Monday, February 2, 2009

ประชาพิจารณ์การศึกษาฟรี 15 ปีคึกคัก

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 30 ม.ค. ที่โรงเรียนสตรีวิทยา นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการรับฟังความคิดเห็นแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาล โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผู้บริหารและตัวแทนหน่วยงานกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ผู้ปกครองนักเรียน นักเรียน ครู อาจารย์ นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 300 คนเข้าร่วม โดยนายจุรินทร์กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2552 เพื่อใช้จ่ายเป็นเงินอุดหนุนรายหัว ตามโครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี ตั้งแต่อนุบาล-ม.ปลาย ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ จำนวน 18,257,975,200 บาท โดยจะให้ฟรีใน 5 หมวด คือ ค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพ ซึ่ง ศธ.จะไม่เป็นผู้จัดซื้อเอง แต่จะใช้วิธีการใดต้องมีการประชาพิจารณ์ถามความคิดเห็น เพื่อไปสู่เป้าหมายการประหยัดงบฯ และโปร่งใสให้มากที่สุด และมีปัญหาในทางปฏิบัติตามมาให้น้อยที่สุด เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นที่แน่นอนว่าจะทำอะไรต้องมีปัญหาตามมา ดังนั้น เราต้องหาวิธีที่ดีที่สุด เพราะถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ปลัด ศธ. กล่าวว่า ในการดำเนินโครงการนั้น จะมีการสนับสนุนโดยอุดหนุนรายหัวให้นักเรียนอนุบาล 3 ขวบ และปรับเพิ่มอุดหนุนรายหัวอีกร้อยละ 10 ในโรงเรียนเอกชน เพื่อลดภาระการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนจากผู้ปกครองของนักเรียน จัดหาหนังสือให้นักเรียนยืมเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ จัดหาอุปกรณ์การเรียน อาทิ สมุด ดินสอ ปากกา ไม้บรรทัด ให้นักเรียนมีใช้อย่างเพียงพอตลอดภาคเรียน จัดหาเครื่องแบบนักเรียนคนละ 2 ชุดต่อปี และสนับสนุนให้มีกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน รวมทั้งจะเปิดให้ผู้ปกครองที่มีฐานะดี สละสิทธิ์การขอรับบริการได้ โดยอาจจะประกาศชื่อแสดงความขอบคุณนักเรียน หรือโรงเรียนที่สละสิทธิ์การรับบริการ เพื่อที่จะนำส่วนที่เหลือไปสนับสนุนเพิ่มเติมให้แก่ผู้ด้อยโอกาสต่อไป

ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนเห็นว่าควรแจกคูปองการศึกษาให้นักเรียน ผู้ปกครองใช้สิทธิ์ซื้อชุดนักเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน ค่ากิจกรรมพิเศษ จะดีกว่าการจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียน ซึ่งในส่วนของหนังสือเรียนที่ ศธ.จะแจกครบทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้นั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะบางสาระวิชาไม่ได้ จัดการเรียนการสอนในห้องเรียน เช่น ศิลปวัฒนธรรม และดนตรี เพราะจะกลายเป็นการดึงเด็กไว้ในห้องเรียนมากขึ้น ส่วนเรื่องชุดนักเรียนควรยึดมาตรฐาน มอก. เป็นหลัก และขยายรายได้ไปสู่กลุ่มแม่บ้าน และกลุ่มเอสเอ็มแอล

ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีต รมช.ศธ. กล่าวว่า การจัด 5 รายการฟรีให้กับนักเรียน ไม่ควรจะฟรีเท่ากัน อย่างพ่อแม่ที่มีฐานะคงไม่จำเป็นต้องแจกชุดนักเรียน สำหรับแนวคิดการแจกคูปองนั้น ห่วงว่าจะมีคูปองมืด

นายจุรินทร์กล่าวหลังรับฟังความเห็นว่า ที่ประชุมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง จึงมอบให้ สพฐ. รวบรวมความคิดเห็นเสนอที่ประชุมผู้บริหาร ศธ. ยืนยันจะดำเนินการทันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 แน่นอน.

1 comment:

Anonymous said...

ขอบคุณมากนะครับสำหรับบทความ