คมชัดลึก :วช.เผยงานวิจัย “สัตตศิลา” สร้างนร.คุณลักษณะที่พึงประสงค์ รู้ทันรู้นำโลก เรียนรู้ชำนาญ เชี่ยวชาญปฏิบัติ รวมพลังสร้างสรรค์สังคม และรักษ์วัฒนธรรมไทย ใฝ่สันติ มั่นใจการศึกษาไทยดีขึ้น หากทุกฝ่ายช่วยกัน
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัย “เรื่องกลยุทธ์การขับเคลื่อนนวัตกรรมการเปลี่ยนผ่านการศึกษา “สัตตศิลา สู่โรงเรียน” โดยมี ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ วช. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดย ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ หัวหน้าคณะงานวิจัยฯ กล่าวว่างานวิจัยดังกล่าวใช้เวลา 5 ปีในการดำเนินการจนกระทั่งสำเร็จเป็นองค์ความรู้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาการศึกษา
โดยระยะแรกเป็นการศึกษาสภาพการจัดการศึกษา และพัฒนาแนวคิดหลักการสัตตศิลา ระยะที่ 2 นำแนวคิดนวัตกรรมการปฏิบัติในโรงเรียนแกนนำ 10 แห่งในกรุงเทพฯ อุบลราชธานี พิษณุโลก สงขลา และฉะเชิงเทรา ในโรงเรียนเครือข่ายไม่น้อยกว่า 20 แห่ง ซึ่งผลการดำเนินการ ทำให้เกิดผลผลิตที่เป็นต้นแบบนวัตกรรมการเปลี่ยนผ่าน เรียกว่าสัตตศิลา ซึ่งประกอบด้วย 7 หลักการ คือ 1.คุณลักษณะผู้เรียนที่พึงประสงค์ หรือคุณลักษณะ 4 ร.ได้แก่ รู้ทันรู้นำโลก เรียนรู้ชำนาญ เชี่ยวชาญปฏิบัติ รวมพลังสร้างสรรค์สังคม และรักษ์วัฒนธรรมไทย ใฝ่สันติ
2.การพัฒนาสู่การปฏิบัติที่เป็นเลิศ 3.การบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการ 4.การจัดหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเป็นรายบุคคล 5.การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ 6.การพัฒนาการรู้สารสนเทศ และ 7.บทบาทของผู้เกี่ยวข้องในการสร้างโอกาสการเรียนรู้ ระยะที่ 3 เป็นการพัฒนากลยุทธ์ขับเคลื่อนนวัตกรรมการเปลี่ยนการศึกษา สัตตศิลา สู่โรงเรียน เพื่อนำต้นแบบเผยแพร่ในวงกว้าง ซึ่งการขยายผลนี้ ได้สู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่เป้าหมาย
“จากการนำไปทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่อง พบว่ากระบวนการพัฒนาการศึกษาไทย ต้องปรับกระบวนทัศน์การศึกษา คือ ทำให้ผู้เรียนรู้จักสร้างความรู้ให้เกิดขึ้น ไม่ใช่มาเรียนเพื่อมารับความรู้อย่างเดียว ต้องปรับกระบวนการบริหารจัดการ ตั้งแต่ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง และชุมชน ร่วมมือกันพัฒนาการศึกษา และปรับบทบาทคนที่เกี่ยวข้อง นำกระบวนการคิดไปสู่ปฏิบัติ และวางคุณลักษณะผู้เรียนที่พึงประสงค์ ซึ่งโรงเรียนนำร่องทั้งหมด มีนักเรียนลักษณะพึงประสงค์อย่างที่ต้องการ” ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าว
Wednesday, June 24, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment