Thursday, June 4, 2009

ปฏิรูปฯรอบเพื่อ"คุณภาพการศึกษา"

คมชัดลึก : แม้โพลล์หลายสำนักฟันธงว่า "คุณจุรินทร์ลักษณ์วิศิษฏ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ "สอบผ่าน" หลังบริหารงานมาได้ 4-5 เดือน แต่สำหรับอดีตนักเขียนการ์ตูนชื่อดังในนาม "อู๊ดด้า" แล้ว เขากลับออกตัวว่าหน้าที่นี้เป็นของประชาชนคนไทย

"ผมไม่อยู่ในฐานะที่จะประเมินตัวเองได้ ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ประเมิน มีหลายเรื่องก้าวหน้า มีหลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จ เรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน นี่เป็นครั้งแรก มีปัญหาบ้าง แต่ทุกอย่างแก้ไขได้ และประชาชนไม่ต้องห่วงกลัวถูกยกเลิกในปีต่อไป ผมยืนยันว่าในปีการศึกษา 2553 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเรียนฟรี 15 ปี เอาไว้แล้ว 3 หมื่นล้านบาท"

ก้าวต่อไปของรัฐมนตรีหนุ่มเมืองพังงา วาดฝันเอาไว้ว่า จะเปิดเกมรุกเดินเครื่องปฏิรูปการศึกษารอบ 2 เต็มสูบหลังจากประเมินแล้วว่าการปฏิรูปการศึกษาครั้งแรกหลัง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้นั้น เป็นเพียงแค่การปรับโครงสร้าง มากกว่ามุ่ง "คุณภาพการศึกษา"

4 มิถุนายน 2552 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) เป็นเจ้าภาพระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อหารูปแบบที่ชัดเจนว่า ก้าวต่อไปของการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 นั้นจะต้องทำอย่างไรบ้าง ถึงจะไปถึงเป้าหมายคือ "คุณภาพการศึกษา" ได้

โมเดลปฏิรูปการศึกษารอบ2 เป้าหมายใหญ่คือ "คุณภาพ" ต้องแปลเป็นแนวปฏิบัติไม่ใช่แค่ความฝัน คุณภาพไล่เรียงมาตั้งแต่ระดับอนุบาล การศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา การอุดมศึกษา การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ทั้งหมดนี้ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร

"การศึกษาขั้นพื้นฐานจะเน้น 8 สาระวิชา แต่ 5 วิชาหลัก คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคมศึกษา เด็กไทยสอบตกหมด ต้องกำจัดจุดอ่อนนี้ให้หมดสิ้น เวลานี้มีแผนมาแล้ว เช่น สังคมศึกษาก็แยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาเรียน 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ภาษาอังกฤษทำมา 3 ปี คะแนนโอเน็ตเพิ่มขึ้นทุกปี เช่นเดียวกับคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และไอที ต้องมีแผนพัฒนา รวมถึงการพัฒนาครู พัฒนาหลักสูตร และพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่ไปด้วย"

เหนืออื่นใดเมื่อเรียนถึงชั้นม.3 เด็กต้องมีทางเลือกมากขึ้น อาจจะเรียนต่อสายสามัญ หรือสายอาชีพที่เด็กถนัด เมื่อเรียนจบแล้วสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของสังคม

"ครูแนะแนวจะมีบทบาทสำคัญมากเมื่อเด็กเรียนถึงชั้นม.3 ผมอยากให้สัดส่วนเด็กเรียนต่อระหว่างสายสามัญกับสายอาชีพเท่าๆ กัน คือ 50 ต่อ 50 ไม่ใช่ 60 ต่อ 40 เช่นทุกวันนี้ ผมสนับสนุนให้เรียนปวช.,ปวส. มากขึ้น เมื่อเด็กเรียนม.6 ครูแนะแนวจะต้องดูแลใส่ใจเด็กว่าแต่ละคนจะพัฒนาศักยภาพด้านไหนได้บ้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการศึกษาแบบคอขวด ที่มุ่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น ปีนี้ผมทำเยอะ เปิดช่องให้กู้เงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ถึง 400 สาขาขาดแคลน เรียนจบแล้วมีงานรองรับจริง"

กระนั้นเวลา 5 วันตามระบบราชการไทย ดูเหมือนว่าไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนภารกิจด้านการศึกษาชาติได้ ดังนั้นแม้วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการมักจะถูกเชิญจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเข้าร่วมประชุม หาทางแก้ไขปัญหาการศึกษารายวันอยู่บ่อยๆ ท่ามกลางกระแสข่าวอาจจะมีการย้ายฟ้าผ่า "5 เสือศธ." คนใดคนหนึ่ง ที่เล่นบทเป็นไอ้เข้ขวางคลอง มากกว่าให้ความร่วมมือ

"ผมมีความสุขที่ได้ทำงานด้านการศึกษา แม้ไม่เห็นผลในระยะสั้น แต่งานการศึกษาเป็นงานสร้างคน สร้างชาติจริงๆ 4 เดือนผมทำงานได้เยอะภายใต้กลไกของระบบราชการที่มีความจำกัด ผมไม่มีความคิดจะย้ายคน ผมคิดแต่ว่าจะบริหารจัดการคนคุณภาพกระทรวงศึกษาฯ ให้ดีที่สุด และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการศึกษาของชาติได้อย่างไร" รมว.ศึกษาธิการ กล่าวทิ้งท้าย

No comments: