Friday, January 16, 2009

ปฏิรูปศึกษารอบ2ปรับเกณฑ์กู้กยศ.เน้นยากจน

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" รมว.ศึกษาเปิดพิมพ์เขียวปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ของรัฐบาล ยกต่อไปเตรียมปรับเกณฑ์กู้ กยศ. เพื่อขยายโอกาสการศึกษาให้เด็กยากจน พร้อมชูธงพัฒนาครู เตรียมเสนอขออัตรารับพนักงานธุรการ 1 หมื่นตำแหน่ง ช่วยรับภาระเรื่องอื่นแทนครู อาจผูกโยงไปร่วมกับนโยบายช่วยคนตกงาน 500,000 คน

นาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ ปฏิรูปการศึกษารอบ 2 : ปฏิรูปอะไร อย่างไร “ โดยมีนักวิชาการ ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เข้าร่วมว่า รัฐบาลนี้ยังคงให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการปฏิรูปการศึกษาซึ่งเริ่มปฏิรูป ตั้งแต่ปี 2542 ในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ แม้การปฏิรูปการศึกษารอบแรกไม่ถือว่าล้มเหลว แต่มีแค่เรื่องการปรับโครงสร้างนั้นที่ทำสำเร็จชัดเจน ส่วนเรื่องอื่น ๆ นั้นยังมีปัญหาอยู่ ส่งผลการจัดการศึกษายังด้อยคุณภาพ ผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเรียนของเด็กออกมาต่ำกว่าเกณฑ์ เด็กบางส่วนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ สะท้อนชัดเจนจากข้อมูลการประเมินคุณภาพสถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งพบว่า มีโรงเรียนขั้นพื้นฐานผ่านเกณฑ์รอบ 2 ร้อยละ 80 ในส่วนของอาชีวศึกษา ยังประเมินไม่ครบทุกแห่ง แต่เบื้องต้นวิทยาลัยอาชีวะที่อยู่ในสังกัดของรัฐบาล ไม่ผ่านเกณฑ์และต้องปรับปรุง 10-16 เปอร์เซ็นต์ วิทยาลัยอาชีวะเอกชน ต้องปรับปรุงถึง 27 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา สมรถนะที่จบออกมาไม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ ผู้เรียนมีอัตราการตกงานและเลิกเรียนกลางคันสูง

นาย จุรินทร์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของรัฐบาลและของตนนั้น หัวใจรสำคัญของการปฏิรูปรอบ 2 เรื่อง คือ พัฒนาคุณภาพและขยายโอกาสทางการศึกษา นโยบายเรียนฟรีอย่างมีคุณภาพ 15 ปีซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ก็คือการขยายโอกาสให้เด็กไทยทุกคนได้เข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกคน รวมทั้ง ตนยังเตรียมปรับเงื่อนไขกองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อเพื่มโอกาสในการกู้เงินให้ผู้ที่ขาดแคลน

“ อาจจะต้องมีการปรับเกณฑ์ของ กยศ. เช่น ให้นักศึกษาปี 2-4 สามารถกู้ได้หากพลาดสิทธิ์จากปี 1 เพื่อแก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน หรือ เด็กที่จบระดับอนุปริญญาก็ควรมีสิทธิ์กู้เพื่อเรียนต่อ นอกจากนั้น กองทุน กยศ. จะต้องเป็นเครื่องมือจูงใจให้เด็กหันมาเรียนในสาขาที่เป็นความต้องการของ ตลาด หากกู้ในสาขานี้อาจได้สิทธิพิเศ่ษ ไม่ใช่ปล่อยให้กู้เงินไปเรียนในสายที่ไม่มีงานทำ เรียนจบก็ตกงาน ไม่มีเงินมาใช้หนี้คืน “ รมว.ศธ. กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องพัฒนาคุณภาพการศึกษานั้น จะเน้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพครูเป็นพิเศษ เพราะถ้าครูมีคุณภาพ การจัดการกเรียนการสอนก็จะมีคุณภาพตามไปด้วย เพราะฉะนั้น ตนจึงมีนโยบายจัดตั้งสถาบันกำหนดมาตรฐานการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการ ศึกษาขึ้นมาควบคุมมาตรฐานการผลิตครูของทุกสถาบัน เป้าหมายก็เพื่อให้ได้คนเก่งมาเป็นครู ส่วนครูเก่าก็ต้องได้รับการอบรมพัฒนาคุณภาพด้วย

“ รัฐบาลจะดูแลด้านขวัญกำลังใจให้ครูด้วย ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินและปัญหาการประเมินเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งจะให้มีการปรับเกณฑ์การประเมินใหม่ จากเน้นที่ผลงานวิชาการมาเป็นเน้นที่ผลสัมฤทธิ์ในการสอน อีกเรื่องหนึ่งที่ผมและรัฐบาลได้ให้ความสำคัญพิเศษ คือ การคืนครูให้นักเรียน ลดภาระอื่นให้ครูได้ทำหน้าที่สอนอย่างเดียวเพราะครูไม่ใช่ซุปเปอร์แมนที่จะ ทำได้ทุกเรื่อง ทั้งงานธุรการ การทำเอกสาร ทำบัญชี ซึ่งผมกำลังคุยกับรัฐบาล ขออัตราบรรจุพนักงานธุรการ มาทำงานธุรการ และกำลังดูว่าจะแก้ปัญหาด้วยการนำโครงการนี้ไปรวมอยู่กับนโยบายอุ้มคนตกงาน 5 แสนคนได้หรือไม่ อาจจะของบประมาณมาจ้างบัณฑิตว่างงานมาทำงานธุรการในโรงเรียนประมาณ 1 หมื่นคน ” นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า นอกจานนั้น นโยบายรัฐบาล ยังเน้นเรื่องการปลูกฝังให้เด็กมีคุณธรรม จริยธรรม และมีจิตสาธารณะด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลเป็นห่วงมาก โดยได้มอบการบ้านให้ทุกหน่วยงานที่มีนักเรียนในสังกัดไปทำการบ้านเรื่องนี้ มา

ด้าน ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ กล่าวในการเสวนาเรื่อง “ ปฏิรูปการศึกษารอบ 2 : ปฏิรูปอะไร อย่างไร “ ว่า ผลการจัดสอนโอเน็ต 3 ครั้งที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า คะแนนสอบไม่ดีขึ้น เฉลี่ยแล้วเด็กยังทำข้อสอบได้แค่ 1 ใน 3 หรือประมาณ 30 คะแนน นั่น หมายความว่า การจัดการเรียนการสอนมีปัญหา ครูสอนนักเรียนปีละ 210 วัน แต่ทำให้เด็กมีความรู้ได้แค่ 1 ใน 3 ซึ่งผลจากตรงนี้ จะส่งต่อไปสู่การเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เห็นได้ชัดจากกรณีที่คณะทางวิทยาศาสตร์ออกมาโวยวายว่า เด็กที่สอบติดเข้ามาเรียนคณะวิทย์นั้นมีความรู้วิชาทางิวทยาศาสตร์ไม่ดีพอ ทำให้เรียนมีปัญหาขณะที่วิทยาศาสตร์ คือ อนาคตของประเทศ

ศ.ดร. อุทุมพร กล่าวต่อว่า ส่วนการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 นั้น มี 2 ประเด็นที่ตนเสนอแนะคือ การปฏิรูปครู และเรื่องการบริหารการเงิน ควรจะมีการจัดสรรเงินโดยตรงไปยังสถานศึกษา ไม่ต้องผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพราะหลายครั้งเงินไปถึงร.ร.ล่าช้าเพราะไปค้างอยู่ที่เขตพื้นที่ นอกจากนั้น จากการที่สทศ. ไปตรวจเบี่ยมร.ร. พบปัญหาเรื่องตำราเรียนด้วย ตำราเรียนหลายวิชาโดยเฉพาะ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา การงานอาชีพและเทคโนโลยี และวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา นั้น ไม่เคยปรับปรุงเนื้อหาให้ทันต่อความรู้ใหม่ ๆ ขณะที่ครูไทย มักสอนตามตำรา เพราะฉะนั้น เมื้อตำราไม่ดี ครูก็จะสอนไม่ดีด้วย

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า น่าจะมีการตั้งสถาบันวิจัยระบบการศึกษาขึ้นมาเหมือนสถาบันวิจัยระบบ สาธารณสุข ปัจจุบันระบบสาธารณสุขของไทยดีกว่าอเมริกา เพราะมีสถาบันดังกล่าวถึงทุกภาคส่วนมาร่วมกับวิจัยและปรับปรุงระบบสาธารณสุข ตอลดเวลา ดังนั้น ระบบการศึกษาควรดึงทุกภาคส่วนมาช่วยกันวิจัยและปรับปรุงระบบเช่นกัน

1 comment:

Anonymous said...

ขอบคุณนะค่ะ