Friday, January 9, 2009

ชี้ไม่ใช่เรื่องง่ายตั้ง กศน.เป็นองค์กรหลัก

ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ นักวิชาการด้านการศึกษา อดีตประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) กล่าวถึงกรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายที่จะยกระดับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตาม อัธยาศัย (กศน.) เป็นองค์กรหลักที่ 6 ใน ศธ. ว่า เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ต้องการสร้างเอกภาพทางการศึกษา โดยแบ่งความรับผิดชอบของกลุ่มการศึกษาให้ชัดเจนเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอุดมศึกษา และมาเพิ่มการอาชีวศึกษาตอนหลัง โดยให้สำนักงาน กศน.เป็นส่วนหนึ่งของสำนักงาน ปลัด ศธ. แต่หากวันนี้รัฐบาลจะยกสำนักงาน กศน.ขึ้นเป็นองค์กรหลัก ก็จะมีคำถามตามมาว่า งาน กศน.จะยังเป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิมหรือไม่ ทำให้ตนเป็นห่วงว่า ศธ.กำลังจะย้อนไปสู่การบริหารแบบกรมอีกหรือ เพราะการศึกษายุคใหม่ จะต้องเน้นที่ผลมากกว่ากระบวนการและขั้นตอน ดังนั้นถ้า ศธ.เน้นกระบวนการขั้นตอนโดยไม่เน้นกระจายอำนาจ ก็จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและสังคม ท้ายสุดเมื่อขยับตัวปรับองค์กรให้ใหญ่ขึ้น มีอำนาจมากขึ้นก็จะไม่เป็นผลดีต่อการศึกษา

“คงต้องหันมาทบทวนกันใหม่ว่า การปฏิรูปการศึกษาจะเน้นคุณภาพของนักเรียนเป็นหลัก หรือ จะเน้นเรื่องอื่นโดยเฉพาะเรื่องของโครงสร้าง อย่างไรก็ตามสำหรับปัญหาความไม่คล่องตัวของ กศน.สามารถแก้ปัญหาโดยการกระจายอำนาจได้ ไม่ใช่การแก้ปัญหาด้วยการตั้งแท่งใหม่ อีกทั้งหากดูจำนวนเสียงของรัฐบาลในขณะนี้ซึ่งก็ไม่ได้เด็ดขาดมากก็คงไม่ใช่ เรื่องง่ายที่จะผลักดันกฎหมายผ่านสภาผู้แทนราษฎร ให้ กศน.เป็นองค์กรหลักที่ 6 ได้” ศ.ดร.ปรัชญากล่าว

ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่นายจุรินทร์ ให้ความสำคัญกับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นสิ่งที่ดี แต่การยกขึ้นเป็นองค์กรหลักเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง และคิดให้รอบคอบ เพราะ 9 ปีที่ผ่านมาของการปฏิรูปการศึกษา เรายังวนเวียนอยู่แต่เรื่องโครงสร้าง หากวันนี้จะมุ่งแต่เรื่องโครงสร้างอีกก็อาจทำให้หลงทางได้.

1 comment:

Anonymous said...

ขอบคุณครับ