่อให้เกิดอันตรายจริง เพราะหมูยอบางแห่งก็ไม่ได้บรรจุหีบห่อแน่น ยังมีอากาศเข้าไปได้ ถ้ามีสารอันตรายจริงเมื่อเจอกับอากาศสารเหล่านั้นก็จะตายไปเอง
"ดังนั้นเวลาที่จะรับประทานก็ขอให้ผู้บริโภคปรุงให้สุกและเดือดก่อนที่จะนำมารับประทาน เพื่อความปลอดภัย ขอฝากไปยังผู้ประกอบการและผู้ผลิตหมูยอทั่วไปด้วยว่าควรเน้นและระมัดระวังในเรื่องของความสะอาดเพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องการันตีว่าสินค้าของท่านมีคุณภาพและความปลอดภัยแก่ร่างกาย" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว.
Thursday, July 1, 2010
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment