Monday, February 22, 2010

แฉโครงการไทยเข้มแข็งจัดซื้อคอมพ์โรงเรียน

แฉโครงการไทยเข้มแข็งจัดซื้อคอมพ์โรงเรียน แสนเครื่องกระทรวงศึกษากว่า 8 พันล้านเข้าข่ายฮั้ว แต่แยบยลแนบเนียนอาศัยช่องว่างของกฎหมายอำพรางพฤติกรรมเปลี่ยนเป็น 'ฮั้วจำแลง'


กฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อและการประมูลมีกำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามมิให้เอกชนผู้เข้าประมูล “ฮั้ว” กัน แต่สำหรับโครงการจัดซื้อจัดจ้างคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน และระบบคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ประจำห้องสมุด รวมถึงซอฟต์แวร์ต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จำนวน 1.7 แสนเครื่อง ด้วยงบประมาณ 7,900 ล้านบาท จากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง หรือ SP2 เพื่อกระจายให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ต่างๆ ดูเหมือนจะพลิกแพลงพัฒนา และ ซ่อนเงื่อนกลบเกลื่อนปมมากขึ้น อาศัยช่องว่างของกฎหมายโดยสามารถกล่าวได้ว่านี่คือการ “ฮั้วจำแลง”

3 บริษัทกินรวบคอมพ์โรงเรียน

ขณะนี้การเปิดซองประมูลเพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ของแต่ละ สพท.ดำเนินไปเกือบครบทุกเขต 100% ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ผลการเปิดซองประมูลจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของ สพฐ. มีลักษณะการกระจายตัวแบบกระจุก กล่าวคือ มีเพียง 3 บริษัทเท่านั้นที่ชนะการประมูล

จากการพูดคุยกับแหล่งข่าวที่คลุกคลีอยู่ในวงการธุรกิจคอมพิวเตอร์ และได้เข้าไปสัมผัสกับการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการดังกล่าว ให้ข้อมูลว่า คุณลักษณะของคอมพิวเตอร์ที่ สพฐ.กำหนดไว้นั้น จะต้องเป็นฮาร์ดแวร์ Inter brand หรือ เป็นยี่ห้อที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดอย่างแพร่หลาย เช่น HP, ACER, DELL, IBM เป็นต้น

“บริษัท ทั้ง 3 รายที่ชนะการประมูลเป็นส่วนใหญ่ ได้มีการเจรจากับบริษัทที่ผลิตฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ Inter brand ทั้งหลายเอาไว้แล้วว่า เขาจะเสนองานประมูลจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของ สพฐ. ดังนั้น ขอให้บริษัทผลิตฮาร์ดแวร์ ส่งสินค้าให้เฉพาะบริษัททั้ง 3 รายเท่านั้น โดยมีสัญญากันว่าห้ามผลิตสินค้าให้กับตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์รายอื่นที่ เข้าแข่งขันการประมูล ทำให้บริษัทอื่นไม่สามารถจัดหาสินค้า Inter brand ไปขายได้ แม้จะเปิดซองชนะการประมูล แต่สุดท้ายก็จะไม่มีสินค้าไปส่ง ทำให้ต้องยกเลิกสัญญาจัดซื้อไปในที่สุด”

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับที่เจ้าหน้าที่บริษัทตัวแทนจำหน่าย คอมพิวเตอร์ ซึ่งร่วมยื่นซองประกวดราคาด้วยที่ระบุว่า เมื่อไปติดต่อขอให้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ผลิตสินค้าให้ ก็จะได้รับคำตอบว่าไม่มีของ และไม่สามารถผลิตให้ได้ เนื่องจากมีสัญญากับบริษัทอื่นไว้แล้ว ว่าจะไม่ผลิตฮาร์ดแวร์ส่งให้กับตัวแทนจำหน่ายรายอื่น

“ที่น่าสังเกตอีกประการ คือ บริษัทที่ชนะการประกวดราคาทั้ง 3 รายนี้ มีลักษณะการได้งานที่ทำให้เชื่อได้ว่า มีการตกลงแบ่งพื้นที่กันไว้แล้ว ว่าบริษัทใดจะดูแลพื้นที่ในภูมิภาคไหน ซึ่งการเสนอราคาแต่ละครั้งทั้ง 3 บริษัท จะยื่นประมูลแบบเต็มราคา เพราะเขาเชื่อว่าไม่มีคู่แข่งอย่างแน่นอน”

นอกเหนือจากการผูกขาดทางตลาดแล้ว TOR ที่ สพฐ.กำหนดในการจัดซื้อจัดจ้าง ก็อาจจะเข้าทางบริษัทรายใหญ่มากกว่าบริษัทรายย่อย เนื่องจากกำหนดเอาเอกสารรับรองมาตรฐาน มอก.จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นสำคัญ

“เมื่อบริษัทรายย่อยไม่สามารถหาฮาร์ดแวร์ Inter brand ที่เป็นที่รู้จักได้ ก็ต้องวิ่งหาผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออื่นที่เขาทำฮาร์ดแวร์ให้เราได้ เราก็ต้องดูเรื่องประสิทธิภาพการใช้งาน คุณภาพวัสดุให้เป็นไปตามที่ TOR กำหนด ซึ่งเราก็ใช้ข้อกำหนดคุณลักษณะอื่นที่รองลงมาจาก มอก. คือ ใช้ผลการทดสอบ (Report Test) จากห้องทดสอบภายในประเทศที่ได้มาตรฐาน และเอกสารรับรองครุภัณฑ์ตรงกับรุ่นที่เสนอจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ซึ่งใน TOR กำหนดไว้ เพราะบริษัทรายย่อย หรือบริษัทเล็กๆ ไม่มี มอก.”

วิทยบูรณากรชี้ตายเลือกตัวแทนจำหน่าย

แม้จะจัดเตรียมเอกสาร หาสินค้าให้ได้ตรงตามที่ TOR ของ สพฐ.กำหนดไว้ แต่ในกระบวนการเปิดซองประมูลนั้น สพฐ.กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ “วิทยบูรณากร” ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเรื่องคอมพิวเตอร์ เป็นที่ปรึกษาให้กับโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ สำหรับการตัดสินใจเลือกว่าจะจัดซื้อกับบริษัทใด

“ครูแต่ละโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่เชี่ยวชาญเรื่องคอมพิวเตอร์ และเอกสารที่แต่ละบริษัทยื่นประกอบการประมูลนั้น เป็นภาษาอังกฤษนับร้อยหน้า ทำให้ทางโรงเรียนค่อนข้างเชื่อเจ้าหน้าที่วิทยบูรณากร แต่การทำหน้าที่ของเขา ไม่ได้ชี้แจงเรื่องสเปกผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัท แต่กลับไปพูดชี้นำทำนองว่า ระวังนะ บริษัทนี้ไม่มี มอก.นะ เลือกไปก็รับผิดชอบเองก็แล้วกัน เลือกบริษัทที่มี มอก.ดีกว่า ทั้งๆ ที่สินค้าของบริษัทอื่นก็ตรงตามที่ TOR กำหนด และเจ้าหน้าที่วิทยบูรณากร ก็มักจะจับผิดบริษัทรายย่อยในเรื่องต่างๆ แม้จะชี้แจงได้ทุกข้อกล่าวหา แต่ก็มักจะถูกปรับให้ตกไป ขณะที่บริษัท 3 รายที่ชนะการประมูลส่วนใหญ่ ไม่มีการตั้งข้อสังเกตใดๆ เลย ผมว่ามันผิดปกติ”

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีบริษัทเอกชนบางรายเข้าร้องเรียนต่อ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ทาง สพฐ.ได้ออกหนังสือ ที่ ศธ 04005/71เรื่อง เอกสารประกอบการพิจารณารายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการ เรียนการสอน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 ถึงผู้อำนวยการ สพท.ทุกเขต ซึ่งหนังสือราชการดังกล่าวก็ถูกติติงจากบริษัทตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์อีก เช่นกันว่า เป็นหนังสือที่เอื้อต่อบริษัทรายใหญ่ เพราะมีการกำหนดเพิ่มเติมให้บริษัทเอกชนที่ยื่นซองประกวดราคา และใช้เอกสารรับรองคุณลักษณะอื่น ที่ไม่ใช่ มอก.ต้องแสดงเอกสารรับรองมาตรฐานอื่นๆ เพิ่มเติม

ที่สำคัญการออกหนังสือให้แสดงเอกสารรับรองมาตรฐานเพิ่มเติมจาก TOR ที่กำหนดไว้นั้น ถือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย และขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 เพราะเป็นคำสั่งที่เพิ่มเติมรายละเอียดข้อกำหนด TOR ที่ประกาศไปก่อนหน้านั้นแล้ว ทำให้ สพฐ.ต้องออกหนังสือยกเลิกหนังสือฉบับดังกล่าวไปในที่สุด

คนขายคอมพ์คาใจ “ใครเข้มแข็ง?”

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้น ไม่เพียงผู้ประกอบการรายย่อยจะสัมผัสได้ “วิบูลย์ ว่องวีรชัยเดชา” นายกสมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย (เอทีซีเอ็ม) ก็แสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ตามระเบียบหรือการทุจริตของราชการไทย การจัดซื้อคอมพิวเตอร์ SP2ของ สพฐ.ยังไม่พบหลักฐานการทุจริต แต่มีความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เอื้อประโยชน์ให้รายใหญ่ รายเดิมเพียงแค่ไม่กี่รายเท่านั้น และเมื่อราชการเอื้อผลประโยชน์ให้เฉพาะกลุ่ม ก็จะทำให้งบฯ ไทยเข้มแข็งไม่ได้ถูกนำไปใช้ตามเจตนารมณ์ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในวง กว้าง

“มันจึงกลาย เป็นคำถามในวงการคอมพิวเตอร์ว่า การใช้งบไทยเข้มแข็งโครงการนี้ ใครเข้มแข็ง เพราะหากผู้บริหารมองภาพรวมผลลัพธ์ของการจัดซื้อคอมพ์ของ สพฐ.ทั่วประเทศ จะมองเห็นภาพชัดว่ามันกระจุกอยู่แค่กลุ่มเดียว ซึ่งไม่รู้ว่ามีอะไรบังตาทำให้วิเคราะห์ไม่ได้ ในการทำ TOR หรือการกำหนดสเปกครุภัณฑ์นั้นไม่ใช่ปัญหา

แต่วิธีการจัดซื้อจัดจ้างมันมีปัญหา ถ้ามองเฉพาะบางส่วนแล้วอาจจะดูดี แต่พอกระบวนการมันมาเชื่อมต่อกัน มันกลายเป็นสมเสร็จ ทำให้ซื้อขายยาก จำกัดเฉพาะกลุ่ม ขณะนี้คนที่จะได้ผลประโยชน์มีเพียงผู้ผลิต 3 รายเท่านั้น ขณะที่ตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์มีเป็น 10 ราย”นายกสมาคมฯ กล่าว

วิบูลย์บอกด้วยว่า ขณะนี้ทางสมาคมฯ พยายามรวมรวบหลักฐานความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อจัดจ้างคอมพิวเตอร์ของ สพฐ.ที่มีผู้ส่งข้อมูลมาให้เป็นระยะอยู่ เพื่อนำเสนอต่อผู้มีอำนาจ แต่ก็เป็นเรื่องยากเพราะหาหลักฐานทุจริตไม่เจอ จึงได้แต่หวังว่า จะมี “เปาบุ้นจิ้น” เข้ามาดูแล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์รายอื่นๆ

บอกแล้วว่า วิธีการดังกล่าวเป็นการ “ฮั้วจำแลง” มันแปลงร่างให้ไร้ร่องรอย แล้วจะเจอหลักฐานได้อย่างไร นี่แค่จัดซื้อคอมพิวเตอร์ของ สพฐ.ยังเหลือส่วนของซอฟแวร์ และครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ของสำนักส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตาม อัธยาศัย (กศน.) อีกหลายแสนเครื่อง ซึ่งหลายบริษัทพากันส่ายหน้าระอาใจ เพราะคาดคะเนกันว่าผลที่ออกมาคงไม่พ้นอีหรอบเดิม

Credit: http://www.kruthai.info/main/board01_/show.php?Category=newsfind&No=321

No comments: