Tuesday, February 23, 2010

จุฬาฯป่วนรับตรง100%ศิลปกรรม-อักษรที่นั่งไม่เต็มต้องรับรอบสอง

ฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยปี2553 คณะศิลปกรรม-อักษรศาสตร์ รับตรง 100% ป่วน เหตุขาดเด็ก ไม่เต็มจำนวนที่นั่ง คณบดีคณะศิลปศาสตร์ยืนยันเดินหน้ารับตรง แม้เจอปัญหาดึงเด็กกันเอง ชี้เหตุไม่เข้าร่วมแอดมิชชั่นส์กลาง

เพราะการสอบวัดความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ หรือแพต 6 ไม่สามารถจำแนกทักษะของเด็กที่จะเข้าเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ได้ ระบุอักษรจุฬาฯ เด็กขาดร่วม 100 คน เล็งเปิดรับตรงรอบสอง

คืบหน้าภายหลังคณะศิลปกรรมศาสตร์ และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงต่อสาธารณชนเปิดรับนิสิตใหม่ประจำปีการศึกษา 2553 ด้วยการสอบรับตรง 100% นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 รศ.ดร.ศุภกรณ์ ดิษฐพันธุ์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ รับนิสิตผ่านระบบรับตรง 100% จำนวน 120 คน จาก 5 ภาควิชา แต่รับได้จำนวน 90 กว่าคน โดยรับได้ไม่เต็มจำนวนที่นั่งในภาควิชานฤมิตศิลป์ และทัศนศิลป์ เพราะเด็กสละสิทธิ์ไปเลือกมหาวิทยาลัยแรกที่มีการประกาศผลและได้ชำระเงินไปแล้ว แต่เชื่อว่ามหาวิทยาลัยที่ประกาศรับลำดับแรกๆ จะเจอปัญหาเดียวกัน คือ เด็กสละสิทธิ์มาเลือกจุฬาฯ โดยไม่เสียดายเงินที่ชำระแล้ว

รศ.ดร.ศุภกรณ์ กล่าวต่อว่า คิดว่ามหาวิทยาลัยที่เปิดรับตรงเจอปัญหาเดียวกันหมด คือ ดึงเด็กกันเอง แม้คณะศิลปกรรมศาสตร์จะรับไม่เต็ม แต่จะไม่เปิดรับรอบสองและจะไม่เข้าร่วมแอดมิชชั่นส์กลางด้วย ขณะนี้ได้ประกาศผลรับตรงและถือว่าสิ้นสุดกระบวนรับนิสิตแล้ว สำหรับปีการศึกษา 2554 คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ยังคงยืนยันจะไม่เข้าร่วมแอดมิชชั่นส์กลาง จะยังคงรับผ่านระบบรับตรง 100% ผ่าน 2 ระบบ คือ รับตรงแบบพิเศษ และรับตรงแบบปกติ โดยรับตรงแบบพิเศษ คัดเด็กที่มีความสามารถพิเศษที่ได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติ

ในส่วนรับตรงแบบปกติจะคัดจากเด็กทั่วไป แต่หลักเกณฑ์และวิธีการยังไม่ยุติ อยู่ระหว่างหารือร่วมกับสภามหาวิทยาลัย แต่ยืนยันว่าจะพยายามจัดสอบให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่เด็ก ทั้งนี้เหตุผลที่ไม่ร่วมแอดมิชชั่นส์กลาง เนื่องจากวิชาวัดความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ หรือ แพต 6 จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ไม่สามารถจำแนกทักษะของเด็กที่จะเข้าเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ได้ ขณะที่ต้องการเด็กที่มีทั้งทักษะเฉพาะทางและองค์ความรู้ทางด้านวิชาการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แหล่งข่าวจากจุฬาฯ กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2553 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ รับนิสิตผ่านระบบรับตรง 100% เป็นปีแรก โดยรับจำนวน 300 คน แต่รับได้ไม่เต็ม และขาดประมาณ 100 คน เพราะเด็กสละสิทธิ์ไปเลือกเข้าคณะอื่น เช่น คณะแพทยศาสตร์ เป็นต้น ขณะนี้คณะอักษรศาสตร์จึงประสานขอเข้าระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิชชั่นส์กลาง เพื่อรับรอบสองให้เต็มจำนวน

Credit: http://www.komchadluek.net/detail/20100222/49405/จุฬาฯป่วนรับตรง100ศิลปกรรมอักษรที่นั่งไม่เต็มต้องรับรอบสอง.html

มข.ระดมแกนนำครูทั่วอีสานฟื้นสอนประวัติศาสตร์

มข. แกนนำระดมครูทั่วอีสาน ฟื้นหลักสูตรการสอนประวัติศาสตร์ หวังกระตุ้นผู้เรียนภูมิใจความเป็นชาติ หวงแหนมรดกวัฒนธรรม

รศ.ลัดดา ศิลาน้อย รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการประชุมสัมมนาฯ กล่าวว่า คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กำหนดจัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ให้แก่ครูผู้สอนวิชาในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 200 คน ในหัวข้อเรื่อง การจัดทำหลักสูตรสาระประวัติศาสตร์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมการเรียนการสอนสังคมศึกษา จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา ที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.ลัดดา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เนื่องจากการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม มีความสำคัญต่อผู้เรียนในการพัฒนา เจตคติพิสัย และคุณลักษณะรวมทั้งค่านิยม ซึ่งการที่จะให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการศึกษานั้นต้องอาศัยทักษะกระบวนการและสื่อการสอนที่มีความหลากหลาย

"โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งบรรจุอยู่ในกลุ่มสาระนี้ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้กำหนดให้มีการเรียนการสอนสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงในทุกระดับชั้น มีเป้าหมายที่จะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ภูมิหลังขอความเป็นชาติ สร้างความภูมิใจกระตุ้นให้เห็นคุณค่าทางวัตนธรรม เพื่อนำไปสู่สำนึกรักชาติและธำรงรักษาความเป็นเอกราช ซึ่งการสอนที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นต้องให้ผู้เรียนได้มีการคิดวิเคราะห์ ได้มีโอกาสศึกษาในแหล่งเรียนรู้สถานที่จริง และการเชื่อมโยงบูรณาการกับแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น ดังนั้นครูผู้สอนต้องมีการพัฒนาทักษะประสบการณ์" รศ.ลัดดา กล่าว

รศ.ลัดดา กล่าวอีกว่า คณะศึกษาศาสตร์ในฐานะสถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรทางการศึกษา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนาหลักสูตร และการสนับสนุนส่งเสริมทักษะวิชาชีพ จึงได้จัดการประชุมสัมมนาในเรื่องดังกล่าวขึ้น โดยหวังที่จะให้ครูผู้สอนได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมทางการเรียนการสอนสังคมศึกษา เกิดความเข้าใจการจัดทำหลักสูตรประวัติศาสตร์ที่จะนำไปใช้ในการสอนในโรงเรียนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ อีกทั้งในงานมีนิทรรศการและการนำเสนอผลงานของครูและนักศึกษาทางการสอนสังคมศึกษาอีกด้วย

Credit: http://www.komchadluek.net/detail/20100222/49444/มข.ระดมแกนนำครูทั่วอีสานฟื้นสอนประวัติศาสตร์.html

หลอกเรียนโผล่! ฟ้องอธิการ นศ.ราชธานีโวย

หลอกเรียนพยาบาลโผล่อีก ถึงคิวมหาวิทยาลัยราชธานี จ.อุบลฯ นศ.ฟ้องกองปราบเอาผิดอธิการบดีฐานฉ้อโกง พร้อมตบเท้าบุก ศธ.จี้เยียวยาหาที่เรียนใหม่ เตรียมหอบข้อมูลร้องนายกฯวันนี้ ...

เมื่อวันที่ 22 ก.พ.53 ที่กระทรวงศึกษาธิการ นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ ชั้นปี 1 มหาวิทยาลัยราชธานี จ.อุบลราชธานี ประมาณ 30 คน นำโดยนางลีนา จังจรรจา ประธานมูลนิธิช่วยเหลือประชาชนทางด้านกฎหมาย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ กรณีถูกนางวิลาวัณย์ ตันวัฒนะพงษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชธานี จ.อุบลราชธานีหลอกลวงให้เข้าศึกษาต่อในคณะพยาบาลศาสตร์ แต่เมื่อเข้ามาเรียนจริงกลับได้เรียนในคณะศิลปศาสตร์ (การพยาบาล) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สภาการพยาบาลไม่ได้ให้การรับรอง แต่นายชินวรณ์เดินทางไปราชการต่างประเทศ นายศุรพงษ์ พงษ์เดชขจร ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ จึงรับหนังสือแทน

น.ส.ชุติภา ใจชื่น ตัวแทนนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 1 กล่าวว่า เพิ่งรู้ตัวว่าถูกทางมหาวิทยาลัยหลอกก็ตอนลงทะเบียนเรียนภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2552 ซึ่งในใบลงทะเบียนระบุว่า คณะศิลปศาสตร์ (การพยาบาล) ก็เลยสงสัยว่ามีคณะนี้ด้วยหรือ จึงได้สอบถามไปยังคณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งทางคณะก็โยนให้ไปสอบถามฝ่ายทะเบียน ส่วนฝ่ายทะเบียนก็โยนให้ไปสอบถามที่คณะศิลปศาสตร์ และก็ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ เมื่อขอเข้าพบอธิการบดีก็อ้างว่าไม่อยู่ ดังนั้นจึงได้สอบถามไปยังสภาการพยาบาล ได้รับคำชี้แจงว่า สภาการพยาบาลไม่ได้ให้การรับรองคณะศิลปศาสตร์ (การพยาบาล) แต่รับรองคณะพยาบาลศาสตร์ โดยอนุมัติให้มหาวิทยาลัยรับนักศึกษาได้เพียง 80 คน พวกเราต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเรียนเทอมละ 67,500 บาท โดย 1 ปีเสียเงินไปแสนกว่าบาท เงินทุกบาททุกสตางค์ที่นำมาลงทะเบียน พ่อแม่ต้องดิ้นรนหาเงินมาให้ลูกเรียน บางคนกู้ยืมกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แต่กลับไม่ได้เรียนในคณะพยาบาลศาสตร์ตามที่ตั้งใจไว้

"ไม่เข้าใจว่าทำไม มหาวิทยาลัยต้องหลอกลวง และไม่แจ้งให้ทราบตั้งแต่แรกว่ารับนักศึกษาได้เพียง 80 คน โดยในปี 2552 มหาวิทยาลัยรับเด็กเข้าเรียนในคณะนี้ถึง 350 คน ซึ่งถ้าคำนวณความเสียหายของนักศึกษาทุกคนรวมกันน่าจะไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท และขณะนี้ได้แจ้งความเพื่อดำเนินการกับอธิการบดีในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ที่กองบังคับการปราบปรามไว้แล้ว" น.ส.ชุติภา กล่าว

ตัวแทนนักศึกษาฯ กล่าวด้วยว่า ที่มาเรียกร้องครั้งนี้เพราะอยากให้กระทรวงศึกษาธิการช่วยจัดหาที่เรียนใน คณะพยาบาลศาสตร์ให้ เพราะทุกคนตั้งใจจริงที่จะเป็นพยาบาล เพื่อออกมาทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ พวกเราไม่อยากเรียนคณะอื่นตามที่มหาวิทยาลัยต้องการให้ไปเรียน และที่สำคัญอยากให้มหาวิทยาลัยออกมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ด้วย ซึ่งรู้สึกผิดหวัง และเสียความรู้สึกมาก และในวันนี้ (23 ก.พ.) จะเข้ายื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีด้วย

ด้านนายศุรพงษ์ กล่าวว่า ตนจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ตรวจสอบกรณีดังกล่าว และแก้ไขปัญหา จึงขอให้นักศึกษาทุกคนรอเวลาให้ผู้บริหารได้หาแนวทางเยียวยาและช่วยเหลือ นักศึกษาต่อไป.

Credit: http://www.thairath.co.th/content/edu/66654

Monday, February 22, 2010

กำหนดคุณวุฒิวิชาชีพจูงใจเรียนอาชีวะ

รมช.ศึกษาฯ รับประกันว่าหากจบอาชีวะและได้คุณวุฒิวิชาชีพแล้วรัฐบาลจะปรับรายได้ให้สูงขึ้น พร้อมเร่งกำหนดคุณวุฒิวิชาชีพกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ...

นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงแนวทางการรับนักเรียนสังกัดอาชีวศึกษาเพื่อเพิ่มสัดส่วนการเรียนสายอาชีพว่า ที่ผ่านมามีการพูดถึงแต่เรื่องปริญญาตรีอาชีวศึกษา เพราะเด็กต้องการจบมาเพื่อให้ได้ปริญญาตรีเป็นหลัก เป็นความเข้าใจผิดว่าปริญญาตรีคือการได้งานทำ ได้อัตราจ้างสูงขึ้น เรื่องนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีนโยบายชัดเจนว่า เด็กที่เรียนอาชีวะต้องมุ่งสู่การมีงานทำอย่างชัดเจน ดังนั้นงบประมาณเรียนฟรี 15 ปี และงบลงทุนด้านการศึกษาสายอาชีพจะต้องมุ่งเน้นตามงานที่เกิดขึ้น เด็กที่จบสายอาชีพ มีคุณวุฒิวิชาชีพ จะต้องปรับค่าจ้างให้สูงขึ้นกว่าปกติ จะปรับให้ได้ภายในปีการศึกษานี้ และแม้ว่าปีนี้ประมาณการนักเรียน ม.3 จะลดลงแต่ก็จะพยายามทำสัดส่วนการเรียนสายอาชีพให้เกิน 40% ตนรับประกันว่าหากจบอาชีวะและได้คุณวุฒิวิชาชีพแล้วรัฐบาลจะปรับรายได้ให้สูงขึ้น ขณะนี้ต้องเร่งกำหนดคุณวุฒิวิชาชีพกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อนว่าจะมีวิชาชีพใดบ้าง และกำหนดอัตรารายได้ขั้นต่ำกับกระทรวงแรงงานเพื่อให้เด็กมั่นใจมาเรียนสายอาชีพ.

Credit: http://www.thairath.co.th/content/edu/66494

"ชินวรณ์" ดันแก้กฎหมายเร่งแบ่งเขตพื้นที่มัธยม

เสมา1 เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ เร่งประชุมทุกวันพฤหัสฯ แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย เพื่อให้สามารถดำเนินการแบ่งเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาได้โดยเร็ว..

นายเสน่ห์ ขาวโต รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาวาระแรก โดยเพิ่มเติมการกำหนดเขตพื้นที่การศึกษาออกเป็นเขตพื้นที่การศึกษาของประถมและมัธยมนั้น หากผ่านขั้นตอนออกเป็นกฎหมายแล้ว นายชินวรณ์ บุณยเกียรติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต้องกำหนดเขตพื้นที่การศึกษาของมัธยมศึกษาว่าจะให้มีกี่เขต โดยการเสนอแนะของสภาการศึกษา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์และคุณภาพการศึกษาของการศึกษาทั้งสองระดับให้ดียิ่งขึ้น ส่วนที่จะมีการขอแปรญัตติแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมในประเด็นอื่นๆ อาทิ การตั้งหน่วยงานระดับอำเภอนั้นคงไม่สามารถทำได้ แต่สามารถออกแบบบริหารภายในได้โดยไม่ต้องแก้กฎหมาย เพราะเป็นเพียงหน่วยประสานงาน ไม่ใช่สำนักงานที่อยู่ในโครงสร้าง ได้มอบนโยบายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มอบหมายให้ รอง ผู้อำนวยการ สพท.ทำหน้าที่ประสานและดูแลช่วยเหลือโรงเรียนแต่ละอำเภอแล้ว

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนเป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว ตนจะนัดประชุมทุกวันพฤหัสบดี โดยจะเร่งรัดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ เพื่อให้สามารถดำเนินการแบ่งเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาได้โดยเร็ว ขณะเดียวกันได้สั่งการให้ สพท. เตรียมการเชิงบริหารจัดการเพื่อรองรับกฎหมายดังกล่าวแล้ว ส่วนจะมีการเสนอแก้ไขในเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากที่สภาฯรับหลักการไว้นั้นทำไม่ได้.

Credit: http://www.thairath.co.th/content/edu/66493

ม.รัฐชื่อดังลังเลเข้าร่วมศูนย์รับตรง

ม.รัฐชื่อดังลังเลเข้าร่วมศูนย์รับตรงมั่นใจออกข้อสอบเองวัดคัดได้ผล หลัง สกอ. ตั้งศูนย์กำหนดรูปแบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ระบบรับตรง ขณะที่ อักษรศาสตร์ จุฬาฯรับแอดมิชชั่นกลางเพิ่ม...

จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ดำเนินการจัดตั้งศูนย์กำหนดรูปแบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบรับตรงนั้น นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สกอ.จัดระบบการรับตรงใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะเข้าร่วมในระบบรับตรง เพราะขณะนี้คณะที่เปิดรับตรง 100% กำลังประสบปัญหา อาทิ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบปัญหาเด็กสละสิทธิ์กว่า 100 คน ทำให้ต้องรีบทำเรื่องถึง สกอ. ขอเปิดรับแอดมิชชั่นกลาง เพื่อคัดเลือกเด็กได้เต็มตามเป้าหมาย

นายกิตติ ตีรเศรษฐ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล.รับสมัครนักศึกษาส่วนใหญ่ผ่านระบบรับตรง ส่วนระบบแอดมิชชั่นกลาง รับ 48% หาก สกอ.จะตั้งศูนย์รับตรงขึ้นมานั้นถือเป็นเรื่องดี แต่ สจล.จะเข้าร่วมหรือไม่คงต้องขอดูรายละเอียดอีกครั้ง เพราะหากรวมศูนย์รับตรงได้และทุกมหาวิทยาลัยยอมรับ ก็เท่ากับว่ากลับมารวมศูนย์รับนักศึกษาระบบกลางเหมือนเดิม และไม่แน่ใจว่าข้อสอบที่จะใช้สามารถคัดเด็กที่มีความสามารถตรงตามที่มหาวิทยาลัยต้องการได้หรือไม่ เพราะ สจล.เป็นหนึ่งใน 3 มหาวิทยาลัยที่ ไม่ใช้คะแนนแบบวัดความถนัดทั่วไปหรือ GATและแบบวัดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการหรือ PAT ในการรับตรง เพราะทุกวันนี้ สจล.รับตรงเอง และมั่นใจว่าข้อสอบสามารถคัดเลือกเด็กได้ตรง ตามความสามารถจริง ไม่เกิดปัญหาออกกลางคัน

นายไกรวุฒิ เกียรติโกมล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า การตั้งศูนย์รับตรงเพื่อไม่ให้เด็กต้องวิ่งสอบในแต่ละแห่งและใช้คะแนนสอบ GAT/PAT นั้น เป็นเรื่องที่ มจธ.เห็นด้วย ก็พยายามควบคุมไม่ให้รับตรงเกิน 70% แต่เท่าที่ดูข้อสอบ GAT/PAT ยังเน้นวัดความรู้ตามรายวิชา ไม่ใช่การวัดศักยภาพผู้เรียนว่าจะเรียนได้หรือไม่ ส่วนระบบรับตรงนั้นมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งสามารถกำหนดวิธีการและออกข้อสอบได้เอง ทำให้สามารถคัดเลือกเด็กได้ตรงตามศักยภาพ และศูนย์รับตรงอาจจะไม่ตรงกับธรรมชาติของมหาวิทยาลัยที่ต้องการคัดเด็กให้ตรงตามความถนัด ส่วน มจธ.จะเข้าร่วมในศูนย์หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้.

Credit: http://www.thairath.co.th/content/edu/66490

อดเสน่หาไม่ตาย แต่ขาดดนตรี ไม่อาจจะดำรงชีวิตอยู่ได้

ผลจากการสำรวจในเมืองจิงโจ้อย่างสดๆร้อนๆหนุ่มๆทั้งใหญ่เล็ก มากถึงร้อยละ 36 พากันสารภาพว่า พวกเขาไม่อาจจะอยู่โดยขาดดนตรีได้ ยิ่งกว่านั้นทุกๆหนึ่งใน 2 คน ยอมรับว่า มนต์รักของดนตรีบีบเร้าหัวใจ ถึงกับอดหลั่งน้ำตาออกมาไม่ได้

ยิ่งทางฝ่ายข้างสตรีแล้ว มากถึงเกือบ 3 ใน 4 ยอมรับว่า ได้ฟังเพลงทีไรก็อดร้องไห้ไม่ได้ทุกที

การสำรวจ โดยสำนักสำรวจความคิดเห็นแกแลกซี่ ทำให้กับโซนี่ แห่งออสเตรเลีย

อานุภาพของเสียงเพลงยังทำให้ ชาวออสเตรเลีย ทุก 1 ใน 4 คน แจ้งว่าจะทำ ครัวก็ต้องฟังเพลงไปด้วย และอีกมากถึงร้อยละ 34 เวลาขับรถไปไหนจะอดฟังเพลงได้ชั่วระยะไม่ไกลเกิน 2 กม.

ผลการสำรวจสรุปว่า ชาวเมืองจิงโจ้ มากถึงร้อยละ 83 ชีวิตจะขาดเพลงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นยามไหน และมีอยู่ถึงร้อยละ 36 ลั่นวาจาว่า เขาจะอยู่ โดยขาดเสียงเพลงมิได้.

Credit: http://www.thairath.co.th/content/edu/66423

แฉโครงการไทยเข้มแข็งจัดซื้อคอมพ์โรงเรียน

แฉโครงการไทยเข้มแข็งจัดซื้อคอมพ์โรงเรียน แสนเครื่องกระทรวงศึกษากว่า 8 พันล้านเข้าข่ายฮั้ว แต่แยบยลแนบเนียนอาศัยช่องว่างของกฎหมายอำพรางพฤติกรรมเปลี่ยนเป็น 'ฮั้วจำแลง'


กฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อและการประมูลมีกำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามมิให้เอกชนผู้เข้าประมูล “ฮั้ว” กัน แต่สำหรับโครงการจัดซื้อจัดจ้างคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน และระบบคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ประจำห้องสมุด รวมถึงซอฟต์แวร์ต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จำนวน 1.7 แสนเครื่อง ด้วยงบประมาณ 7,900 ล้านบาท จากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง หรือ SP2 เพื่อกระจายให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ต่างๆ ดูเหมือนจะพลิกแพลงพัฒนา และ ซ่อนเงื่อนกลบเกลื่อนปมมากขึ้น อาศัยช่องว่างของกฎหมายโดยสามารถกล่าวได้ว่านี่คือการ “ฮั้วจำแลง”

3 บริษัทกินรวบคอมพ์โรงเรียน

ขณะนี้การเปิดซองประมูลเพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ของแต่ละ สพท.ดำเนินไปเกือบครบทุกเขต 100% ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ผลการเปิดซองประมูลจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของ สพฐ. มีลักษณะการกระจายตัวแบบกระจุก กล่าวคือ มีเพียง 3 บริษัทเท่านั้นที่ชนะการประมูล

จากการพูดคุยกับแหล่งข่าวที่คลุกคลีอยู่ในวงการธุรกิจคอมพิวเตอร์ และได้เข้าไปสัมผัสกับการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการดังกล่าว ให้ข้อมูลว่า คุณลักษณะของคอมพิวเตอร์ที่ สพฐ.กำหนดไว้นั้น จะต้องเป็นฮาร์ดแวร์ Inter brand หรือ เป็นยี่ห้อที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดอย่างแพร่หลาย เช่น HP, ACER, DELL, IBM เป็นต้น

“บริษัท ทั้ง 3 รายที่ชนะการประมูลเป็นส่วนใหญ่ ได้มีการเจรจากับบริษัทที่ผลิตฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ Inter brand ทั้งหลายเอาไว้แล้วว่า เขาจะเสนองานประมูลจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของ สพฐ. ดังนั้น ขอให้บริษัทผลิตฮาร์ดแวร์ ส่งสินค้าให้เฉพาะบริษัททั้ง 3 รายเท่านั้น โดยมีสัญญากันว่าห้ามผลิตสินค้าให้กับตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์รายอื่นที่ เข้าแข่งขันการประมูล ทำให้บริษัทอื่นไม่สามารถจัดหาสินค้า Inter brand ไปขายได้ แม้จะเปิดซองชนะการประมูล แต่สุดท้ายก็จะไม่มีสินค้าไปส่ง ทำให้ต้องยกเลิกสัญญาจัดซื้อไปในที่สุด”

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับที่เจ้าหน้าที่บริษัทตัวแทนจำหน่าย คอมพิวเตอร์ ซึ่งร่วมยื่นซองประกวดราคาด้วยที่ระบุว่า เมื่อไปติดต่อขอให้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ผลิตสินค้าให้ ก็จะได้รับคำตอบว่าไม่มีของ และไม่สามารถผลิตให้ได้ เนื่องจากมีสัญญากับบริษัทอื่นไว้แล้ว ว่าจะไม่ผลิตฮาร์ดแวร์ส่งให้กับตัวแทนจำหน่ายรายอื่น

“ที่น่าสังเกตอีกประการ คือ บริษัทที่ชนะการประกวดราคาทั้ง 3 รายนี้ มีลักษณะการได้งานที่ทำให้เชื่อได้ว่า มีการตกลงแบ่งพื้นที่กันไว้แล้ว ว่าบริษัทใดจะดูแลพื้นที่ในภูมิภาคไหน ซึ่งการเสนอราคาแต่ละครั้งทั้ง 3 บริษัท จะยื่นประมูลแบบเต็มราคา เพราะเขาเชื่อว่าไม่มีคู่แข่งอย่างแน่นอน”

นอกเหนือจากการผูกขาดทางตลาดแล้ว TOR ที่ สพฐ.กำหนดในการจัดซื้อจัดจ้าง ก็อาจจะเข้าทางบริษัทรายใหญ่มากกว่าบริษัทรายย่อย เนื่องจากกำหนดเอาเอกสารรับรองมาตรฐาน มอก.จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นสำคัญ

“เมื่อบริษัทรายย่อยไม่สามารถหาฮาร์ดแวร์ Inter brand ที่เป็นที่รู้จักได้ ก็ต้องวิ่งหาผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออื่นที่เขาทำฮาร์ดแวร์ให้เราได้ เราก็ต้องดูเรื่องประสิทธิภาพการใช้งาน คุณภาพวัสดุให้เป็นไปตามที่ TOR กำหนด ซึ่งเราก็ใช้ข้อกำหนดคุณลักษณะอื่นที่รองลงมาจาก มอก. คือ ใช้ผลการทดสอบ (Report Test) จากห้องทดสอบภายในประเทศที่ได้มาตรฐาน และเอกสารรับรองครุภัณฑ์ตรงกับรุ่นที่เสนอจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ซึ่งใน TOR กำหนดไว้ เพราะบริษัทรายย่อย หรือบริษัทเล็กๆ ไม่มี มอก.”

วิทยบูรณากรชี้ตายเลือกตัวแทนจำหน่าย

แม้จะจัดเตรียมเอกสาร หาสินค้าให้ได้ตรงตามที่ TOR ของ สพฐ.กำหนดไว้ แต่ในกระบวนการเปิดซองประมูลนั้น สพฐ.กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ “วิทยบูรณากร” ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเรื่องคอมพิวเตอร์ เป็นที่ปรึกษาให้กับโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ สำหรับการตัดสินใจเลือกว่าจะจัดซื้อกับบริษัทใด

“ครูแต่ละโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่เชี่ยวชาญเรื่องคอมพิวเตอร์ และเอกสารที่แต่ละบริษัทยื่นประกอบการประมูลนั้น เป็นภาษาอังกฤษนับร้อยหน้า ทำให้ทางโรงเรียนค่อนข้างเชื่อเจ้าหน้าที่วิทยบูรณากร แต่การทำหน้าที่ของเขา ไม่ได้ชี้แจงเรื่องสเปกผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัท แต่กลับไปพูดชี้นำทำนองว่า ระวังนะ บริษัทนี้ไม่มี มอก.นะ เลือกไปก็รับผิดชอบเองก็แล้วกัน เลือกบริษัทที่มี มอก.ดีกว่า ทั้งๆ ที่สินค้าของบริษัทอื่นก็ตรงตามที่ TOR กำหนด และเจ้าหน้าที่วิทยบูรณากร ก็มักจะจับผิดบริษัทรายย่อยในเรื่องต่างๆ แม้จะชี้แจงได้ทุกข้อกล่าวหา แต่ก็มักจะถูกปรับให้ตกไป ขณะที่บริษัท 3 รายที่ชนะการประมูลส่วนใหญ่ ไม่มีการตั้งข้อสังเกตใดๆ เลย ผมว่ามันผิดปกติ”

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีบริษัทเอกชนบางรายเข้าร้องเรียนต่อ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ทาง สพฐ.ได้ออกหนังสือ ที่ ศธ 04005/71เรื่อง เอกสารประกอบการพิจารณารายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการ เรียนการสอน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 ถึงผู้อำนวยการ สพท.ทุกเขต ซึ่งหนังสือราชการดังกล่าวก็ถูกติติงจากบริษัทตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์อีก เช่นกันว่า เป็นหนังสือที่เอื้อต่อบริษัทรายใหญ่ เพราะมีการกำหนดเพิ่มเติมให้บริษัทเอกชนที่ยื่นซองประกวดราคา และใช้เอกสารรับรองคุณลักษณะอื่น ที่ไม่ใช่ มอก.ต้องแสดงเอกสารรับรองมาตรฐานอื่นๆ เพิ่มเติม

ที่สำคัญการออกหนังสือให้แสดงเอกสารรับรองมาตรฐานเพิ่มเติมจาก TOR ที่กำหนดไว้นั้น ถือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย และขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 เพราะเป็นคำสั่งที่เพิ่มเติมรายละเอียดข้อกำหนด TOR ที่ประกาศไปก่อนหน้านั้นแล้ว ทำให้ สพฐ.ต้องออกหนังสือยกเลิกหนังสือฉบับดังกล่าวไปในที่สุด

คนขายคอมพ์คาใจ “ใครเข้มแข็ง?”

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้น ไม่เพียงผู้ประกอบการรายย่อยจะสัมผัสได้ “วิบูลย์ ว่องวีรชัยเดชา” นายกสมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย (เอทีซีเอ็ม) ก็แสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ตามระเบียบหรือการทุจริตของราชการไทย การจัดซื้อคอมพิวเตอร์ SP2ของ สพฐ.ยังไม่พบหลักฐานการทุจริต แต่มีความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เอื้อประโยชน์ให้รายใหญ่ รายเดิมเพียงแค่ไม่กี่รายเท่านั้น และเมื่อราชการเอื้อผลประโยชน์ให้เฉพาะกลุ่ม ก็จะทำให้งบฯ ไทยเข้มแข็งไม่ได้ถูกนำไปใช้ตามเจตนารมณ์ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในวง กว้าง

“มันจึงกลาย เป็นคำถามในวงการคอมพิวเตอร์ว่า การใช้งบไทยเข้มแข็งโครงการนี้ ใครเข้มแข็ง เพราะหากผู้บริหารมองภาพรวมผลลัพธ์ของการจัดซื้อคอมพ์ของ สพฐ.ทั่วประเทศ จะมองเห็นภาพชัดว่ามันกระจุกอยู่แค่กลุ่มเดียว ซึ่งไม่รู้ว่ามีอะไรบังตาทำให้วิเคราะห์ไม่ได้ ในการทำ TOR หรือการกำหนดสเปกครุภัณฑ์นั้นไม่ใช่ปัญหา

แต่วิธีการจัดซื้อจัดจ้างมันมีปัญหา ถ้ามองเฉพาะบางส่วนแล้วอาจจะดูดี แต่พอกระบวนการมันมาเชื่อมต่อกัน มันกลายเป็นสมเสร็จ ทำให้ซื้อขายยาก จำกัดเฉพาะกลุ่ม ขณะนี้คนที่จะได้ผลประโยชน์มีเพียงผู้ผลิต 3 รายเท่านั้น ขณะที่ตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์มีเป็น 10 ราย”นายกสมาคมฯ กล่าว

วิบูลย์บอกด้วยว่า ขณะนี้ทางสมาคมฯ พยายามรวมรวบหลักฐานความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อจัดจ้างคอมพิวเตอร์ของ สพฐ.ที่มีผู้ส่งข้อมูลมาให้เป็นระยะอยู่ เพื่อนำเสนอต่อผู้มีอำนาจ แต่ก็เป็นเรื่องยากเพราะหาหลักฐานทุจริตไม่เจอ จึงได้แต่หวังว่า จะมี “เปาบุ้นจิ้น” เข้ามาดูแล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์รายอื่นๆ

บอกแล้วว่า วิธีการดังกล่าวเป็นการ “ฮั้วจำแลง” มันแปลงร่างให้ไร้ร่องรอย แล้วจะเจอหลักฐานได้อย่างไร นี่แค่จัดซื้อคอมพิวเตอร์ของ สพฐ.ยังเหลือส่วนของซอฟแวร์ และครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ของสำนักส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตาม อัธยาศัย (กศน.) อีกหลายแสนเครื่อง ซึ่งหลายบริษัทพากันส่ายหน้าระอาใจ เพราะคาดคะเนกันว่าผลที่ออกมาคงไม่พ้นอีหรอบเดิม

Credit: http://www.kruthai.info/main/board01_/show.php?Category=newsfind&No=321

Tuesday, February 16, 2010

สพฐ.รุกจัดการศึกษาปฐมวัยนัดศึกษานิเทศก์ระดมสมอง

สพฐ.ประชุมศึกษานิเทศก์ ที่ดูแลการศึกษาปฐมวัย 185 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ ขับเคลื่อนการเรียนการสอนปฐมวัย พัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา อย่างเต็มตามศักยภาพ

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) จัดโครงการประชุมปฏิบัติการเสริมสมรรถนะศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบงานการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย 185 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ ให้มีความเข้าใจในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนโครงการจัดการเรียนการสอนปฐมวัย ปีงบประมาณ 2553 เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา อย่างเต็มตามศักยภาพ ระหว่างวันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จ.ปทุมธานี

โครงการดังกล่าวประกอบด้วย แก่นแท้นวัตกรรมในการพัฒนาเด็กปฐมวัย โครงการหนังสือเล่มแรก (Book start) เพื่อพัฒนาพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย การบูรณาการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ผ่านทางดนตรีและหนังสือเล่มใหญ่ (Big Book) อันจะส่งผลให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญาอย่างเต็มตามศักยภาพ มีความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ

ทั้งนี้ มีการกำหนดหลักการขอบข่าย กลไกที่จะกำกับ ดูแล ส่งเสริมอย่างใกล้ชิด รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนบทบาทของสถาบันครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดู และส่งเสริมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการทางสมองของเด็กปฐมวัย สพฐ.จึงได้เชิญศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบงานการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยจำนวน 185 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ร่วมประชุมปฏิบัติการเสริมสมรรถนะศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบงานการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย ให้สามารถขับเคลื่อนโครงการจัดการเรียนการสอนปฐมวัยในปี 2553 ซึ่งจะขยายผลไปยังผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และโรงเรียนที่จัดการศึกษาปฐมวัย ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“การประชุมปฏิบัติการดังกล่าว นอกจากจะให้ความรู้เรื่องพัฒนาการการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสมอง โดย อาจารย์พรพิไล เลิศวิชา โครงการจัดการเรียนการสอนปฐมวัย ปีงบประมาณ 2553 การอภิปรายแก่นแท้นวัตกรรมการสอนแบบโครงการ การสอนตามแนวคิดไฮสโคป การสอนภาษาแบบธรรมชาติ มอนเทสซอริ วอลดอร์ฟ และเรกจิโอ และการอภิปรายการขับเคลื่อนการนิเทศ สู่การพัฒนาการจัดการศึกษาปฐมวัย ยังมีการบรรยายเรื่องการบูรณาการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ผ่านดนตรีในระดับอนุบาล การพัฒนาศักยภาพทางภาษาด้วยบิ๊กบุ๊ก และการเลื่อนวิทยฐานะแนวใหม่ ซึ่งมีประโยชน์ต่อครูและศึกษานิเทศก์อีกด้วย” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

Credit: http://www.komchadluek.net/detail/20100215/48547/สพฐ.รุกจัดการศึกษาปฐมวัยนัดศึกษานิเทศก์ระดมสมอง.html

เล็งเพิ่มงบฯ สทศ.หวังลดค่าสอบ

สอบ GAT - PAT ศธ.อาจ ต้องจัดสรรงบฯ เพิ่มเติมให้ สทศ. เพื่อลดต้นทุนในการจัดสอบ และเก็บค่าสมัครสอบลดลง ชี้การยกเลิกเก็บค่าสมัคร คงเป็นไปได้ยาก ..

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้หยิบยกประเด็นในเรื่องระบบแอดมิชชั่นมาหารือ โดยนายกรัฐมนตรีเข้าใจดีถึงระบบแอดมิชชั่นกลางและระบบแอดมิชชั่นตรงหรือรับตรง มีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกัน แต่นายกรัฐมนตรีมีข้อสังเกตคือกระบวนการรับนักเรียนเข้าสู่ มหาวิทยาลัยสามารถตอบโจทย์คำถามว่าสามารถส่งเสริมคุณภาพผู้เรียน โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ได้อย่างไร และจะลดภาระให้นักเรียนไม่ต้องวิ่งรอกสอบหลายครั้งได้หรือไม่ นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา รับที่จะประสานกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อที่จะช่วยในการลดภาระนักเรียน ส่วนตนขอให้ดูการลดค่าสอบแบบทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และแบบทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT ศธ.อาจจะต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เพื่อลดต้นทุนในการจัดสอบ และเก็บค่าสมัครสอบลดลง เพราะการยกเลิกเก็บค่าสมัครนั้นคงเป็นไปได้ยาก

นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา กล่าวว่า ขอให้นายกรัฐมนตรีเดินหน้าปรับรื้อระบบแอดมิชชั่น และหารูปแบบการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่เหมาะสม มีการนำคะแนนคุณธรรมเข้ามาเป็นเกณฑ์คัดเลือกทั้งประเทศด้วย.

Credit: http://www.thairath.co.th/content/edu/65307

"อภิสิทธิ์" จี้ศธ.แจกหนังสือเรียนแทนให้ยืม

เฉพาะระดับ ม.ปลาย-อาชีวะ "ชินวรณ์" รับลูกเร่งทำประชาพิจารณ์ หลังมีเสียงเรียกร้องจากผู้ปกครองและนักเรียนว่าจำเป็นต้องใช้หนังสือสำหรับการอ่านเพื่อสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย...

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้ ศธ.ทบทวนโครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ในปีการศึกษา 2553 ในส่วนของหนังสือยืมเรียนในระดับ ม.ปลาย และอาชีวศึกษาว่า ควรเป็นการแจกให้เลย ไม่ใช่ให้ยืมเรียน 2 ภาคเรียน เนื่องจากมีเสียงเรียกร้องจากผู้ปกครองและนักเรียนว่าจำเป็นต้องใช้หนังสือสำหรับการอ่านเพื่อสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ตนจึงได้หารือกับผู้บริหารองค์กรหลักและเห็นว่าให้นำนโยบายดังกล่าวไปจัดทำประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียนและผู้ปกครองก่อน โดยต้องทำประชาพิจารณ์ให้แล้วเสร็จในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อจะได้ประสานกับสถานศึกษาและสำนักพิมพ์ในการจัดหนังสือให้เด็กได้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2553 และจะรณรงค์ให้นักเรียนนักศึกษาบริจาคหนังสือคืนหลังจากที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว เพื่อลดต้นทุนของภาครัฐในอนาคต

นายชินวรณ์กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้หารือถึงความพร้อมในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ซึ่ นายอภิสิทธิ์ได้หยิบยกปัญหาการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา 4 เรื่อง คือ 1. การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมามุ่งเน้นแต่การปรับโครงสร้าง การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จะต้องก้าวผ่านปัญหานี้ไปให้ได้ 2. การปฏิรูปการศึกษาจะต้องเน้นพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก และต้องเปิดโอกาสความเสมอภาคของนักเรียนในชนบท ควรจัดตั้งกองทุนทางการศึกษาเพื่อความร่วมมือจัดการศึกษานอกรูปแบบของระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ พร้อม ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยวิจัย 3. มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและคณะทำงานแต่ละด้าน เช่น การพัฒนาคุณภาพครู การพัฒนาหลักสูตร กิจกรรมการเรียนการสอน และการประเมินผลของนักเรียน รวมทั้งจำนวนการรับนักเรียน โดยจะต้องให้แล้วเสร็จก่อนการจัดประชุมสมัชชาปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 เดือน มี.ค.นี้ และ 4. มอบหมายคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา และ ศธ.เป็นต้นแบบหลักในการจัดทำแผนงบประมาณตลอดระยะเวลา 10 ปีที่จะมีการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ว่าจะต้องใช้งบประมาณเท่าใด โดยมอบหมายให้นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน.

Credit:http://www.thairath.co.th/content/edu/65305

"ชินวรณ์"ล้อมคอกนร.ตีกัน

รมว.ศึกษาธิการ “ชินวรณ์” บี้ ตำรวจดำเนินคดีเด็ดขาดอาชีวะโหดฆ่าอริต่างสถาบัน สั่งทำวิจัยเจาะสาเหตุเปิดศึก 2 สถาบัน พร้อมทำบัญชีโรงเรียนกลุ่มเสี่ยงยกพวกตีกัน...

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 16 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์กรณีปัญหานักศึกษาโรงเรียนเทคโนโลยีดุสิตฆ่าล้างแค้นนักศึกษาเทคโนโลยีปทุมธานี หลังจากถูกนักศึกษาเทคโนโลยีปทุมธานียกพวกรุมทำร้าย ว่า ขณะนี้มอบให้นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ สั่งปิดโรงเรียนทั้งสองแห่งไปแล้ว 7 วัน หากยังไม่ดำเนินการแก้ปัญหา จะใช้มาตรการตามลำดับ

ทั้งนี้ ได้ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อดำเนินคดีนี้ อย่างเคร่งครัด เพราะเป็นปัญหาความรุนแรงซ้ำซากของทั้งสองโรงเรียน โดยจะให้ตำรวจเข้าไปตรวจสอบเหตุการณ์ สถานที่ และ มอบหมาย ให้กระทรวงศึกษาธิการ วิจัยเป็นรายกรณี โดยเฉพาะในกรณีของการเกิดความรุนแรงดังกล่าว เชื่อว่า หากพบว่า มีสาเหตุมาจากค่านิยมของโรงเรียน จะมอบให้คณะกรรมการของโรงเรียนรับผิดชอบ เพราะกรณีของโรงเรียนทั้งสองแห่งเวลามีการทำกิจกรรมโรงเรียน ก็จะมีการทะเลาะ ใช้ความรุนแรงเกือบทุกครั้ง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป นอกจากนี้ ยังมอบให้จัดทำบัญชีโรงเรียนกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาทะเลาะวิวาททั้งหมด เพื่อดำเนินการต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้บริหารสถาบันต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ นายชินวรณ์ ตอบว่า แน่นอน เมื่อโรงเรียนถูกปิด ผู้บริหารต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว

Credit: http://www.thairath.co.th/content/edu/65357