Tuesday, March 31, 2009

ค้านห้ามต่ำกว่า18 ปีเข้าร้านเน็ตเกิน 3 ชม.

นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทรเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) เปิดเผยว่าจากการรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายลูก 5 ฉบับที่ออกตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์พ.ศ.2551 ครั้งที่1/2552 พบว่าผู้ประกอบกิจการภาพยนตร์วีดิทัศน์/บริษัทเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในส่วน กลางและภูมิภาค

วัฒนธรรมจังหวัด เห็นตรงกันว่า ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับประกอบกิจการภาพยนตร์และวีดิ ทัศน์ ควรระบุเรื่องค่าธรรมเนียมการเพิ่มเครื่อง/เพิ่มพื้นที่ให้ชัดเจนกว่านี้ ส่วนค่าปรับและค่าธรรมเนียมประกอบกิจการถูกเกินไป




รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในการขออนุญาตประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์มีการเสนอ ข้อคิดเห็นมากที่สุด อาทิ ไม่ควรจำกัดเวลา ค่าปรับมีมูลค่าสูง ช่วงปิดภาคเรียน ควรพิจารณาเกณฑ์ให้รอบคอบ คำจำกัดความ ร้านเกม กับร้านอินเทอร์เน็ต ควรระบุความแตกต่างให้ชัดเจน และขอให้มีการตัดข้อความ ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าใช้บริการเกิน 3 ชั่วโมงและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนอื่นๆ ในหมวด 2 ของร่างกฎกระทรวงดังกล่าวออกเพราะเห็นว่าไม่เหมาะสม การบริการไม่ได้เป็นการเล่นเกมเสมอไป อาจจะมีการใช้งานอย่างอื่น เช่น พิมพ์งาน ใช้หาข้อมูล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สวช.จะนำข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อนำเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา ต่อไป

นอกจากนี้ยังเสนอหลักเกณฑ์ในการกำหนดประเภทภาพยนตร์ควรเพิ่มรางวัลนำจับ ให้เจ้าหน้าที่กรณีที่โรงภาพยนตร์ปล่อยให้ผู้ชมภาพยนตร์ไม่ตรงกับประเภทที่ กำหนดไว้ เช่น ห้ามอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีดูแต่ก็มีการอนุญาตให้ผู้ต่ำกว่า 20 ปีชมเป็นต้น รวมทั้งควรระบุรายละเอียดของประเภทให้ชัดเจนมากกว่านี้ ขณะที่ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาต เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ควรให้องค์กร คณะกรรมการ (เจ้าของสิทธิ์) รับรองความประพฤติผู้ขอใบอนุญาตด้วย เพราะเจ้าของสิทธิ์จะทราบว่าร้านที่ขายของจริงหรือของปลอม ซึ่งร้านขายของปลอมทำให้เกิดปัญหาการนำภาพยนตร์ไม่ผ่านการตรวจพิจารณา สื่อลามก มาจำหน่าย เป็นต้น

ร.ร.ถ่ายโอนโอด!ท้องถิ่นหวงอำนาจฮุบแจกเรียนฟรี15ปี

ร.ร.มัธยม 245 ที่ถ่ายโอนให้ อปท. น้ำตาเช็ดหัวเข่า โวย อบจ.กลับคำ ไม่ยอมมอบอำนาจบริหารจัดการให้ ร.ร. ระบุ อบจ.ไม่ยอมโอนเงินรายหัวให้สถานศึกษา แค่ ร.ร.จะซื้อชอล์กลังเดียวต้องวิ่งมาเบิกจาก อบจ. ซ้ำไม่ยอมโอนเงินค่าของฟรี 4 อย่างตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แถมรวบอำนาจจัดซื้อตำราเรียนเอง อบจ.บางแห่งรวบจัดซื้อชุด นร.และอุปกรณ์การเรียนด้วย

นายอนุพงค์ ปุณฑริกกุล ผอ.ร.ร.เนินสง่าวิทยา จ.ชัยภูมิ ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดองค์บริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "การศึกษาที่มีคุณภาพเท่านั้นที่จะช่วยชาติได้" ที่ รร.ริยัล ซิตี้ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา ใจความตอนหนึ่งว่า สมาคมในฐานะที่เป็นตัวแทนของโรงเรียนมัธยม 245 แห่ง ที่ถ่ายโอนไปอยู่ กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด 31 แห่ง ได้ยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผ่านทาง รศ.ดร.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เพื่อขอให้ช่วยสางปัญหาที่โรงเรียนต้องเผชิญกับสภาพยากลำบากในการบริหาร จัดการศึกษาหลังโอนไปอยู่กับ อบจ.

นายอนุพงค์ กล่าวต่อว่า โรงเรียนขาดอิสระในการบริหารจัดการศึกษา เพราะ อบจ.ไม่ยอมมอบอำนาจในการบริหารโรงเรียนให้แก่ผู้อำนวยการโรงเรียนดังเช่นที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เคยมอบอำนาจให้ ทำให้การบริหารจัดการขาดความคล่องตัว โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการด้านการเงิน อบจ.ส่วนใหญ่ไม่ยอมโอนเงินอุดหนุนรายหัวทั้งหมดให้แก่โรงเรียน เหมือนเช่นที่ สพฐ.ปฏิบัติ มีเพียง อบจ.ไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ยอมโอนเงินอุดหนุนให้โรงเรียน

แต่ก็ดำเนินการล่าช้ามาก โรงเรียนส่วนใหญ่ต้องตกอยู่ในสภาพไม่มีเงินเลยสักบาท ต้องการจัดซื้ออะไรแม้แต่ชอล์กแค่ลังเดียวก็ต้องวิ่งมาขอให้ อบจ.ดำเนินการจัดซื้อให้ แต่ก็ล่าช้าไม่ทันกับเหตุการณ์ สร้างปัญหาต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียนอย่างมาก โดยเฉพาะบางโรงเรียนที่อยู่ห่างจากสำนักงานของ อบจ.เป็นร้อยกิโลเมตร ต้องการจะซื้ออุปกรณ์อะไรสักอย่างต้องเสียเวลาเดินทางไปกลับหลายชั่วโมง ต่างจากสมัยก่อนที่อยู่กับ สพฐ.ซึ่งจะโอนเงินค่ารายหัวให้โรงเรียนโดยตรง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น นักเรียนทำอุปกรณ์การเรียนชำรุดต้องรีบจัดซื้อทดแทนโดยด่วน โรงเรียนก็สามารถจัดซื้อได้เลยทันที

"เพราะฉะนั้นจึงอยากให้ อบจ.มอบและกระจายอำนาจ 4 ด้านให้โรงเรียน คือ บริหารจัดการ วิชาการ การเงิน และบุคคล เช่นเดียวกับที่กระทรวงศึกษาธิการกระจายอำนาจให้โรงเรียนในสังกัด รวมทั้งขอให้ อบจ.โอนเงินรายหัวให้โรงเรียนบริหารจัดการเองด้วย ซึ่งจริงๆ แล้ว ก่อนหน้าที่โรงเรียนมัธยมจะถ่ายโอนไป อยู่กับ อบจ.นั้น มีการตกลงเงื่อนไขกันออกมาเป็นมติของคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กร ปกครอง (กกถ.) ว่า อบจ.จะต้องให้อิสระในการบริหารจัดการศึกษาแก่โรงเรียน รวมทั้งต้องโอนเงินรายหัวให้โรงเรียนด้วย" นายอนุพงค์ กล่าว

นายอนุพงค์ กล่าวต่อว่า อบจ.ยังไม่ยอมปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ดำเนินการตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ อบจ.ทุกแห่งไม่ยอมจัดสรรงบประมาณค่าตำราเรียนให้โรงเรียนไปดำเดินการจัดซื้อ ตำราเรียน แต่ อบจ.กลับเป็นผู้จัดซื้อเองแล้วส่งให้โรงเรียน ยิ่งไปกว่านั้น อบจ.บางแห่งยังไม่ยอมจัดสรรเงินค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนให้สถาน ศึกษาไปดำเนินการแจกเงินให้ผู้ปกครอง กลับรวบจุดซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนเองทั้งหมด นอกจากนั้นโรงเรียนในสังกัด อปท.ยังไม่ได้รับการจัดสรรค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยมีการกำหนดให้ท้องถิ่นใช้ เงินของตัวเองอุดหนุนเป็นค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน แต่ อบจ.บางแห่งก็ไม่ได้มีรายได้มากนัก รวมทั้งยังได้รับการจัดสรรค่าชุดนักเรียนแค่ครึ่งเดียวต่างจากโรงเรียน สังกัด สพฐ.ที่ได้รับการจัดสรรเต็มจำนวน เพราะฉะนั้นขอให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหานี้และจัดสรรงบค่ากิจกรรมพัฒนาผู้ เรียนและค่าชุดนักเรียนเพิ่มเติมให้ด้วย

"จริงๆ แล้ว การโอนไปอยู่กับ อบจ.ก็มีส่วนดี เช่นโรงเรียนได้อัตราครูเต็มที่ต่างจากสมัยอยู่กับ สพฐ. บางโรงเรียนยังได้รับการจัดสรรอุปกรณ์ด้วย แต่ข้อเสียคือ ขาดอิสระในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะบริหารการเงิน เพราะ อปท.ไม่ยอมโอนเงินรายหัวให้โรงเรียนโดยตรง แม้ว่าตามระเบียบ อบจ.ต้องใช้เงินรายหัวนี้ตามข้อบัญญัติงบประมาณที่โรงเรียนกำหนดร่วมกับ อบจ. แต่บาง อบจ.ก็ดำเนินการใช้เงินล่าช้า และหากไม่สามารถใช้เงินรายหัวให้หมดภายในปีงบประมาณ เงินรายหัวก็จะกลายเป็นเงินสะสมของ อบจ." นายอนุพงค์ กล่าว
ต่อข่าว อบจ.ฮุบเรียนฟรี

ร.ร.ที่อุบลฯยังไม่จ่ายค่าชุดนร.โอนเงินไม่ครบ

ส่วนที่ จ.อุบลราชธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 30 มีนาคม ผู้ปกครอง ชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิก อบต. ต.นาโพธิ์ อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี กว่า 200 คน นำโดยนายจีระศักดิ์ ทองหล่อ ประธานศิษย์เก่าโรงเรียนโนนเขืองจงเจริญ ได้ชุมนุมประท้วงที่บริเวณหน้าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 5 อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี เพื่อขับไล่นายเก่งกาจ แสนเลิง ผอ.โรงเรียนบ้านโนนเขืองจงเจริญ ออกนอกพื้นที่ โดยกล่าวหาว่าตลอด 8 ปีที่นายเก่งกาจเป็นผู้อำนวยการมีพฤติการณ์ไม่โปร่งใส การบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ นักเรียนมีปัญหาการเรียนการสอนตกต่ำ

ที่สำคัญคือ เงินเรียนฟรี 15 ปี ที่กระทรวงศึกษาธิการโอนให้โรงเรียนเพื่อมอบให้ผู้ปกครองไปซื้อชุดนักเรียน จนถึงวันนี้โรงเรียนยังไม่ยอมจ่ายเงินให้ผู้ปกครอง ทำให้ชาวบ้านทนพฤติกรรมดังกล่าวไม่ไหว จึงเดินทางมาชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ให้ออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด

ด้านนายเก่งกาจ กล่าวว่า การชุมนุมประท้วงขับไล่ในครั้งนี้ น่าจะมีเบื้องหลัง เนื่องจากมีการขัดแย้งกันภายในโรงเรียน โดยการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม สำหรับข้อกล่าวหาของชาวบ้าน รวม 11 ข้อนั้น ขอปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ยินดีที่จะให้ข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการที่ทางเขตพื้นที่ลงมาสืบข้อเท็จจริง

ส่วนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับเรื่องที่โรงเรียนยังไม่จ่ายเงินค่าชุดนักเรียน ให้แก่ผู้ปกครองนั้น เนื่องจากโรงเรียนมีนักเรียนทั้งหมด 560 คน ได้รับเงินที่จะต้องจ่ายให้แก่ผู้ปกครองนักเรียน 296,550 บาท ซึ่งโรงเรียนจะต้องหาเงินจ่ายเพิ่มอีก 1.8 หมื่นบาท เพราะระดับอนุบาลและมัธยมได้รับเงิน 80% แต่โรงเรียนต้องจ่าย 100% โรงเรียนไม่มีเงินดังกล่าว จึงทำให้จ่ายเงินให้ผู้ปกครองช้า ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการโอนเงินเข้ามายังโรงเรียนเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งโรงเรียนติดภาระเรื่องการแข่งขันกีฬา จึงทำให้ไม่ได้จ่ายเงินดังกล่าวได้

ต่อมานายวิชัย แสงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) อุบลราชธานี เขต 5 ได้ออกมาพบผู้ชุมนุม และเชิญตัวแทนชาวบ้านเข้าประชุมและรับเรื่องร้องเรียนของชาวบ้าน โดยจะให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย เบื้องต้นจะตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง หากการตรวจสอบข้อมูลหลักฐานแล้วพบว่าผู้ที่ถูกร้องเรียนมีความผิดจริง ก็จะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อพิจารณาย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านต่างพอใจ ก่อนพากันแยกย้ายกลับ

นายวิชัย กล่าวว่า ภายหลังได้รับเรื่องร้องเรียน ล่าสุดได้สั่งให้โรงเรียนดำเนินการจ่ายเงินให้แก่ผู้ปกครองนักเรียน เพื่อนำไปซื้อชุดนักเรียน ภายในวันที่ 31 มีนาคม และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นความบกพร่องของทางโรงเรียนที่ไม่สามารถ ทำการเบิกจ่าย

เผยชื่อ 29 โรงเรียนมีเก้าอี้ว่างรับเด็ก ม.1 เพิ่ม

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินการรับนักเรียนเข้าเรียนต่อชั้น ม.1 ในปีการศึกษา 2552 โดยวิธีการจับสลากไปแล้วนั้น ปรากฏว่าขณะนี้มีโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ยังมีที่ว่างรับนักเรียนชั้น ม.1 ได้อีก 29 แห่ง ดังนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) กทม. เขต 1 รร.มัธยมวัดธาตุทอง รร.นนทรีวิทยา รร.ไตรมิตรวิทยาลัย รร.พุทธจักรวิทยา รร.มัธยมวัดเบญจมบพิตร รร.มัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ รร.วัดน้อยนพคุณ รร.วัดบวรนิเวศ รร.วัดราชบพิตร รร.วัดราชาธิวาส รร.สระเกศ รร.วัดสังเวช สพท.กทม.เขต 2 รร.จันทร์หุ่นบำเพ็ญ รร.ดอนเมืองจาตุรจินดา รร.เทพศิรินทร์ร่มเกล้า รร.บางกะปิสุขุมนวพันธ์อุปถัมภ์ รร.ลาดปลาเค้าพิทยาคม สพท.กทม.เขต 3 รร.ทวีธาภิเศก 2 รร.ทวีวัฒนา รร.พิทยาลงกรณ์พิทยาคม รร.มัธยมวัดดาวคนอง รร.มัธยมวัดดุสิตาราม รร.วัดน้อยใน รร.วัดบวรมงคล รร.วัดประดู่ในทรงธรรม รร.วัดปากน้ำวิทยาคม รร.วัดพุทธบูชา รร.วัดราชโอรส และ รร.สวนอนันต์

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าโรงเรียนระบุว่างบประมาณที่ได้รับจัดสรรไม่เพียงพอต่อ การจัดซื้อหนังสือเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้แจกนักเรียน โดยมีการมองว่าโรงเรียนอาจจะฮั้วกับสำนักพิมพ์ขายหนังสือในราคาแพง นั้น ตนคิดว่าโรงเรียนคงไม่คิดฮั้ว แต่คงเลือกหนังสือที่แพงทั้งหมด ด้วยเหตุนี้จึงมีการกำชับกับโรงเรียนว่า ขอให้มีร้านค้าหรือตัวแทนจำหน่ายหรือสำนักพิมพ์ ไม่ต่ำกว่า 3 แห่งมาเสนอขายหนังสือเล่มที่โรงเรียนต้องการ เพื่อเปิดโอกาสให้โรงเรียนสามารถเลือกซื้อในราคาที่ถูกที่สุด ทั้งนี้ตนขอยืนยันว่างบฯ ที่จัดสรรให้เพียงพอแน่นอน ถ้าโรงเรียนจัดซื้อตามแนวทางที่ สพฐ.กำหนดไว้ โดยไม่จัดซื้อหนังสือเรียนเป็นชุดที่ขายพร้อมกับแบบเรียนสำเร็จรูป ซึ่งจะมีราคาแพง

ด้าน นายเติบ ใยเจริญ ผอ.สพท.กทม.เขต 1 กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีโรงเรียนใดใน สพท.กทม.เขต 1 ขอขยายจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียนเป็น 50 คนมาเลย ซึ่งอาจเป็นเพราะอยู่ระหว่างการเกลี่ยนักเรียนที่พลาดจากการสอบ และการจับฉลากไปยังโรงเรียนในสหวิทยาเขตเดียวกัน อย่างไรก็ตามการแจ้งขอขยายจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียนนั้น ทางโรงเรียนจะต้องมีการประชุมกับคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อขอความเห็นชอบก่อน จากนั้นถึงจะแจ้งมายังเขตพื้นที่ฯ เพื่อพิจารณาต่อไป.

สพฐ.ชี้งบฯเพียงพอซื้อตำราตามจำเป็น

ดร. สมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงการติดตามผลโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ หลังโอนเงินให้สถานศึกษาว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดตั้งคณะกรรมการติดตามผลการดำเนินงานโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพแบ่งเป็น 6 สายทั่วประเทศ เริ่มออกติดตามผลวันที่ 30 มี.ค.นี้ ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าโรงเรียนหลายแห่งมีปัญหาได้รับงบประมาณในการจัดซื้อ หนังสือเรียนไม่เพียงพอนั้น ตนเห็นว่าหากทางโรงเรียนเลือกซื้อหนังสือเรียนตามความจำเป็น และจากประกาศรายชื่อหนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาฯ เชื่อ ว่าจะสามารถซื้อได้เพียงพอ แต่หากซื้อหนังสือชุดที่ทางร้านจัดขายเหมือนที่ผ่านมาก็คงไม่เพียงพอ เนื่องจากมีแบบฝึกหัดพ่วงอยู่ด้วย และจากการที่ตนลงพื้นที่ ได้รับคำยืนยันจากผู้บริหารโรงเรียนหลายแห่งว่าเงินที่ได้รับเพียงพอ


รอง เลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า หากงบฯที่ได้รับไม่เพียงพอซื้อหนังสือจริง ก็สามารถนำเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานส่วน หนึ่งมาเจียดจ่ายแทนได้ แต่หากไม่พอจริงๆ ก็มีงบฯบางส่วนที่จะสนับสนุนเพิ่มเติม โดยให้รายงาน สพฐ. ซึ่งคุณหญิง กษมา วรวรรณ อยุธยา เลขาธิการ กพฐ.สั่งการให้รายงานเข้ามาด้วยว่าโรงเรียนจัดซื้อหนังสืออะไรบ้าง เพื่อ เปรียบเทียบรายชื่อหนังสือและราคากับโรงเรียนอื่น จะได้ทราบว่าเงินไม่เพียงพอเพราะอะไร ทั้งนี้ อยากให้โรงเรียนจัดซื้อหนังสือเรียนให้เรียบร้อยก่อน หากเจอปัญหาก็ให้รายงานเข้ามาเพื่อ สพฐ.จะได้แก้ไข ไม่ใช่ปัญหายังไม่เกิดแต่พูดออกมาก่อนเพราะความวิตกกังวล


ต่อข้อถามว่าในส่วนของชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน ทางโรงเรียนสามารถจัดซื้อเองโดยไม่จ่ายเงินสดให้กับผู้ปกครองได้หรือไม่ ดร. สมเกียรติกล่าวว่า สามารถทำได้ แต่ต้องประชุมหารือและได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน ซึ่งบางแห่งก็มีความประสงค์ให้โรงเรียนดำเนินการให้ อาทิ โรงเรียนชาวเขาหรือโรงเรียนในพื้นที่กันดารหรือห่างไกล อย่างไรก็ตาม ทางโรงเรียนต้องแจ้งมายังเขตพื้นที่การศึกษา และต้องเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ โรงเรียนจัดซื้อให้ด้วย.

Friday, March 27, 2009

แฉปิดเทอมเด็กเล่นเกมร้านเน็ตเพียบ

รศ.ดร.อรุณี อินทรไพโรจน์ ผอ.สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า ช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. ของทุกปีจะเป็นช่วงปิดภาคเรียน เด็กนักเรียนและนักศึกษาเป็นจำนวนมาก จะใช้ เวลาว่างในช่วงปิดเทอมไปอยู่ในร้านอินเตอร์เน็ตต่างๆ เพื่อเล่นเกมออนไลน์เกือบตลอดทั้งวัน ทั้งที่การเล่นเกมที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 1-2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น หากมากกว่านั้นถือว่าหมกมุ่น ดังนั้น ผู้ปกครองควรหากิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในช่วงปิดเทอมนี้ให้ลูกหลานได้ทำ เช่น โครงการเข้าค่ายพุทธธรรม ค่ายดนตรี ค่ายกีฬา ขณะเดียวกัน มทร.ธัญบุรี เตรียมที่จะเปิดหลักสูตร การอบรมผู้ปกครองให้รู้เท่าทันเด็ก เกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้รู้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศที่ลูกหลานใช้อยู่คืออะไร สอบถาม โทร. 0-2549-4004



ด้าน นายบุญรัตน์ วงศ์ใหญ่ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กำลังของสารวัตรนักเรียนทั้งประเทศมีไม่กี่ร้อยคน การเข้าไปติดตามดูแลให้ทั่วถึงคงทำได้ลำบาก แต่ก็ยังมีเครือข่ายคอยช่วยเหลือ อีกทั้งปัญหาสำคัญขณะนี้ก็คือช่วงเวลานี้เป็นช่วงปิดเทอมเด็กไม่ได้หนีเรียน ไปเล่นเกม สารวัตรนักเรียนคงทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่ทำได้เวลานี้ก็คือขอให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานให้ดี รวมทั้งให้ทางกระทรวงวัฒนธรรมขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการ ไม่ให้เด็กเล่นเกมกันตั้งแต่ร้านเปิดจนร้านปิด ขณะเดียวกันอาจจะต้องเร่งหากิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วม หันมาใช้เวลาว่างในทางสร้างสรรค์ดีกว่า


ผู้ สื่อข่าวได้ออกตระเวนเพื่อตรวจสอบไปยังร้านอินเตอร์เน็ตต่างๆที่มีอยู่ใน พื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดพบว่ามีเด็กนักเรียน โดยเฉพาะเด็กในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เข้ามาเล่นเกมออนไลน์ในร้านอินเตอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก จากการสอบถามผู้ ประกอบการร้านอินเตอร์เน็ตต่างได้รับคำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ตั้งแต่สถานศึกษาเริ่มปิดเทอม ปรากฏว่ามีเด็กนักเรียนเข้ามาใช้บริการในร้านเพิ่มมากขึ้น บางร้านมีเด็กเข้ามาเล่นเกมเต็มทุกเครื่องตั้งแต่เปิดร้านยันปิดร้าน หรือไม่ก็มีการนั่งจองเครื่องเพื่อรอใช้บริการเล่นเกมกัน ผู้ปกครองบางคนมาตามถึงร้านเด็กไม่ยอมกลับบ้านก็ยังมี.

อ้ำอึ้งอุ้มตกค้าง กยศ. รอลุ้นบอร์ดไฟเขียว

ดร. สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เสนอให้บอร์ด กยศ.พิจารณาให้สิทธิ์นักศึกษาตกค้างที่มหาวิทยาลัยประกาศว่ามีสิทธิ์กู้แต่ ไม่ได้กู้ ในปี การศึกษา 2551 จำนวน 11,288 คน ให้ได้รับสิทธิ์กู้เฉพาะค่าเล่าเรียน เป็นเงิน 431.8 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมได้ให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายของ กยศ. ไปตรวจสอบว่า หากปล่อยกู้ย้อนหลังให้กับนักศึกษากลุ่มนี้ ขัดกับข้อกฎหมายหรือไม่ และให้นำมาเสนอบอร์ด กยศ.อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติจะให้เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่จะได้สิทธิ์กู้ยืมในปีการ ศึกษา 2552 โดยไม่นับรวมกับโควตาของปี 52 และปีถัดไป


เลขาธิการ กกอ. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ขยายเวลาการชำระหนี้จาก 15 ปี เป็น 20 ปีด้วย โดยที่ประชุมมีมติว่าขอให้ยึดหลักการการกำหนดการชำระหนี้ตามเดิมคือภายในเวลา 15 ปีก่อน แต่หากผู้กู้มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจค่อยพิจารณาขยายเพิ่มเป็น 20 ปี แต่ไม่เกินจากนี้ เพื่อเป็นการช่วยผ่อนคลายในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ได้ขอให้มหาวิทยาลัยรวบรวมรายชื่อคนที่ตกค้างไม่ได้กู้ในปี 51 และยังเรียนอยู่ว่ามีอยู่จำนวนเท่าไร ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ได้รวบรวมมาให้แล้ว ส่วนที่ว่านักศึกษาจะต้องผ่อนชำระเงินค่าเล่าเรียนที่ค้างชำระในเทอมที่ผ่าน มาต่อหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละแห่ง.

เข้าใจผิดค่าเทอมมหา'ลัย

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงกรณีมีผู้ร้องเรียนว่า มหาวิทยาลัยรัฐที่เปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือ ออกนอกระบบ เก็บค่าเล่าเรียนบางโปรแกรมจากนักศึกษาที่ผ่านระบบรับตรงแพงกว่าที่ผ่านระบบ กลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือ แอดมิชชั่นกลาง และกรณีของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งเก็บค่าเล่าเรียนแพงเกินไป ว่า จากการส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบตนได้รับรายงานว่า กรณีของมหาวิทยาลัยในกำกับนั้น เป็นการเข้าใจผิดของผู้ปกครองที่คิดว่า เป็นหลักสูตรเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้วเป็นคนละหลักสูตร ส่วนกรณีของมหาวิทยาลัยเอกชนนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูล เพราะระบบของมหาวิทยาลัยเอกชนมีความซับซ้อนมากกว่ามหาวิทยาลัยรัฐ อีกทั้งต้องมีการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายจริงก่อนว่าสูงกว่าที่ผู้ปกครองควรจะ จ่ายหรือไม่

“ผมได้เข้าไปดูเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยที่ผู้ปกครองร้องเรียน พบว่า มหาวิทยาลัยมีการนำข้อมูลทุกรายวิชาและค่าเล่าเรียนขึ้นเว็บเรียบร้อย แต่ผู้ปกครองอาจไม่ทราบจึงไม่ได้เข้าไปดูจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดกัน ทั้งนี้ผมได้ย้ำกับทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แล้วว่า ควรให้ทุกมหาวิทยาลัยนำหลักสูตรและค่าใช้จ่ายที่จะเก็บมาขึ้นเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้ปกครองทราบล่วงหน้าว่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่” รมช.ศธ.กล่าว.

โรงเรียนมึนเงินค่าหนังสือเรียนไม่พอ

ซื้อได้แค่บางส่วนไม่ครบกลุ่มสาระ เผยเด็กอาจต้องถ่ายเอกสารเอง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมซักซ้อมแนวปฏิบัติการดำเนินโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพให้แก่หน่วยงานทุกสังกัดที่มีสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ มอบให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นผู้ประสานงาน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่า ศธ.ได้ชี้แจงแนวปฏิบัติตามที่ศธ.ดำเนินการต่อที่ประชุม โดยเฉพาะในกรณีการสละสิทธิ์ของผู้ปกครองในส่วนของค่าเครื่องแบบนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนนั้น หน่วยงานสามารถนำเงินจากการสละสิทธิ์ไปจัดให้แก่สถานศึกษาที่ด้อยโอกาสใน สังกัดตนเองได้ตามความเหมาะสม และความเห็นชอบของหน่วยงาน ซึ่งในส่วนของ ศธ.จะจัดสรรให้แก่สถานศึกษาที่ขาดแคลนประมาณ 600 แห่งทั่วประเทศ

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีที่มีข่าวว่าหลายโรงเรียนไม่กล้ารับนักเรียนเพิ่ม เพราะเกรงว่างบประมาณเรียนฟรีฯ จะมีไม่เพียงพอ นั้น ไม่ต้องเป็นกังวลว่าเงินจะเพียงพอหรือไม่ เพราะรัฐบาลจะจัดสรรเงินให้ตามความเป็นจริงเท่ากับจำนวนนักเรียน โดยรัฐบาลได้เตรียมงบประมาณเพื่อจัดสรรสำหรับโครงการนี้ประมาณ 18,000 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมเด็กได้ถึง 12 ล้านคน

ด้าน นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีประมาณ 541,000 คน ซึ่งขณะนี้ สอศ.ได้โอนเงินเรียนฟรี 15 ปีฯ ที่จะจ่ายให้แก่ผู้ปกครองไปยังวิทยาลัยต่าง ๆ ทุกแห่งแล้ว และบางวิทยาลัยก็ได้จ่ายเงินให้ผู้ปกครองแล้ว เช่นกัน ส่วนหนังสือเรียนของ สอศ.นั้น ขณะนี้ได้ทำการตรวจรายชื่อหนังสือไปแล้วกว่า 1,000 เล่ม และได้นำรายชื่อหนังสือขึ้นเว็บไซต์ของ สอศ. www.vec.go.th แล้ว ซึ่งสถานศึกษาสามารถเข้าไปตรวจสอบได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่รัฐจัดสรรเงินสำหรับการจัดซื้อหนังสือเรียนเป็นรายหัวนักเรียน โดยให้โรงเรียนเป็นผู้จัดซื้อนั้น ในทางปฏิบัติราคาหนังสือเรียนแต่ละชั้นปีจะสูงกว่าที่รัฐจัดสรรให้ บางระดับสูงถึงเกือบเท่าตัว ทำให้โรงเรียนสามารถซื้อหนังสือได้เพียงบางส่วนไม่ครบทุกกลุ่มสาระการเรียน ขณะเดียวกันโรงเรียนก็ไม่กล้าเก็บเงินจากผู้ปกครองเพื่อซื้อหนังสือเพิ่ม เติม เพราะเกรงว่าจะถูกร้องเรียน อย่างไรก็ตามขณะนี้หลายโรงเรียนได้เตรียมหาทางออกไว้แล้ว เช่น กรณีที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ก็จะนำเงินรายได้ของโรงเรียนมาจัดพิมพ์เนื้อหา เป็นเอกสารเพิ่มเติมแจกให้นักเรียน ขณะที่บางโรงเรียนอาจให้นักเรียนซื้อหนังสือเองหรือนำเอกสารไปถ่ายเอกสาร เพิ่มเติมตามความสมัครใจ เป็นต้น.

"จุรินทร์”ย้ำแจกเงินซื้อชุดนร.-อุปกรณ์ทันเปิดเทอม

“จุรินทร์” ย้ำ สถานศึกษาต้องแจกเงินให้ผู้ปกครองซื้อชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียนทันเปิดเทอม เชิญ 10 หน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด มาชี้แจงแนวดำเนินการตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพของ ขอให้ยึดศธ.เป็นต้นแบบปฏิบัติเพื่อให้นโยบายไปในทิศทางเดียวกัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ได้เชิญ 10 หน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดมาชี้แจงแนวปฏิบัติตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ เพื่อให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา ให้ทุกกระทรวงที่มีสถานศึกษาในสังกัดยึดแนวทางที่ศธ.ปฏิบัติตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ไปเป็นต้นแบบในการดำเนินการ เพื่อให้การดำเนินการของนโยบายเรียนฟรีสอดคล้องกันทุกกระทรวง โดยให้ ศธ.เป็นผู้ประสานกับทุกกระทรวงและหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดมาทำความเข้าใจถึงแนวทาง

ดังนั้น ศธ. พร้อมด้วยหน่วยงานใน ศธ.เอง ที่มีสถานศึกษาอยู่ในสังกัด เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สำสักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) และ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(สป.) รวมถึงผู้แทนจากนอกกระทรวงศึกษา ได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีโรงเรียนในสังกัด 1,039 โรง, เมืองพัทยา ,

สถาบันพัฒนศิลป์ สังกัดกรมศิลปากร ซึ่งมีวิทยาลัยในสังกัด 15 แห่ง แบ่งเป็นวิทยาลัยนาฏศิลป์ 12 แห่ง และวิทยาลัยช่างศิลป์ 3 แห่ง , สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีสถานศึกษา 399 แห่ง มีสามเณร 54,309 รูป, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งดูแลโรงเรียน ตชด.อยู่ 182 โรง ได้มาประชุมหารือร่วมกันเพื่อให้แนวปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด แต่หากกระทรวงใดยังไม่มีความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ หากต้องการให้ศธ.ไปช่วยชี้แจงให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ก็ให้นัดประชุมพร้อมกัน ศธ.ยินดีที่จะไปชี้แจงถึงแนวทางปฏิบัติให้ทราบได้

นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับกรณีการสละสิทธิ์ หากโรงเรียนในกระทรวงอื่นมีผู้สละสิทธิ์ ก็ขอให้ทางโรงเรียนนำเงินจำนวนนั้นไปมอบให้กับต้นสงกัด เพื่อนำเงินนั้นไปจัดให้กับโรงเรียนที่ด้อยโอกาสในสังกัดนั้น ๆ ตามความเหมาะสมและตามความเห็นของแต่ระกระทรวงต่อไป แต่สำหรับในส่วนของ ศธ.นั้นจะนำเงินที่มีผู้สละสิทธิ์ไปมอบให้กับโรงเรียนที่ด้อยโอกาส จำนวน 600 โรงทั่วประเทศ

รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า สำหรับการจ่ายเงินให้กับผู้ปกครองนั้น โรงเรียนแต่ละแห่งจะนัดผู้ปกครองมารับเงินไม่พร้อมกัน อยู่ที่ว่าทางโรงเรียนจะนัดเมื่อใด แต่ขอให้ทางโรงเรียนจ่ายเงินให้ผู้ปกครองไปซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การ เรียนได้ทันก่อนเปิดเทอม ซึ่งขณะนี้ก็มีโรงเรียนบางแห่งนัดผู้ปกครองให้มารับเงินไปซื้อชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนไปแล้ว และทางโรงเรียนก็ไม่ต้องกังวลเรื่องจำนวนนักเรียนด้วย เพราะรัฐบาลพร้อมที่จะจ่ายเงินให้ตามจำนวนเด็กที่มีจริงอยู่แล้ว

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ตนได้ลงนามตั้งสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชนระดับจังหวัด ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สงขลา และสตูล และสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชนระดับอำเภอ ใน 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ทั้งนี้เด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนหนึ่ง ยังอ่านไม่ออกเขียนภาษาไทยไม่ได้ ซึ่งจะทำให้นักเรียนไม่เข้าใจตำราเรียน ส่งผลถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มวิชาหลักที่มีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ของภาคใต้ทั้งหมด และผลการสอบโอเน็ตใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในลำดับที่ 74 75 76 ซึ่งเป็นลำดับสุดท้ายของประเทศ

อย่างไรก็ตามในปีการศึกษา 2553 ศธ. จะทุ่มงบ 1400 ล้านบาท ในการพัฒนาการเรียนการสอนทั้งหมด เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับในปีการศึกษา 2552 จะใช้งบประมาณของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการพัฒนาไปก่อน

ตลาดวิชาวิทย์-คณิตจุฬาฯ เสร็จพ.ค.นี้ ผลิตวิดีทัศน์การสอนครู-นร.ระบบออนไลน์

โครงการตลาดวิชาวิทย์-คณิต คณะวิทย์ จุฬาฯ วิดีทัศน์การสอนลงระบบออนไลน์ เสร็จ พ.ค.นี้ เชื่อแก้เด็กไทยเรียนอ่อน ครูขาดโอกาสอบรมและเรียนรู้องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ได้แน่นอน

ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการตลาดวิชาวิทยาศาสตร์ (Science for All) คณิตศาสตร์ ได้ร่วมมือกับทบวงมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และเครือข่ายอุดมศึกษา จัดทำเนื้อหาวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ โดยแต่ละวิชาจะมีคณะทำงานเพื่อจำแนกและกำหนดเนื้อหาแต่ละหัวข้อย่อยวิชาละ 100 หัวข้อ โดยครอบคลุมเนื้อหา ม.ปลาย และปี 1

จากนั้นจะเสาะหาครู อาจารย์ นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่ มีทักษะการสอนวิทยาศาสตร์เข้าใจ เนื้อหาวิชามากกว่าการทำข้อสอบได้ มาจัดทำเป็นวิดีทัศน์การสอนลงระบบ ออนไลน์ ขึ้นเว็บไซต์ให้ครู นักเรียน นักศึกษา ใช้เป็นช่องทางหาความรู้เพิ่มเติมให้เสร็จทันภายในการเปิดภาคเรียนที่ 1/2552 หรืออีก 3 เดือนข้างหน้า เพื่อช่วยครูที่ไม่มีโอกาสไปอบรมองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่นอกสถานที่ รวมทั้งนักเรียนที่เรียนในห้องเรียนไม่เข้าใจ หรือไม่ทันเพื่อน ก็สามารถมาเรียนเพิ่มเติมผ่านโครงการตลาดวิชานี้ได้ เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาเด็กไทยอ่อนวิทย์ได้

ศ.ดร.สุพจน์ กล่าวว่า คณะทำงานจัดกลุ่มเนื้อหาในแต่ละวิชาจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มีนาคมนี้ ในส่วนของการจัดเนื้อหาลงไปในเว็บไซต์จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายเทคโนโลยี สารสนเทศของจุฬาฯ ส่วนการผลิตและถ่ายทำอยู่ระหว่างการประสานงาน ทั้งนี้ หากไม่สามารถจัดทำโครงการฯ ให้เสร็จสิ้นทั้ง 100% อย่างน้อยในช่วงเปิดภาคเรียน ในทุกวิชาจะต้องจัดทำเนื้อหาที่ต้องเรียนก่อนของชั้น ม.4-ม.6 ในทุกวิชาให้แล้วเสร็จ เพื่อให้เด็กใช้ช่องทางนี้ ควบคู่กับการเรียนในห้องเรียน ซึ่งตลาดวิทยาศาสตร์ ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเด็กเรียนกวดวิชา เพราะโครงการฯ มีขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาได้มีช่องทาง เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในสาระวิชาที่เรียน

หรือแม้กระทั่งอาจารย์ผู้สอน จะได้เรียนรู้วิธีการสอนที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจง่าย โดยไม่มีการสอนสูตรลัด หรือสูตรในการทำข้อสอบ แต่จะเน้นสอนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพราะเชื่อว่าหากนักเรียนมีความเข้าใจในสาระวิชานั้น จะสามารถทำข้อสอบได้ในทุกรูปแบบ ที่สำคัญโครงการตลาดวิชาวิทยาศาสตร์จะเป็นส่วนหนึ่งในการดึงความรู้ด้าน วิทยาศาสตร์ของเยาวชนในประเทศให้สูงขึ้น เพื่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป

Friday, March 20, 2009

กำชับ สพท.กทม.2 อย่าขยายห้องเรียน

คุณ หญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงการรับนักเรียนชั้น ม.1 ประจำปีการศึกษา 2552 ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ได้ปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่าตนกำชับและขอร้องการรับนักเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) กรุงเทพมหานคร เขต 2 ไม่ให้ขยายห้องเรียนเกิน 50 คนต่อห้อง ซึ่งปัญหาเด็กล้นในเขตนี้น่าจะเบาบางลง เพราะกรุงเทพมหานครเพิ่มปริมาณการรับนักเรียนชั้น ม.1 มากขึ้น และ สพท.กทม. เขต 2 ได้เปิดชั้น ม.1 เพิ่มใน ร.ร.บางบัว ร.ร.พิบูลย์อุปถัมภ์ ซึ่งแม้ตัวเลขที่รายงานผลการรับสมัครจะมียอดสมัครเกินใน สพท.กทม.เขต 2 อยู่หลายเท่า แต่ก็คงเหมือนทุกปีที่มีนักเรียนจากรอบนอก เช่น จ.นนทบุรี ปทุมธานี มาสมัคร เมื่อไม่ได้ก็จะกลับไปเรียนในพื้นที่ และผู้ปกครองเริ่มยอมรับในโรงเรียนมากขึ้น เห็นได้จากยอดสมัครของโรงเรียนเล็กๆ รอบนอก กทม. หลายแห่งเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมามาก



เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้นโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพของรัฐบาล เริ่มมีผลต่อการเรียนต่อโดยเฉพาะชั้น ม.4 ของโรงเรียนสังกัด สพฐ. พบว่ายอดสมัครต่ำกว่าแผนที่รับ ส่วนหนึ่งเพราะเด็กหันไปสมัครเข้าเรียนต่อในวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะ กรรมการการอาชีวศึกษามากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะที่ผ่านมาเด็กหลายคนต้องการเรียนสายอาชีวศึกษามากกว่าสายสามัญ แต่ติดเรื่องค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าสายสามัญ



ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายงานการรับสมัครนักเรียนม.1 ล่าสุดในกทม. พบว่า สพท.กทม.เขต 1 สมัคร 31,769 คน รับ 14,151 คน สพท.กทม.เขต 2 สมัคร 59,875 คน รับ 17,594 คน สพท.กทม.เขต 3 สมัคร 36,421 คน รับ 15,797 คน.

เผยเรียนฟรี15ปีส่งผลเด็กเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้น

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงการรับนักเรียนชั้น ม.1 ประจำ ปีการศึกษา 2552 ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ได้ปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ว่า ปัญหาเด็กล้นในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะเขตพื้นที่การศึกษา กทม.เขต 2 น่าจะเบาบางลง เพราะปีนี้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครได้เพิ่มปริมาณการ รับนักเรียนชั้น ม.1 มากขึ้น รวมถึงโรงเรียนเล็ก ๆ รอบนอกหลายโรงก็มียอดสมัครมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่า น่าจะเป็นเพราะผู้ปกครองเริ่มเห็นผลงานและยอมรับโรงเรียนเหล่านั้นมากขึ้น ก็ได้

เลขาธิการ กพฐ. ยังกล่าวถึงนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพด้วยว่า เริ่มมีผลต่อการเข้าเรียนต่อแล้วโดยเฉพาะในระดับชั้น ม.4 ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. ที่พบว่า มียอดสมัครต่ำกว่าแผนที่รับ ซึ่งทราบว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กหันไปสมัครเข้าเรียนต่อในวิทยาลัย ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะที่ผ่านมาเด็กจำนวนไม่น้อยต้องการเรียนสายอาชีว ศึกษามากกว่าสายสามัญ แต่ติดเรื่องค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าสายสามัญ ดังนั้นเมื่อมีนโยบายนี้ส่งผลให้เด็กไม่มีเงินไปเรียนสายอาชีวศึกษามากขึ้น.

สถานศึกษาไม่ผ่านประเมินฯสมศ.รอบ 2โวยคุณภาพครูต่ำ

สมศ.เผยผลการประเมินภายนอกรอบ 2 ชี้เหตุสถานศึกษาไม่ผ่านการรับรอง แจง ร.ร.สังกัด สพฐ.ขนาดเล็ก-อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ผ่านการรับรองน้อยสุด แนะให้อปท.เข้ามาช่วยดูแล ส่วน “อาชีวะ” ครู วุฒิป.ตรี มีไม่ถึง 80 % แถมป้อนคนสู่ตลาดแรงงานไม่ได้ ฝากอาชีวะเปิดสอนป.ตรีได้ เฉพาะร.ร.ที่ผ่านเกณฑ์ระดับดีมากเท่านั้น ด้าน“อุดมศึกษา” เปลี่ยนสถานภาพ ควรปรับหลักสูตร คุณภาพคุณวุฒิอาจารย์ให้ดีขึ้นด้วย ไม่ใช่เปลี่ยนชื่ออย่างเดียว

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. เวลา 13.00 น.ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน)(สมศ.) ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ. สมศ. เปิดเผยผลการประเมินคุณภาพภายนอก รอบสอง ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา ซึ่งผลการประเมินในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ปฐมวัย) จากรร.ที่รับการประเมิน 2,0184 แห่ง รับรอง 1,6229 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 80.41 ไม่รับรองจำนวน 3,955 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 19.59

ส่วนแบ่งตามสังกัด ได้แก่ สังกัดกรุงเทพมหานครฯ (กทม.) 430 แห่ง รับรอง 408 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 94.88 ไม่รับรอง 22 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 5.12 สังกัดเทศบาล 403 แห่ง รับรอง 372 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 92.31 ไม่รับรอง 31 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 7.69 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 1,254 แห่ง รับรอง 1,125 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 89.71 ไม่รับรอง 129 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 10.29 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)(รร.สาธิต) 9 แห่ง รับรอง 8 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 88.89 ไม่รับรอง 1 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 11.11 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 18,088 แห่ง รับรอง 14,316 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 79.15 ไม่รับรอง 3,772 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 20.85

แบ่งตามขนาด ได้แก่ ขนาดเล็ก 14,389 แห่ง รับรอง 11,000 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 76.45 ไม่รับรอง 3,389 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 23.55 ขนาดกลาง 4,904 แห่ง รับรอง 4,371 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 89.13 ไม่รับรอง 533 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 10.87 ขนาดใหญ่ 684 แห่ง รับรอง 654 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 95.61 ไม่รับรอง 30 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4.39 และขนาดใหญ่พิเศษ 207 แห่ง รับรอง 204 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 98.55 ไม่รับรอง 3แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.45 และแบ่งตามสถานที่ตั้ง รร.ในเมือง 4,165 แห่ง รับรอง 3,577 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 85.88 ไม่รับรอง 588 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 14.12 ร.ร.นอกเมือง 16,019 แห่ง รับรอง 12,652 รร. คิดเป็นร้อยละ 80.41 ไม่รับรอง 3,367 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 21.02
สำหรับผลการประเมินคุณภาพภายนอก ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในส่วนประถม-มัธยม นั้นทั้งหมด 22,456 แห่ง ผ่านการรับรองเพียง 17,592 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 79.68 และไม่รับรอง 4,564 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 20.32

แบ่งตามสังกัด พบว่า สังกัด กทม. 435 แห่ง รับรอง 417 คิดเป็นร้อยละ 95.86 ไม่รับรอง 18 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4.14 สังกัดเทศบาล 421 แห่ง รับรอง 375 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 89.07 ไม่รับรอง 46 คิดเป็นร้อยละ 10.93 สังกัดสช. 1,048 แห่ง รับรอง 933 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 89.03 ไม่รับรอง 115 คิดเป็นร้อยละ 10.97 สังกัดสพฐ. 20,538 รับรอง 16,154 คิดเป็นร้อยละ 78.65 ไม่รับรอง 4,384 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 21.35 สัดกัดสกอ.(ร.ร.สาธิต) 14 แห่ง รับรอง13 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 7.14 ไม่รับรอง 1 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 7.14 ซึ่งรายชื่อโรงเรียนสาธิต ที่ไม่ได้รับรอง คือ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

แบ่งตามขนาด ได้แก่ ขนาดเล็ก 14,796 แห่ง รับรอง 11,209 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 75.76 ไม่รับรอง 3,587 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 24.24 ขนาดกลาง 6,003 แห่ง รับรอง 5,091 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 84.81 ไม่รับรอง 912 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 15.19 ขนาดใหญ่ 1,111 แห่ง รับรอง 1,057 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 95.14 ไม่รับรอง 54 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4.86 และขนาดใหญ่พิเศษ 546 แห่ง รับรอง 535 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 97.99 ไม่รับรอง 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 2.01 และแบ่งตามที่ตั้ง ในเมือง 4,619 แห่ง รับรอง 3,965 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 85.84 ไม่รับรอง 654 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 14.16 แห่ง และนอกเมือง 17,837 แห่ง รับรอง 13, 927 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 78.08 ไม่รับรอง 3,910 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 21.92

ส่วนผลการประเมินภายนอกของสถานศึกษาอาชีวศึกษา ที่มีจำนวนสถานศึกษาทั้งหมด จำนวน 1,094 แห่ง ขอรับการประเมิน 549 แห่ง และเหลืออีก 545 ยังไม่ได้ประเมิน ซึ่งผลการประเมิน พบว่าประเภทสถาบันวิทยาลัยของรัฐ ผ่านการรับรอง 301 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 89.85 ไม่รับรอง 23 แห่งคิดเป็นร้อยละ 6.87 รอพินิจ 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 3.28 โรงเรียนเอกชน รับรอง 121 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 73.78 ไม่รับรอง 32 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 19.51 รอพินิจ 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 6.71 และวิทยาลัยสารพัดช่าง รับรอง 41 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 84 ไม่รับรอง 4 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 8 และรอพินิจ 27 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 8

ศ.ดร.สมหวัง กล่าวต่อว่า ในส่วนของอุดมศึกษานั้นผลการประเมินคุณภาพภายนอก รอบสอง ผลการรับรองมาตรฐานจำแนกตามกลุ่มประเภทสถาบัน ได้แก่ 1.ม.ในกำกับของรัฐ จำนวน 13 แห่ง รับรองทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 100 2.ม.รัฐ 12 แห่ง รับรองทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 100 3.ม.เอกชน 54 แห่ง รับรอง 46 แห่ง คิดเป็นร้อยละ85.18 รอพินิจ 5 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 9.26 ไม่รับรอง 3 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 5.55 4. ม.ราชภัฎ 40 แห่ง รับรอง 38 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 95 รอพินิจ 2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 5

5.ม.ราชมงคล 5 แห่ง รับรอบทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 100 6.สถาบันเฉพาะทาง 57 แห่ง รับรอง 56 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 98.25 รอพินิจ 1 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.75 และ7.วิทยาลัยชุมชน 18 แห่ง รับรอง 15 แห่ง คิดเป็น ร้อยละ83.33 รอพินิจ 1 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 5.56 ไม่รับรอง 2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 11.11 ดังนั้น ผลการรับรองมาตรฐาน จำแนกตามประเภทสถาบัน ทั้งหมด 199 แห่ง ผ่านการรับรองทั้งหมด 185 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 92.97 รอพินิจ 9 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4.52 และไม่รับรอง 5 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 2.51 ส่วนรายชื่อที่ไม่ผ่านการประเมินคุณภาพ 5 แห่งได้ แก่ 1 ม.นานาชาติแสตมฟอร์ด จ.เพชรบุรี 2.วิทยาลัยนครราชสีมา จ.นครราชสีมา 3.วิทยาลัยอิสลามยะลา จ.ยะลา 4. วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร และ5วิทยาลัยชุมชนตราด จ.ตราด

อย่างไรก็ตามผลการประเมินรอบสองในเบื้องต้นพบว่าสถานศึกษาที่ไม่ผ่านการ รับรองและรอการพินิจนั้นในส่วนโรงเรียนสังกัดสพฐ. พบว่าโรงเรียนสังกัดกทม. เทศบาล จะผ่านการรับรองมาตรฐานสูงถึงร้อยละ90 รองลงมา สช.และสาธิต ส่วนโรงเรียนสพฐ.ผ่านการรับรองน้อยที่สุด เนื่องจากมีปัญหาคุณภาพครู

นอกจากนี้ โรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมินเป็นโรงเรียนขนาดเล็กและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ดังนั้นต้องทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมีขนาดใหญ่ขึ้น และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)เข้ามาช่วยดูแล ส่วนที่อาชีวศึกษาพบว่าคุณภาพของ อาจารย์ยังต่ำ โดยมีอาจารย์วุฒิปริญญาตรี ร้อยละ 74 ที่เหลือต่ำกว่าปริญญาตรี ทั้งที่ควรจะมีอาจารย์วุฒิปริญญาตรีและโท อย่างละครึ่ง เอกเพียง และบัณฑิตที่ผลิตออกไปนั้น ยังไม่เข้าสู่ตลาดแรงงานในสาขาที่ประเทศต้องการ รวมทั้งเมื่อนักศึกษาจบอาชีวศึกษาแล้วไม่ไปศึกษาต่อในสายอาชีวศึกษา จึงทำให้ประเทศขาดแรงงานระดับนี้มาก ขณะที่อาชีวศึกษาจะเปิดสอนระดับปริญญาตรีด้วย ฝากถ้าสถาบันไหนจะเปิดปริญญาตรีจริงควรดูผลประเมินจากสมศ.และผ่านเกณฑ์ใน ระดับที่ดีมากด้วย

ส่วนปัญหาคุณภาพของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคุณวุฒิคุณภาพของ อาจารย์ ซึ่งตามเกณฑ์แล้ว อาจารย์ที่สอนอยู่ในระดับอุดมศึกษาต้องจบการศึกษาระดับปริญญาเอกร้อยละ 30 ของอาจารย์ทั้งหมด แต่ตอนนี้อาจารย์ที่จบปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น อีกทั้งสถาบันอุดมศึกษาใหม่ ที่เปลี่ยนจากวิทยาลัย มาเป็นมหาวิทยาลัย เช่น ม.ราชภัฎ ม.ราชมงคล ไม่ได้มีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ตามขั้นตอน ทั้งในแง่ของหลักสูตร และประสบการณ์คณาจารย์ ก่อนจะปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัย ดังนั้นภาพรวมที่น่ากังวลของสถาบันอุดมศึกษาขณะนี้ คือ คุณภาพ คุณวุฒิของคณาจารย์ผู้สอน อย่างไรก็ตาม สำหรับรายชื่อของสถาบันการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานปฐมวัย ประถม มัธยม อาชีวศึกษา และสถาบันอุดมศึกษาที่ผ่าน และไม่ผ่านการประเมินของสมศ. จะนำเสนอผ่านเว็บไซต์ www.onesqa.or.th และสรุปรวบรวมผลการประเมินเสนอหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อปรับปรุง พัฒนาต่อไป

Thursday, March 19, 2009

ปิดรับสมัครสอบม.1ร.ร.ดังล้นที่นั่งกว่าแสนคน

ปิดรับสมัครนักเรียน.ม.1 เด็กแห่สมัครเข้า ร.ร.ยอดนิยมล้นที่นั่งไปกว่า แสนคน -ขณะที่เด็ก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หนีตาย แห่มาสมัครเรียนที่อ.หาดใหญ่แทน ดัน 2 ร.ร.ดังในอ.หาดใหญ่ ครองแชมป์นักเรียนสมัครเข้า ม.1 และ ม.4 มากสุดในประเทศ ส่วนในกทม. “สวนกุหลาบวิทยาลัย “ ไม่พลิกโผ แชมป์อันดับ 1 ตามด้วย “สามเสนวิทยาลัย “

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.ร.มัธยมสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปิดรับสมัครนักเรียนระดับ ม.1 และ ม.4 แล้วในวันนี้(18 มี.ค.) ในส่วนของ ร.ร.ยอดนิยม 369 แห่ง นั้น มีนักเรียนมาสมัคร ม.1 รวมทั้งสิ้น 288,589 คน ขณะที่ ร.ร.รับไว้ได้ 164,376 คน ที่น่าสังเกตุ คือ โรงเรียนที่มีนักเรียนมาสมัครมากที่สุด 2 อันดับแรก เป็น ร.ร.ใหญ่ในจังหวัดสงขลา ปากทางเข้าสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ร.ร.หาดใหญ่สมบูรณ์กุลกันยา มีนักเรียนมาสมัครเข้าเรียนมากที่สุด 3,590 คน รับได้ 480 คน อัตราแข่งขัน 1 ต่อ 7 อันดับ 2.ร.ร.หาดใหญ่วิทยาลัย สมัคร 3,544 คน รับได้ 460 คน อัตราแข่งขัน 1 ต่อ 7 เช่นกัน 3. ร.ร.นครสวรรค์ สมัคร 2,867 คน รับได้ 640 คน 4.ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย สมัคร 2,685 คน รับได้ 384 คน และ 5.ร.ร.สามเสนวิทยาลัย 2,627 คน รับได้ 384 คน

นอกจาก ร.ร.ดัง 2 แห่ง ในอำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา แล้ว ร.ร.ดังในภาคใต้อีกหลายแห่งมีจำนวนนักเรียนมาสมัครเข้าเรียนสูงร่วม 2 พันคน เช่นกัน ร.ร.สุราษฎร์พิทยา สมัคร 2,229 รับได้ 460 คน ร.ร.เบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช สมัคร 1,993 คน รับได้ 480 คน และร.ร.สตรีทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช สมัคร 1,865 คน รับได้ 320 คน ร.ร.สตรีพัทลุง สมัคร 1,957 คน รับได้ 476 คน ร.ร.พัทลุง สมัคร 1,859 คน รับได้ 476 คน ร.ร.หาดใหญ่วิทยาลัย 2 สมัคร 1,749 คน รับได้ 600 คน ขณะที่ ร.ร.ดังใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ทั้ง 6 ร.ร.มีนักเรียนสมัครหลักร้อยคน สูงสุด คือ ร.ร.เดชะปัตตนยานุกูล จ.ปัตตานี สมัคร 765 คน รับได้ 520 คน

ส่วน 5 อันดับร.ร.ที่มีนักเรียนมาสมัครเข้าเรียนมากที่สุดใน กทม.และปริมณฑล,นั้น อันดับ 1ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย สมัคร 2,685 คน รับได้ 384 คน อัตราแข่งขัน 1 ต่อ 7 คน 2.ร.ร.สามเสนวิทยาลัย 2,627 คน รับได้ 384 คน 3.ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี สมัคร 2,510 คน รับได้ 502 คน 4. ร.ร.สตรีวิทยา สมัคร 2,319 คน รับได้ 400 คน และ 5.ร.ร.ศึกษานารี สมัคร 2,215 คน รับได้ 476 คน

สำหรับระดับ ม.4 นั้น แผนรับได้ 140,306 คน มีนักเรียนมาสมัคร 132,627 คน แต่อันดับ 1 ที่มีนักเรียนมาสมัครเข้ามากที่สุด ยังเป็นร.ร.หาดใหญ่วิทยาลัยเช่นกัน สมัคร 2,431 คนรับได้ 710 คน 2. ร.ร.ร้อยเอ็ดวิทยาลัย สมัคร 1,588 คน รับได้ 630 คน และ ร.ร.สตรีศึกษา จ.ร้อยเอ็ด สมัคร 1,462 คน รับได้ 660 คน

ไฟเขียวลูกจ้างร.ร.เอกชนเข้าประกันสังคม

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

เสนอขอแก้ไข พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ให้กิจการโรงเรียนเอกชนอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน ให้ลูกจ้างโรงเรียนเอกชนอยู่ภายใต้กฎหมายประกันสังคม สามารถส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมตามกฎหมายและให้สิทธิผู้ที่เคยส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมสามารถส่งต่อเนื่องได้

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานแรงงานได้มีข้อท้วงติง ในมาตรา 86/1 ที่กำหนดให้สิทธิผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนนานาชาติ มีสิทธิที่จะเลือกไม่ส่งเงินเข้ากองทุนสงเคราะห์ตาม พ.ร.บ.ร.ร.เอกชน พ.ศ. 2550 หรือจะอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมก็ได้ เป็นการเลือกปฏิบัติทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีปัญหา และเห็นว่าหากผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนนานาชาติ จะอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ก็ควรได้รับการคุ้มครองเฉพาะในฐานะเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 หรือมาตรา 40 ของพ.ร.บ.ประกันสังคม แต่ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน นอกจากนั้นกระทรวงแรงงาน ยังเสนอให้บุคลากรของโรงเรียนเอกชนที่เคยเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2551 ได้รับสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมด้วย

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม เวลา 08.30 น. ตัวแทนครูโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศประมาณ 1,000 คน นำโดยนายยืนยง จิรัฏฐิติกาล ประธานผู้แทนครูโรงเรียนเอกชนในคณะกรรมการคุรุสภา เข้ายื่นหนังสือต่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่ รมว.ศึกษาธิการ ติดภารกิจงานกดปุ่มโอนเงินเรียนฟรี 15 ปีเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จึงลงไปรับเรื่องแทน ก่อนผู้ชุมนุมจะสลายตัวไป

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวเรียกร้องให้ครูโรงเรียนเอกชนมีเงินประจำวิทยฐานะเช่นเดียว กับครูโรงเรียนรัฐ โดยขอให้ใช้เกณฑ์การประเมินเช่นเดียวกับครูภาครัฐ และเรียกร้องให้รัฐจัดเงินช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ครูโรงเรียนเอกชนที่มีราย ได้ไม่เกินเดือนละ 11,700 บาท จำนวน 89,816 คน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551-กันยายน 2552

รวมทั้งขอให้ปรับแก้ระเบียบว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ครูใหญ่และครู โรงเรียนเอกชน ให้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลของสามี ภรรยา บุตร บิดา มารดา จากปัจจุบันที่ให้เบิกเฉพาะค่ารักษาพยาบาลของเจ้าตัวไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี

หมอแฉเด็กติดเกมอายุเฉลี่ยแค่ 11 ปี

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แถลงข่าวเรื่อง “นักวิจัย วช.พบวิธีป้องกันและแก้ปัญหาเด็กติดเกม” โดย ผศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ปัญหาเด็กติดเกมยังพบมากในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตของเด็กโดยตรง จากการศึกษาระหว่างปี 2550-2551 เกี่ยวกับพฤติกรรมการติดเกมในเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 9-15 ปี 2,452 คน ใน 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ราชบุรี สุรินทร์ และสุราษฎร์ธานี พบว่าร้อยละ 13.3 จัดอยู่ในกลุ่มที่กำลังติดเกม โดยมีอายุเฉลี่ย 11 ปี มีภาวะติดเกมมาก เกมที่นิยมเล่นมากที่สุดคือ เกมเกี่ยวกับบู๊ล้างผลาญ เกมเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ นุ่งน้อยห่มน้อย โดยเฉพาะเกม SF หรือ Special force



ผศ. นพ.ชาญวิทย์กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการติดเกม ประกอบด้วย ปัจจัยเกี่ยวกับตัวเด็กเอง ปัจจัยเกี่ยวกับครอบครัวและการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและเพื่อน โดยเฉพาะปัจจัย เกี่ยวกับตัวเองจะพบว่า เด็กผู้ชายมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเกมสูงกว่าเด็กผู้หญิง 1.6 เท่า ความเครียดและการขาดทักษะในการจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม เป็น สาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กติดเกม โดยเด็กที่ติดเกมใช้การเล่นเกม เพื่อคลายเครียดสูงเป็น 6 เท่าของเด็กที่ไม่ติดเกม เด็กที่ติดเกมมักเป็นเด็กที่เบื่อการเรียน และรู้สึกไม่มีความสุขในชีวิต



ผศ. นพ.ชาญวิทย์กล่าวอีกว่า ปัญหาการติดเกมเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องจัดทำแนวทางแก้ไขให้เป็นวาระ แห่งชาติ เพื่อหาแนวทางร่วมกันระหว่างเจ้าของร้านเกม ตัวแทนภ

ศธ.กดปุ่มส่งเงินเรียนฟรีถึงโรงเรียน

เมื่อ วันที่ 18 มี.ค. ที่โรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการโอนเงินสู่สถานศึกษาตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ พร้อมกล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้จัดส่งเงินงบประมาณโครงการเรียนฟรี 15 ปีจำนวน 18,257 ล้านบาท ให้กับสถานศึกษาทั้งในและนอกระบบโรงเรียน มีนักเรียนรวม 11.8 ล้านคน นักเรียนหรือผู้ปกครองจะได้รับเงินสดจากทางสถานศึกษาโดยตรง สำหรับสถานศึกษาสังกัดกระทรวงอื่นๆ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ถือแนวปฏิบัติตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีของ ศธ.พร้อมทั้งมอบหมายให้ ศธ.เป็นหน่วยงานหลักประสานงานกับหน่วยงานอื่น



คุณ หญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ขยายเวลาการสละสิทธิ์โครงการเรียนฟรีไปจนถึงวันที่ 15 พ.ค. แม้ผู้ปกครองรับเงินไปแล้วแต่เปลี่ยนใจก็สามารถคืนได้


ด้าน รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ อาจารย์ใหญ่ ร.ร.สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้ปกครองและนักเรียนซึ่งได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการศึกษา ฟรี 15 ปี มีมติร่วมกันที่จะไม่รับค่าใช้จ่ายในส่วนของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียน, อุปกรณ์การเรียน, หนังสือ เรียน ซึ่ง ศธ.รณรงค์ให้นักเรียนมีจิตสาธารณะสละสิทธิ์ เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือนักเรียนที่ยากไร้นั้น พบนักเรียนหรือผู้ปกครองมากถึงร้อยละ 89 สละสิทธิ์คิดเป็นเงินกว่า 6 ล้านบาท แต่ไม่มั่นใจว่าเงินที่สละสิทธิ์จะถึงมือน้องๆที่ยากจนจริง ซึ่งเรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ยืนยันว่า งบประมาณที่โรงเรียนได้รับจากนโยบายเรียนฟรีจะโอนถึงโรงเรียนทั้งหมด ส่วนเงินที่สละสิทธิ์เป็นหน้าที่ของโรงเรียนจะพิจารณาเลือกโรงเรียนที่จะให้ ด้วยตนเอง


นายสุชาติ นิลสำราญกิจ ผอ.ร.ร.สาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่กังวลเงินที่สละสิทธิ์ เกรงว่าจะไม่ถึงโรงเรียนห่างไกล ซึ่งโรงเรียนจะเร่งรณรงค์ทำความเข้าใจว่าเงินจะถึงโรงเรียนที่ยากจนแน่นอน.

ครม.ผ่านร่างแก้ไขกฎหมาย รร.เอกชน

แต่มีความเห็นแย้งตำแหน่งอธิบดี สช.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษา ธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ โดยแก้ไขบทบัญญัติที่สำคัญ ๆ ได้แก่ เรื่องการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดิน ในกรณีโรงเรียนเป็นนิติบุคคล, ให้โรงเรียนเอกชนระดับอาชีวศึกษาใช้คำว่า วิทยาลัย, ให้ลูกจ้างของโรงเรียนเอกชนสามารถส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและให้สิทธิผู้ที่เคยส่งเงินสมทบกองทุน ประกันสังคมสามารถส่งต่อเนื่องได้ และกำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน มีฐานะเป็นอธิบดี เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครม.ได้อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนตามที่ ศธ.เสนอ แต่เห็นควรให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาถ้อยคำ พร้อมรับข้อสังเกตของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีความเห็นขัดแย้งในบางประเด็น อาทิ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงบประมาณ มีข้อสังเกตว่า การกำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีฐานะเทียบเท่าอธิบดี อาจไม่สอดคล้องกับการกำหนดโครงสร้างของ ศธ. หากจำเป็นต้องปรับปรุงก็ควรดำเนินการพร้อมกันทั้งระบบ เป็นต้น.

Wednesday, March 18, 2009

วธ.พิมพ์จดหมายเหตุ

นาย เกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้จัดทำจดหมายเหตุประชาชนข่าวสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ เสร็จแล้ว 1 ชุด จำนวน 2 เล่ม ความหนาเล่มละ 500 หน้า หน้าปกเป็นภาพพระเมรุ และพระฉายาลักษณ์ บรรจุเนื้อหาข่าวการสิ้นพระชนม์ พระประวัติ และพระกรณียกิจ คัดเลือกจากหนังสือพิมพ์ รายวันฉบับภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน เริ่มตั้งแต่วันที่ 3-30 ม.ค. 2551 รวม 28 วัน เป็นช่วงเวลาระยะแรกที่ประชาชนส่วนใหญ่กำลังวิปโยคโศกเศร้าเสียใจ หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจึงเสนอภาพข่าวที่สะท้อนความรู้สึกของประชาชนทั่วไป และรายงานความคืบหน้าการจัดงานเกี่ยวกับพระราชพิธี โดยกรมศิลปากรจะมอบให้กับสถาบันทางการเมือง ห้องสมุดการศึกษา หอสมุดแห่งชาติทั่วประเทศ เพื่อใช้ศึกษาค้นคว้าช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว.

“จุรินทร์” ร่อนประกาศคุมเข้ม ร.ร.รับเด็ก

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ ได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา เรื่อง นโยบายและมาตรการในการรับนักเรียน นักศึกษา ปีการศึกษา 2552 คือ 1. ศธ. ไม่ส่งเสริมให้สถานศึกษารับบริจาคเงินจากผู้ปกครองในช่วงระยะเวลาที่มีการ รับนักเรียนไม่ว่าในรูปแบบใดๆ 2. ไม่ส่งเสริมให้องค์กรอื่นใด เช่น สมาคมผู้ปกครองและครู สมาคมศิษย์เก่า คณะกรรมการสถานศึกษา รับเงินบริจาค 3. การเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติมต้องจำเป็น และห้ามเก็บช่วงเปิดรับนักเรียน 4. ให้ผู้บริหารสถานศึกษาถือเป็นหน้าที่ในการดูแลเอาใจใส่ให้เด็กในเขตพื้นที่ หรือประสงค์จะเข้าเรียนแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้รับโอกาสเข้าศึกษาในสัดส่วนที่เหมาะสม 5. กรณี ที่สถานศึกษาฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัย และ 7. หากผู้ปกครองได้รับความเดือดร้อน หรือพบเห็นว่ามีการฝ่าฝืนนโยบายให้ร้องเรียนต่อ ผอ.สพท.โดยตรงเพื่อแก้ไขโดยเร็ว


ผู้ สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ประกาศดังกล่าวทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ผู้บริหารสถานศึกษาอย่าง กว้างขวาง โดยเห็นว่าประกาศ ศธ.ดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อการระดมทรัพยากร ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนา คุณภาพการศึกษา


สำหรับ ยอดรับสมัครนักเรียนม.1 และ ม.4 ในเขต กทม.นั้นส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใน สพท.กทม.เขต 2 เหมือนทุกปี ซึ่งสพฐ.ได้ประสานโรงเรียน กทม.เพื่อเตรียมแผนรองรับ


ขณะ เดียวกัน สพฐ.ก็ได้ทำหนังสือซักซ้อมความเข้าใจในการจัดซื้อหนังสือเรียนตามโครงการ เรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ซึ่งกรณีที่วงเงินเกิน 2 ล้านบาท และไม่สามารถจัดซื้อได้ด้วยวิธีประกวดราคา ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมบัญชีกลางให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้พิจารณา หากโรงเรียนมีเหตุผลความจำเป็นต้องดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ให้เชิญผู้ผลิต ร้านค้า หรือผู้แทนจำหน่ายหนังสือเรียนเข้าร่วมการแข่งขันราคาให้มากที่สุดเท่าที่จะ ทำได้ หากมีไม่ถึง 3 ราย ให้ชี้แจงเหตุผลต่อ สพท.เพื่อให้ความเห็นชอบ ส่วนกรณีโรงเรียนที่ได้รับจัดสรรงบประมาณจัดซื้อหนังสือเรียนตั้งแต่ 1 แสนบาทแต่ไม่ถึง 2 ล้านบาท สามารถจัดซื้อโดยวิธีพิเศษได้ เช่นเดียวกับโรงเรียนที่ได้รับวงเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป.

โวยม.นอกระบบเก็บค่าเทอมมั่ว

นศ.รับตรงจ่ายแพงกว่าแอดมิชชั่น

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้รับร้องเรียนจากผู้ปกครอง 3 ราย โดย 2 รายเป็นการร้องเรียน กรณีมหาวิทยาลัยรัฐ ที่เปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือ ออกนอกระบบ เก็บค่าเล่าเรียนบางโปรแกรมจากนักศึกษาที่ผ่านระบบรับตรงแพงกว่านักศึกษาที่ ผ่านระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือ แอดมิชชั่นกลาง โดยผู้ปกครองระบุชัดเจนว่า ลูกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยโดยผ่านระบบรับตรง แต่ต้องเสียค่าเรียนแพงกว่าเพื่อนที่เข้าเรียนผ่านระบบแอดมิชชั่น ทั้ง ๆ ที่เป็นหลักสูตรเดียวกัน และเป็นหลักสูตรปกติ ไม่ใช่หลักสูตรพิเศษ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมมหาวิทยาลัยเก็บค่าเล่าเรียนต่างกันมาก ขณะที่อีก 1 ราย ร้องเรียนว่ามหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งเก็บค่าเล่าเรียนแพงมาก แต่ก็เปิดให้มีการต่อรองค่าเล่าเรียนได้

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ตนได้ส่งเจ้าหน้าที่ให้ไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว โดย เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยชี้แจง ก่อนว่า ทำไมถึงเก็บค่าเล่าเรียนจากเด็กไม่เท่ากัน ซึ่งก็ต้องฟังเหตุผลของมหาวิทยาลัยด้วย แต่ส่วนตัวคิดว่ามหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไม่น่าจะกล้าขึ้นค่าเล่าเรียนแพง มาก แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนก็คงควบคุมได้ยาก เพราะบางหลักสูตรมีค่าใช้จ่ายสูงจริง และมหาวิทยาลัยเอกชนต้องลงทุนเองไม่เหมือนมหาวิทยาลัยรัฐ อย่างไรก็ตามหากนิสิต นักศึกษา พบว่า มหาวิทยาลัยเก็บค่าเล่าเรียนแพงเกินความเป็นจริง สามารถร้องเรียนมาได้ที่สายด่วนการศึกษา 1579 เพื่อจะได้ดำเนินการตรวจสอบต่อไป.

เชื่อ19มี.ค.เงินเรียนฟรีถึงมือเด็ก98%

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำหนังสือซักซ้อมความเข้าใจการจัดซื้อหนังสือเรียนตามโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพไปยัง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) แล้ว และได้กำชับว่าจะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบและโปร่งใส

ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ. กล่าวว่า ในวันที่ 18 มี.ค.นี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ จะเป็นประธานกดปุ่มโอนงบประมาณโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพให้แก่สถานศึกษาทั่วประเทศ ที่โรงเรียนศรีอยุธยา คาดว่า ในวันที่ 19 มี.ค.โรงเรียนประมาณ 98% จะได้รับเงินครบถ้วน จากนั้นทางโรงเรียนจะต้องดำเนินการมอบเงินให้แก่นักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อไปจัดซื้อชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนต่อไป โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์หลังจากที่ได้รับเงิน ทั้งนี้ในส่วนของโรงเรียนในกรุงเทพฯ นั้น เบื้องต้นทราบว่าส่วนใหญ่จะนัดหมายนักเรียน และผู้ปกครอง มารับเงินในวันที่ 20 มี.ค.นี้

ด้าน นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร ผอ.สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวว่า การจัดซื้อหนังสือเรียนของโรงเรียนเอกชนจะต้องดำเนินการเช่นเดียวกับ โรงเรียนของรัฐ ที่ต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่วม 4 ฝ่าย และให้คณะกรรมการอำนวยการหรือคณะกรรมการบริหารของโรงเรียนมีส่วนร่วมในการ คัดเลือกหนังสือด้วย โดยสามารถซื้อจากสำนักพิมพ์ใดก็ได้แต่ต้องเป็นหนังสือตามบัญชีรายชื่อที่ ผ่านการตรวจอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ

ผอ.สช.กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องชุดนักเรียนนั้นให้ทางโรงเรียนจ่ายเงินให้ผู้ปกครองไปตัดสินใจ เลือกซื้อเอง แม้โรงเรียนจะมีชุดนักเรียนของโรงเรียนจำหน่ายอยู่แล้วก็ตาม โดยจะเริ่มจ่ายเงินให้แก่ผู้ปกครองได้ในวันที่ 19 มี.ค.นี้เป็นต้นไป แต่คงต้องทยอยดำเนินการเพราะอยู่ระหว่างปิดภาคเรียน ทั้งนี้ได้มีการกำชับว่าทุกรายการต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนเปิดภาค เรียนในเดือนพฤษภาคมนี้ อย่างไรก็ตามได้เปิดโอกาสให้โรงเรียนเอกชนที่อยู่ในโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพสามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้ปกครองได้ อาทิ กรณีการจัดซื้อหนังสือเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากวงเงินที่ได้รับ หรือการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ โดยไม่ได้กำหนดเพดาน ส่วนเรื่องการสละสิทธิ์นั้น สช.ตั้งเป้าที่จะรณรงค์ให้มีผู้สละสิทธิ์ 2-3% ของนักเรียนเอกชนทั้งหมด แต่ขณะนี้มีผู้สละสิทธิ์ไม่ถึง 1%.

แห่สมัครเข้าม.1ในโรงเรียนชื่อดัง

ยอดเด๊กทะลุเป้า

โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กับสตรีวิทยาครองแชมป์ โรงเรียนยอดฮิต นร.แห่สมัครเข้าเรียน ม.1 กันเพียบ ส่วนยอดทั่วประเทศทะลุเป้ามี 2 แสนกว่าคน ทั้งที่รับได้แค่แสนกว่าคนเกินไปเกือบ 4 หมื่นคน ส่วนชั้น ม.4 ยอดสมัครยังไม่ถึงเป้า สำหรับต่างจังหวัด ที่สงขลาแห่สมัครกันอื้อ ตามด้วย จ.นครสวรรค์

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงขณะนี้หลายโรงเรียนกำลังเปิดรับสมัครนักเรียน ม.1 กับชั้น ม.4 ตั้งแต่ช่วงวันที่ 14-18 มี.ค.นี้ว่า จากโรงเรียน 369 แห่งทั่วประเทศมีแผนรับ ม.1 ได้ทั้งสิ้น 164,432 คน แต่มาสมัคร 201,707 คน ส่วน ม.4 รับได้ 139,989 คน สมัครแล้ว 94,255 คน

สำหรับโรงเรียนที่มีผู้สมัครมากที่สุด 5 อันดับแรกในระดับชั้น ม.1 ได้แก่ 1.โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา สมัคร 3,220 คน รับเข้าเรียนได้ 460 คน 2.โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา จ.สงขลา สมัคร 3,156 คน รับได้ 480 คน 3.โรงเรียนนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ สมัคร 2,695 คน รับได้ 640 คน 4.โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร สมัคร 2,391 คน รับได้ 384 คน และ 5.โรงเรียนสตรีวิทยา กรุงเทพมหานคร สมัคร 2,126 คน รับได้ 400 คน ส่วนระดับ ม.4 โรงเรียนที่มาสมัครมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ 1.โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา สมัคร 2,215 คน รับได้ 710 คน 2.โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย จ.ร้อยเอ็ด สมัคร 1,391 คน รับได้ 630 คน 3.โรงเรียนพิริยาลัย จ.แพร่ สมัคร 1,193 คน รับได้ 560 คน 4.โรงเรียนเดชะ ปัตตนยานุกูล จ.ปัตตานี สมัคร 1,049 คน รับได้ 356 คน และ 5.โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ จ.ราชบุรี สมัคร 1,022 คน รับเข้าเรียนได้ 568 คน

รายงานข่าวแจ้งว่า นายจุรินทร์ ลักษณ วิศิษฏ์ รมว.ศธ.ได้ลงนามประกาศใน ศธ.เรื่องนโยบายและมาตรการในการรับนักเรียนประจำปี 2552 คือ 1.ไม่ให้สถานศึกษารับเงินบริจาคจากผู้ปกครอง ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม 2.ไม่ส่งเสริมให้องค์กรอื่น อาทิ สมาคมผู้ปกครองและครู สมาคมศิษย์เก่า รับเงินบริจาคหรือมีส่วนรับเงิน 3.การเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติมให้สถานศึกษาพิจารณาความเหมาะสม และจำเป็นเท่านั้น 4.ให้ดูแลหรือตัดเด็กที่ด้อยโอกาส หรือขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยให้เข้าเรียนตามความเหมาะสม

5.ให้ ผอ.สพฐ. และผู้ตรวจราชการศธ. ตรวจสอบและติดตามประเมินผลการรับนักเรียน แล้วรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบภายใน 15 วัน หลังการรับสมัครสิ้นสุดลง 6.หากสถานศึกษาหรือผู้บริหารฝ่าฝืนคำสั่ง ให้ดำเนินการลงโทษทางวินัย และ 7.หากผู้ปกครองหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้รับความเดือดร้อน หรือพบเห็นว่ามีการฝ่าฝืนนโยบาย ให้ร้องเรียนหรือแจ้งต่อ ผอ. สพฐ. ผู้ตรวจราชการ ศธ. หรือหัวหน้าส่วนราชการโดยตรง เพื่อหาทางแก้ปัญหาต่อไป.

“ชัยวุฒิ“ สั่งสอบม.นอกระบบเก็บค่าเรียนแพงเกินเหตุ

“ชัยวุฒิ“ สั่งสอบม.นอกระบบ เก็บค่าเรียนแพงเกินเหตุ หลังผู้ปกครองร้องเรียน ลูกเข้าเรียนผ่านรับตรงเสียค่าเทอมกว่านักศึกษาที่มหาวิทยาลัยรับผ่านระบบ แอดมิชชั่นกลาง

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจ สอบกรณีมหาวิทยาลัยเก็บค่าเล่าเรียนแพงเกินจริง โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีผู้ปกครองร้องเรียนว่ามหาวิทยาลัยเก็บค่าเล่าเรียนแพงเกินจริงจำนวน 3 รายแบ่งเป็น 2 รายร้องเรียนมหาวิทยาลัยรัฐ ที่เพิ่งออกนอกระบบ โดยผู้ปกครองตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับค่าเล่าเรียนบางโปรแกรมของมหาวิทยาลัย ดังกล่าว และเปรียบเทียบค่าเล่าเรียนระหว่างนักศึกษาที่เข้ามหาวิทยาลัยผ่านระบบรับ ตรง กับนักศึกษาที่เข้าเรียนโดยผ่านระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือแอดมิชชั่นกลาง พบว่านักศึกษาที่เข้าเรียนผ่านระบบรับตรงเสียค่าเล่าเรียนในบางโปรแกรมสูง กว่านักศึกษาที่เข้าเรียนผ่านระบบแอดมิชชั่น ส่วนอีก 1 รายร้องเรียนม.เอกชนแห่งหนึ่งว่าเก็บค่าเทอมแพงเกินกว่าเหตุ และเปิดให้มีการต่อรองเรื่องค่าใช้จ่ายได้

“มันน่าสงสัยตรงที่ 2 รายที่ร้องเรียนม.นอกระบบนั้น ไม่ได้มาจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน เป็นคนละมหาวิทยาลัย คนละคณะแต่ร้องเรียนในเรื่องเดียวกัน ว่าลูกของตนเองเข้าเรียนมหาวิทยาลัยผ่านระบบรับตรงแต่ต้องเสียค่าเรียนบาง โปรแกรมแพงกว่าเพื่อนที่เข้าเรียนผ่านระบบแอดมิชชั่น ทั้ง ๆ ที่เป็นหลักสูตรเดียวกันและเป็นหลักสูตรปกติ ไม่ใช่หลักสูตรพิเศษจึงสงสัยว่าทำไม่ค่าเรียนถึง ได้แตกต่างกันมากนัก ดังนั้นผมจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบทั้ง 2 กรณีแล้วโดยได้ขอข้อมูลเป็นการภายในไปยังมหาวิทยาลัยที่ถูกร้องเรียน หากพบว่ามีมูลตามที่ผู้ปกครองร้องเรียนจริงก็จะต้องสอบถามเหตุผลไปยัง มหาวิทยาลัยอีกครั้ง” นายชัยวุฒิกล่าว
รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า เบื้องต้นจะขอให้มหาวิทยาลัยชี้แจงเหตุผลก่อนว่าทำไมค่าเล่าเรียนจึงไม่เท่า เทียมกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยเองอาจจะมีเหตุผล และผู้ปกครองอาจจะยังไม่ทราบเรื่องจริงทั้งหมด ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทางมหาวิทยาลัยด้วย ทั้งนี้ตามความเห็นของตนเองมองว่ามหาวิทยาลัยของรัฐไม่น่าจะกล้าขึ้นค่าเทอม ที่สูงมากนัก ส่วนม.เอกชนนั้นคิดว่าคงควบคุมได้ยากเพราะบางหลักสูตรก็มีค่าใช้จ่ายสูงอยู่ แล้วหากใครมีกำลังส่งลูกเรียนก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่าแพงเกินจริงคงต้องสอบถามเหตุผลไปยังมหาวิทยาลัยเช่น กัน

อย่างไรก็ตามในส่วนของการลงโทษนั้น ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนเองและขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ามหาวิทยาลัย ได้ทำความผิดตามที่มีผู้ร้องเรียนจริงหรือไม่ และหากผิดจริงตนคงตองส่งข้อมูลทั้งหมดให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นผู้พิจารณา ทั้งนี้หากผู้ใดพบว่ามีมหาวิทยาลัยที่เก็บค่าเล่าเรียนแพงเกินจริงสามารถ ร้องเรียนได้ที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ศูนย์เสมารักษ์ ทางสายด่วน 1579

ครม.อนุมัติคงกรอบอัตรากำลังครูผู้สอนให้จว.ใต้

ครม.อนุมัติคงกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ 1,639 ตำแหน่งให้จังหวัดภาคใต้ แก้ปัญหาครูย้ายออกนอกพื้นที่จากเหตุความไม่สงบ

เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติให้คงกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ (ตำแหน่งครูผู้สอน) จำนวน 1,639 อัตรา ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป ให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 1 เขต 2 เขต 3 ปัตตานี , เขต 1 เขต 2 เขต 3 ยะลา และ เขต 1 เขต 2 เขต 3 สงขลา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ

เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้าราชการครูได้ขอย้ายออกนอกพื้นที่ มีผลกระทบต่อปัญหาขาดแคลนอัตรากำลังครูของสถานศึกษา ซึ่งในการแก้ปัญหาที่ผ่านมา ครม.มีมติอนุมัติกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ จำนวน 1,639 อัตรา เพื่อรองรับอัตราจ้างครูรายเดือนทดแทนข้าราชการครูที่ขอย้ายออกนอกพื้นที่ดังกล่าว เป็นการช่วยแก้ปัญหาสภาพการขาดครู และทำให้ครูอัตรา จ้างเหล่านั้นมีขวัญกำลังใจ มีความรู้สึกมั่นคงในอาชีพ และปีงบประมาณ 2552 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับงบประมาณ งบบุคลากร ค่าตอบแทนพนักงานราชการ เพื่อจ้างต่อเนื่องตามกรอบอัตรากำลัง จำนวน 1,639 อัตรา จำนวนเงิน 214,577,900 บาทแล้ว

พนักงานราชการครูร้องขอโควต้าบรรจุเป็นราชการ50%

พนักงานราชการครูบุรีรัมย์ เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาเพิ่มโควต้าบรรจุข้าราชการเพิ่มจาก 25 เปอร์เซ็นต์ เป็น 50 เปอร์เซ็นต์ อย่างเช่นจังหวัดภาคใต้ พร้อมยันจะเดินหน้าเรียกร้องอย่างสันติ ไม่มีการประท้วงสร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 17 มี.ค. 2552 พนักงานราชการครูที่ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ร่วมกันออกมาเคลื่อนไหว รับสมัครเป็นสมาชิกชมรมพนักงานราชการทั้ง 4 เขตพื้นที่การศึกษา จนขณะนี้มีพนักงานราชการเป็นสมาชิกแล้วกว่า 600 คน เพื่อร่วมกับพนักงานราชการทุกจังหวัดทั่วประเทศ เคลื่อนไหวผลักดันให้กระทรวงศึกษาธิการ บรรจุพนักงานราชการที่ผ่านการประเมินเป็นข้าราชการครู ทั้งประเทศภายใน 3 ปีที่มีอยู่กว่า 18,000 คน หลังจากได้มีการเรียกร้อง ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ให้โควตาบรรจุพนักงานราชการ 25 เปอร์เซ็นต์ของการสอบแต่ละครั้ง ตามอัตราที่ว่างในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา

ที่ผ่านมาพนักงานราชการได้รับบรรจุแต่ยังมีปริมาณน้อย หากเปรียบเทียบกับสัดส่วนข้าราชการครูเกษียณ และเออรี่จำนวนมาก แต่ไม่มีการสอบบรรจุเพิ่ม ถึงแม้แต่ละโรงเรียนจะมีครูขาดแคลนอยู่แล้ว จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นความสำคัญของบุคลากรและการศึกษาดังกล่าวด้วย

นายจีรพัฒน์ วิผาลา ประธานชมรมพนักงานราชการเขตพื้นที่การศึกษาบุรีรัมย์เขต 4 จึงได้เรียกร้องให้ทางกระทรวงศึกษาฯ ได้พิจารณาเพิ่มโควตาการบรรจุพนักงานราชการในพื้นที่จ.บุรีรัมย์ จาก 25 เปอร์เซ็นต์ เป็น 50 เปอร์เซ็นต์ อย่างเช่นจังหวัดภาคใต้ ส่วนแนวทางการเคลื่อนไหวผลักดัน ทางชมรมจะดำเนินการอย่างสันติใช้ทั้งเหตุและผลในการเรียกร้อง จะไม่มีการประท้วงจนก่อให้เกิดความวุ่นวาย เพราะที่ผ่านมาบ้านเมืองก็บอบช้ำมามากแล้ว

3วันยอดม.1ร.ร.ดังยอดเเพิ่มเกินกว่า4หมื่น

สพฐ.รับนักเรียน 3 วัน ยอดสมัคร ม.1 ร.ร.ดังพุ่งเกินเก้าอี้ไป 4 หมื่นแล้ว หาดใหญ่วิทยาลัย ครองแชมป์ทั่วประเทศ ส่วน สามเสนวิทยาลัย เฉือนสวนกุหลาบฯ แชมป์ที่ 1 ในกทม.

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ร.ร.มัธยมศึกษาสังกัด สพฐ. เปิดรับสมัครนักเรียนเข้าศึกษาต่อระดับ ม1 และ ม4 มาตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. ถึง 18 มี.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม 3 วันที่ผ่านมา ร.ร.ยอดนิยมจำนวน 369 โรง มีนักเรียนมาสมัครเข้า ม.1 รวมทั้งหมดถึง 201,707 คนแล้ว แต่ทั้ง 369 โรงสามารถรับนักเรียน ม.1 ได้แค่ 164,432 คน เท่ากับมีนักเรียนมาสมัครเกินจำนวนที่รับได้เกือบ 40,000 ที่นั่ง ส่วนระดับชั้น ม.4 ร.ร.ยอดนิยมรับได้ 139,989 คน มีนักเรียนสมัครมาแล้ว 94,255 คน

ทั้งนี้ ร.ร.ที่มีนักเรียนมาสมัครเข้า ม.1 มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1 ร.ร.หาดใหญ่วิทยาลัย มาสมัคร 3,544 คน รับได้ 460 คน 2. ร.ร.หาดใหญ่สมบูรณ์กุลกันยา สมัคร 3,469 คน รับได้ 480 คน 3. ร.ร.นครสวรรค์ สมัคร 2,706 คน รับได้ 640 คน 4. ร.ร.สามเสนวิทยาลัย สมัคร 2,509 คน รับได้ 384 คน และ ร.ร.สามัคคีวิทยาคม จ.เชียงราย สมัคร 2,473 คน รับได้ 470 คน

ส่วนระดับ ม.4 นั้น อันดับ 1 ร.ร.หาดใหญ่วิทยาลัย สมัคร 2,431 คน รับได้ 710 คน 2.ร.ร.ร้อยเอ็ดวิทยาลัย สมัคร 1,504 คน รับได้ 630 คน 3. ร.ร.สตรีศึกษา จ.ร้อยเอ็ด สมัคร 1,411 คน รับได้ 660 คน 4..ร.ร.พิริยาลัย จ.แพร่ สมัคร 1,265 คน รับได้ 560 คน และ ร.ร.สาสมัคคีวิทยาคม จ.เชียงราย สมัคร 1,195 คน รับได้ 660 คน

นายชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับร.ร.ยอดนิยมใน กทม.นั้น ร.ร.ที่มีนักเรียนมาสมัครเข้า ม.1 มากที่สุดตามลำดับ ได้แก่ ร.ร.สามเสนวิทยาลัย สมัคร 2,509 คน รับได้ 384 คน ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย สมัคร 2,337 คน รับได้ 384 ราย ร.ร.สตรีวิทยา สมัคร 2,257 คน รับได้ 400 คน ร.ร.ศึกษานารี สมัคร 2,032 คน รับได้ 476 คน ร.ร.บางปะกอกวิทยาคม สมัคร 1,272 คน รับได้ 392 คน

“ ในกทม.นั้น ปัญหาก็ยังอยู่ที่ กทม.เขต 2 ซึ่งมีปัญหาเด็กล้น แต่สถานการณ์ในปีนี้น่าจะดีขึ้น เพราะร.ร.สังกัด กทม.ขยายรับนักเรียนม.1 เพิ่ม ขณะเดียวกับ สพฐ.เร่งสร้างร.ร.เพิ่มอยู่ “ นายชัยพฤกษ์ กล่าว

Tuesday, March 17, 2009

ศธ.เตรียมดัน 9 เมกะโปรเจกต์

นาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาโครงการเมกะโปรเจกต์ของ ศธ. ซึ่งถือเป็น 1 ใน 6 โครงการหลักของรัฐบาลที่อยู่ในวงเงินกู้ที่รัฐบาลจะกู้มาดำเนินการประมาณ 2 ล้านล้านบาท เป็นงบฯดำเนินการผูกพันต่อเนื่องในปี 2553-2555 ซึ่งเบื้องต้น ศธ. มีโครงการลงทุนด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของ ศธ. จำนวน 9 เรื่อง ได้แก่ 1. การพัฒนาครูทั้งระบบ 2. พัฒนาปัจจัยด้านการศึกษา 3. พัฒนาการศึกษาด้านอาชีวศึกษาสู่ความทันสมัย 4. การเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค 5. การลงทุนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 6. เพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาที่ต่ำกว่าเกณฑ์ 7. สร้างจิตสำนึกคุณธรรม จริยธรรม และสำนึกความเป็นไทย 8. พัฒนาโรงเรียนสู่มาตรฐาน และ 9. สร้างมหาวิทยาลัยวิจัย โดยจะใช้งบฯประมาณ 140,000-150,000 ล้านบาท แต่ ตัวเลขดังกล่าวต้องมีการปรับแก้อีก ทั้งต้องเสนอให้สภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก่อน นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้มีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัด และอำเภอในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จังหวัดให้จัดตั้งขึ้นใน 5 จังหวัด ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล และสงขลา.

กมธ.สิทธิฯจี้รัฐสั่งยกเลิก GAT และ PAT

เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่รัฐสภาคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา คณะกรรมาธิการการยุติธรรมและการตำรวจวุฒิสภา และกรรมาธิการศึกษาวุฒิสภาจัดเสวนาเรื่อง “เอเน็ต...โอเน็ต : การละเมิดสิทธิทางการศึกษาของเด็กกับอนาคตการสอบเข้ามหาวิทยาลัย” โดย นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า หลายฝ่ายมองว่าระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลาง การรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิชชั่น ยังไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าเรียนพอสมควร ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการพยายามหาทางแก้ไข แต่ตนเห็นว่าการคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัยยังคงต้องใช้ระบบแอดมิชชั่น เพราะเป็นระบบที่น่าเชื่อถือ ยุติธรรม โปร่งใส และฝากเด็กไม่ได้ ส่วนองค์ประกอบและค่านำหนักจะต้องใช้คะแนนสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้น ฐานหรือ O-NET และคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย (GPAX) ร่วมกับการทดสอบความถนัดทั่วไปหรือ GAT และทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการหรือ PAT ในปี 2553 จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบแอดมิชชั่น ส่วนปี 2554 นั้นตนขอให้มหาวิทยาลัยไปช่วยดูว่าจะมีการปรับค่าน้ำหนักการใช้คะแนนที่เหมาะสมในแต่ละคณะวิชา


นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าถ้า GAT และ PAT มีปัญหาอย่างที่หลายคนเกรงว่าจะไม่สามารถคัดเด็กได้ตามที่มหาวิทยาลัยต้องการ ดังนั้น น่าจะมีการยกเลิก GAT และ PAT ไป หากทำไม่ทันในปี 2553 ก็ให้ทำในปีต่อไป ทั้งนี้ ตนเสนอให้คณะกรรมาธิการฯได้ตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูปัญหาแอดมิชชั่น และเมื่อได้ข้อสรุปอย่างไรให้เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป


ด้าน ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจข้อสอบ O-NET นั้น ขณะนี้ สทศ.ได้ตรวจข้อสอบของนักเรียน ป.6 ม.3 และ ม.6 เสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนี้จะต้องมีการตรวจทานความถูกต้อง โดยการสุ่มตรวจข้อสอบอีกครั้ง และตรวจดูว่ากระดาษคำตอบกับคนที่เข้าสอบเป็นคนเดียวกันหรือไม่ เพื่อเป็นการยืนยันว่าคะแนนที่ได้นั้นเป็นของนักเรียนที่เข้าสอบจริงๆ คาดว่าปลายเดือน มี.ค.น่าจะประกาศผลได้.

'จุรินทร์'เล็งล้มจัดซื้อคอมพิวเตอร์พกพา

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ว่า ที่ประชุมมีมติให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จังหวัด และ อำเภอ โดยระดับจังหวัดให้จัดตั้งใน 5 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และสงขลา มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ส่วนระดับอำเภอให้จัดตั้งในทุกอำเภอใน 3 จังหวัดภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส มีนายอำเภอเป็นประธาน รวมถึงให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการการศึกษาเอกชนระดับจังหวัดและอำเภอด้วย พร้อมกันนี้จะมีการจัดครู เข้าไปช่วยสอนเพิ่มเติมในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ทุกโรง โรงละ 2 คน และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอย่างเดียวโรงละ 1 คน ส่วนสถาบันการศึกษาปอเนาะก็จะจัดครูอาสาเข้าไปสอนวิชาสามัญแห่งละ 1 คน

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้ สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) จัดทำแผนเกี่ยวกับเด็กตกหล่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังไม่จบการศึกษาภาคบังคับว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเด็กเหล่านั้นให้จบการศึกษาภาคบังคับ ต่อไป ขณะเดียวกันก็ให้มีการจัดโครงการทำดีมีอาชีพให้ด้วย

นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้หารือถึงโครงการเมกะโปรเจคท์ของรัฐบาลที่ ศธ.จะได้รับงบประมาณ 140,000-150,000 ล้านบาท ว่า จะมีการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาการศึกษา 9 โครงการ ส่วนโครงการ One Laptop per Child (OLPC) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเมกะโปรเจคท์ของรัฐบาลที่ผ่านมา ที่จะมีการจัดหาคอม พิวเตอร์ พกพาให้แก่นักเรียนจำนวน 1 ล้านเครื่อง นั้น เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณา และตนคิดว่าคงต้องมีการทบทวน ว่า ในสภาวะ เศรษฐกิจเช่นนี้มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ที่จะให้ทำโครงการนี้ต่อไป.

เปิดใจ...ทีมผู้บริหารมน."มุ่งผลิตบัณฑิตมีอัตลักษณ์เก่งครบสูตร"

ต่อจากนี้มหาวิทยาลัยนเรศวรจะมุ่งเน้นเป็นมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้า กลุ่ม 10 อันดับแรกของประเทศภายในปี พ.ศ.2560 โดยยึดการสร้างสังคมไทยให้มีขีดความสามารถและเข้มแข็งทางด้านความรู้ความ สามารถ

ในด้านการแข่งขัน ตลอดจนความพร้อมที่จะรับมือกับการ เปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์โลก ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำกระบวนการทางการศึกษา คำแสดงวิสัยทัศน์ต่อสภาอาจารย์และประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวร(มน.) ศ.ดร.สุจินต์จินายน อธิการบดีคนใหม่ ภายหลังสภามหาวิทยาลัยนเรศวรมีมติเห็นสมควรให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนใหม่เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน2551

ศ.ดร.สุจินต์ เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนที่1 ของมน. เมื่อปี2536-2544 และทำงานให้แก่มน.มาแล้วเป็นเวลาหลายปีการกลับมาดำรง ตำแหน่งอธิการบดีคนที่ 3 ของมน.ต่อจากรศ.ดร.มณฑลสงวนเสริมศรี อธิการบดีคน ที่ 2 ครั้งนี้ได้วางมาตรการป้องกัน มน.นำกรอบวิสัยทัศน์4 ประการของรัฐบาล มาเป็นโจทย์ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัย ได้แก่ 1.ภาคอุตสาหกรรม สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก2.เศรษฐกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง3.สังคมไทยเป็น สังคมแห่งการเรียนรู้และ 4.คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี

บทบาทของมน.ต้องมุ่งเน้นการพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณภาพศักยภาพ และ ขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง มีภูมิคุ้มกัน โดยนำสังคมเข้า สู่ความเป็นสังคมฐานความรู้ ซึ่งต้องอาศัยทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถ สูง มีความพร้อมทางความรู้ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ถือเป็นพันธกิจหลัก ของ มน. อธิการบดีคนใหม่กล่าว

กรอบกลยุทธ์และมาตรการการพัฒนามน.ในช่วงปี2552-2556 ศ.ดร.สุจินต์ แสดง ทัศนะว่า มหาวิทยาลัยเน้นวางรากฐานการพัฒนาด้านคุณภาพเป็นหลัก ภายใต้กรอบ นโยบาย 4 ด้านคือ ความเป็นเลิศทางการวิจัย พัฒนามหาวิทยาลัยให้มีชื่อเสียง ด้านการวิจัย ทั้งภายในและนอกประเทศ ควบคู่การพัฒนาให้มีระบบและกระบวนการ ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีขีดความสามารถตามความต้องการของแหล่งจ้างงานระดับ แนวหน้าของประเทศ

ความมุ่งมั่นของศ.ดร.สุจินต์ อธิการบดีใหม่แกะกล่องไม่ ได้มุ่งเพียงยกระดับวิชาการ วิจัย แต่มุ่งมั่นปั้นบัณฑิตที่มีอัต ลักษณ์ เก่งงาน เก่งคน เก่งคิด เก่งครองชีวิต และเก่งพิชิตปัญหา โดยมอบหมาย ให้ทุกหน่วยงาน ทุกคณะ นำไปเป็นหลักในการทำงานและ กองกิจการพัฒนานิสิตมน. ก็เป็นหนึ่งหน่วยงานหลักในการพัฒนานิสิตโดยตรง

รศ.ดร.เสวียนเปรมประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต มน. กล่าว ว่าหลังจากได้รับมอบหมายจากอธิการบดีในการปั้นบัณฑิตให้มีอัตลักษณ์ จึง วางแผนพัฒนานิสิต โดยดึงเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม คือ 1.พัฒนานิสิต ให้มีอัตลักษณ์แห่งมน. จบออกไปแล้วเป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ได้ซึ่งขณะนี้ กำลังศึกษาว่า ที่ทำอยู่ ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร 2.ส่งเสริมให้องค์กรสภา นิสิตมีความเข้มแข็งเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการดึงนิสิตให้เข้ามาทำกิจกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัย และห่างไกลอบายมุข

เราต้องดึงนิสิตให้มีส่วนร่วมในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมหรือทำ กิจกรรมตามความถนัด เช่น พัฒนาด้านกีฬาสุขภาพ ปลูกฝังให้นิสิตหันมาออกกำลัง กายเพื่อสุขภาพที่ดี หรือส่งเสริมกีฬาที่เด่น ดีสร้างชื่อเสียงให้แก่ สถาบัน และความภาคภูมิใจให้แก่นิสิตเอง เพื่อสร้างจิตสำนึกให้พวกเขารู้สึก รักตนเอง รวมไปถึงกิจกรรมทางด้านคุณธรรมจริยธรรม และประโยชน์ต่อสังคม รศ.ดร.เสวียนกล่าว

รศ.ดร.เสวียนกล่าวอีกว่า นิสิตถือ เป็นเด็กที่ออกมาจากกรอบที่โรงเรียนมัธยมกั้นไว้เมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัย ความอิสระทางความคิด การกระทำมีมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้เด็กบางคนหลง ทาง มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกองพัฒนากิจการนิสิต เป็นหน่วยงานที่คลุกคลี และ เข้าถึงนิสิตมากที่สุด จึงต้องเป็นผู้ช่วยผลักดันให้นิสิตอยู่ในกรอบ ช่วย สร้างอนาคต การสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้พวกเขาได้พึงกระทำภายใต้การอนุรักษ์ วัฒนธรรม ประเพณี และหลักคำสอนทางศาสนาถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ต่อจากนี้มน. เป็นมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งผลิตบัณฑิตที่มีอัตลักษณ์ เก่งงานเก่งคน เก่งคิด เก่งครองชีวิต และเก่งพิชิตปัญหา ออกสู่สังคมด้วยการประสานการทำงานระหว่างผู้มอบนโยบายกับผู้ปฏิบัติสอดคล้องกัน สนใจเยี่ยมชม มน.โทร.0-5526-1000 หรือwww.acad.nu.ac.th

ตั้งเป้าขยายศูนย์จีทีเอ็กซ์61แห่ง4ปีค้นพบเด็กไทยอัจฉริยะกว่า300คน

เมื่อวันที่16 มีนาคมที่โรงแรมมิราเคิล สถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้(สสอน.) หน่วยงานเฉพาะด้านของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(สบร.)(องค์การ มหาชน)

จัดประชุมชี้แจงนโยบายทิศทางและสัมมนาเชิงปฏิบัติการแก่ผู้บริหาร ครูศูนย์เสาะหาและพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษในท้องถิ่นหรือศูนย์จีทีเอ็กซ์ (Gifted and Talented Exploring Center : GTX) และตัวแทนภาคีเครือข่ายกว่า 200 คน

โดยดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการสบร. กล่าวว่าขณะนี้แต่ละประเทศ จำเป็นต้องค้นหาคนเก่งพิเศษและสนับสนุนบุคคลเหล่านี้ขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มี ความสามารถพิเศษเพื่อเป็นกำลังสำคัญของชาติ ซึ่งไม่เพียงแต่ค้นหาคนในประเทศ ของตนเองเท่านั้น แต่หลายๆประเทศยังยินดีต้อนรับคนที่มีศักยภาพ อัฉริยภาพ และพรสวรรค์ด้านต่างๆจากประเทศอื่นเข้าไปทำงานเพื่อพัฒนาประเทศของตนด้วย

พลเรือเอกธนิธกิตติอำพน รักษาการผู้อำนวยการสสอน. กล่าวว่าศูนย์จีทีเอ็กซ์ ดำเนินการค้นหาและพัฒนาเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษติดต่อกันมาเป็นปีที่ 4 ซึ่งปี2550 มีศูนย์จีทีเอ็กซ์42 ศูนย์ใน 21 จังหวัดภายในปี 2552 จะจัดตั้งให้แล้วเสร็จอีก19 ศูนย์ใน 19 จังหวัดเพื่อขยายพื้นที่บริการของศูนย์จีทีเอ็กซ์เป็น 61 ศูนย์ ใน 40 จังหวัดพัฒนาและเสาะหาผู้มีความสามารถพิเศษด้าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาและวรรณกรรม ศิลปะ ดนตรี กีฬา สังคมศาสตร์และ ความริเริ่มสร้างสรรค์

ตลอด4 ปีสามารถค้นพบเด็กและเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษ 304 คนจากจำนวน เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมการทดสอบตามมาตรฐานทางวิชาการในด้านต่างๆ จำนวน 89,000 คนและผ่านเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกและเข้าร่วมกิจกรรมค่าย เฉพาะทางและค่ายทั่วไปประมาณ 3,647 คนก่อนคัดกรองอีกครั้งเหลือ300 กว่าคน ซึ่งจะพัฒนาต่อยอดไปในระดับที่สูงขึ้น เช่น การเข้าร่วมโครงการพัฒนาอัจฉริย ภาพในสาขาต่างๆของเยาวชนตามมหาวิทยาลัยชั้นนำพลเรือเอกธนิธกล่าว

สาธิตเกษตรฯเจ๋ง!ใช้แบบคัดกรอง ช่วยเด็ก"สมาธิสั้น"ให้เรียนรู้ได้ดีเยี่ยม

สาธิตเกษตรฯเจ๋ง! โชว์ศักยภาพ แบบคัดกรอง นร.ออทิซึมชี้ใช้คัดเด็กออทิซึม-สมาธิสั้น-บกพร่องทางการเรียนรู้ได้ดี เยี่ยม เผยเตรียมพัฒนาระยะต่อไป หวังช่วยนักเรียนที่มีปัญหานี้ ระบุในสถานศึกษาพบเด็กภาวะบกพร่อง 1 ต่อ160 คน

รศ.ดร.ดารณีอุทัยรัตนกิจ อาจารย์ใหญ่ ร.ร.สาธิตแห่งมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้านักวิจัยศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาและคณะ กล่าว ว่า การศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนาศักยภาพนักเรียนที่มีภาวะออทิซึมสมาธิสั้น และบกพร่องทางการเรียนรู้ : ระยะที่ 1 การสร้างกระบวนการและเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานสำหรับการคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้นบกพร่อง ทางการเรียนรู้ และออทิซึม เพื่อให้ครูบุคลากรทางการศึกษา และทางการแพทย์ ที่ใช้แบบคัดกรองที่เป็นมาตรฐานสำหรับนักเรียน ซึ่งใช้เวลา 1 ปีในการจัดทำ ขึ้นมา เนื่องจากในสถานศึกษาพบเด็กมีภาวะบกพร่องทั้ง 3 อาการ เฉลี่ย1 ต่อ160 คน

"แบบคัดกรองนักเรียนเป็นเครื่องมือทางจิตวิทยาที่เป็นมาตรฐานมีเกณฑ์ ปกติ สำหรับการแปรผลคะแนนที่ได้ออกแบบสำหรับครู บุคลากรทางการศึกษาและ บุคลากรทางแพทย์ เพื่อใช้ในการบ่งชี้ และคัดกรองบุคคลที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่อง ทางการเรียนรู้ และออทิซึม แบบคัดกรองฉบับนี้ได้รับการพัฒนาด้วยกระบวนการ ทางเทคนิคทั้งเชิงประจักษ์ และตรรกศาสตร์ และสร้างเกณฑ์ปกติระดับ ประเทศ ด้วยกลุ่มตัวอย่าง โดยแบบคัดกรองดังกล่าวมีข้อความที่บ่งบอกพฤติกรรม ภาวะสมาธิสั้น ภาวะ บกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่าน การเขียน และการคิดคำนวณด้านละ และภาวะ ออทิซึม ออกแบบสำหรับนักเรียนชั้น ป.1-ป.6 อายุ6-13 ปี11 เดือน

เมื่อ2 ปีกระทรวงศึกษาฯ ได้จัดสรรงบ100 ล้านบาทค้นหานักเรียนที่บกพร่อง ทางการเรียนรู้ เพื่อให้การช่วยเหลืออย่างจริงจัง แต่เมื่อคณะได้จัดทำวิจัย แบบคัดกรอง ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้นำไปใช้ใน โรงเรียนแล้ว3.5 แสนชุด สามารถวัดภาวะของเด็กบกพร่องได้ทั้ง 3 อาการสะดวก ต่อครู แพทย์ในการวินิจฉัยอาการ ทางคณะยังได้จัดอบรมครูทั่วประเทศด้วย รศ. ดร.ดารณีกล่าว

แบบคัดกรองที่สร้างขึ้นในบริบทประเทศไทยนี้สามารถคัดกรองนักเรียนได้ ตั้งแต่วัยประถมศึกษา นับเป็นการบำบัดนักเรียนกลุ่มนี้ได้เร็วขึ้น ดังนั้น ทางคณะทำการทดลองระยะที่ 2 นำแบบคัดกรองไปใช้ทั่วประเทศและประเมินกลุ่ม ตัวอย่าง 500 กว่าคนส่วนระยะที่ 3 รายงานผลวิจัยไปสร้างรูปแบบการใช้การช่วย เหลือ ส่งเสริมทางวิชาการในพื้นที่โรงเรียนชนบท และระยะที่ 4 จะลงไปติดตาม ขยายผลการใช้ในโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อพัฒนานักเรียนกลุ่มนี้

Monday, March 16, 2009

กดดันเข้าร.ร.ดี เด่น ดัง ระวัง!!! ผลักลูกตกเหวตลอดชีวิต

ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนของน้องๆ บางคนอาจจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ความเพลิดเพลินกับกิจกรรมที่ผ่อนคลาย สนุกสนาน ได้เวลาไปท่องเที่ยวทะเล ป่าเขากับครอบครัว แต่สำหรับน้องๆ ในระดับ ป.6 ม.3 และ ม.6 ถือเป็นช่วงหนักหน่วง

ลุ้นระทึกที่ต้องเตรียมตัวกับสารพัดสอบ อาทิ เปิดรับสมัคร ม.1 ตั้งแต่วันที่ 14-18 มีนาคม สอบจีเอที พีเอที ตั้งแต่วันที่ 7-15 มีนาคม และสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 สอบวันที่ 23 มีนาคม ส่วน ม.6 สอบวันที่ 23-24 มีนาคม สิ่งที่ตามมากับสารพัดสอบครั้งนี้ นั่นคือ ความเครียด! ไม่ว่าจะเป็น ตัวลูก คุณพ่อ คุณแม่
วัน นี้จึงเก็บเอาคำแนะนำดีๆ จาก พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่มาพูดคุยผ่านรายการ "แนะแนวแนะน้อง" ทางเอฟเอ็ม 102 "เวิร์กกิ้ง สเตชั่น เพื่อคนมีไฟ ร่วมใจฝ่าวิกฤติ" เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา มาเป็นข้อคิดสำหรับทุกคน
พญ.อัมพร เริ่มต้นว่า การที่เด็กตกอยู่ในช่วงสอบแข่ง ขันมากๆ แบบนี้ จะไม่ให้เครียดเลยคงเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่มีความคาดหวังกับลูก ดังนั้น ควรเครียดในสิ่งที่ควรเครียด มาช่วยกันหาสาเหตุว่าความเครียดมาจากอะไร กลัวลูกไม่มีที่เรียน หรือไม่ได้ที่เรียนตามใจเขา หรือไม่ได้ที่เรียนตามใจพ่อแม่
หากเป็นประเด็นแรกค่อนข้างชัดเจนว่า สถานศึกษาทั้งภาครัฐ เอกชนมีเพียงพอรองรับนักเรียนชั้นม.1 แน่นอน จึงไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอาจจะเป็นข้อต่อมาคือ ไม่ได้เรียนตามใจเขา อยากเรียนในโรงเรียนที่ชื่นชม ชื่นชอบแล้วเกิดความเครียด ดังนั้น พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกเรียนรู้ว่า หากอยากสมหวังต้องมีความมุ่งมั่น พากเพียรเรียนรู้ แล้วทำอย่างเต็มศักยภาพ หากสอบไม่ ได้ถือว่าได้ทำเต็มที่แล้ว ไม่ควรท้อแท้ ควรพัฒนาศักยภาพตัวเอง แล้วมองหาสิ่งที่สอดคล้องกับศักยภาพตัวเอง คือโรงเรียนที่ชื่นชอบในลำดับรองลงมา ถ้าทำให้ลูกเห็นปัญหา แม้จะเป็นการสอบที่เครียด แต่เป็นความเครียดที่คุ้มค่า
สุดท้าย หากความเครียดนั้นมาจากเกรงว่าจะไม่ได้ที่เรียนตามใจพ่อแม่ อยากจะบอกพ่อแม่ว่าอย่าปล่อยให้ความต้องการ ความเชื่อมั่นศรัทธาของตัวเราไปครอบงำชีวิตของลูก การได้เรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ดี เด่น ดัง ไม่ได้หมายความว่า เป็นโอกาสที่ดีของลูกเสมอไป เมื่อเทียบกับลูกได้อยู่ในโรงเรียนอื่นๆ อาจจะไม่มีคู่แข่งสอบที่ ดี แต่มีเพื่อนๆ ที่ช่วยในเรื่องของทักษะชีวิตที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ มีความหลากหลายของชีวิต ล้วนแล้วเป็นบทเรียนที่ดีในการใช้ชีวิตของลูกเราทั้งสิ้น นี่เป็นเพียงบันไดขั้นพื้นฐานของชีวิตเท่านั้น
ถ้าหากพ่อแม่ยังกดดันให้ ลูกเรียนแต่ในโรงเรียนที่ดี ที่มีชื่อเสียงมาก การแข่งขันก็สูงตาม ความกดดันจากพ่อแม่ต้องส่งผ่านไปถึงลูกอย่างแน่นอน และเมื่อลูกมีการเรียนรู้ความกดดันจะมีแต่ผลเสีย ตกอยู่ในภาวะถูกกดดันทางจิตใจ แสดงออกมาให้เห็นชัดเจนทางร่างกาย เช่น สภาพอารมณ์ที่ไม่มีความสุข เกรียวกราด หงิดหงิดง่าย ขี้โมโห บางคนอาจจะเงียบ ซึม เก็บตัวอยู่คนเดียว อาจจะบ่มเพาะส่งผลเป็นปัญหาการเรียนตกต่ำ เริ่มมีความขัดแย้ง ใช้ความรุนแรงกับพี่น้อง เพื่อนฝูง ครูอาจารย์ ลามไปถึงพ่อแม่ด้วย มองอนาคตไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง บางครั้งก็ดูสิ้นหวัง ไม่มีรอยยิ้ม ไม่มีความสดใส โตขึ้นกลายเป็นคนที่ปรับตัวเข้ากับสังคมได้ยาก ทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย นี่คือผลของการถูกกดดันมาตั้งแต่เด็ก กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้
" การส่งเสริมให้ลูกรักเรียนเป็นสิ่งที่ดี แต่เราต้องรู้ว่าการเรียนของเด็ก ไม่ใช่การเรียนหนังสืออย่างเดียว อาจจะหมายถึงการเรียนรู้ การปรับตัวกับชีวิตในแง่มุมอื่นๆ แม้โรงเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นบ้านที่สองของลูกก็จริง แต่บ้านที่สองจะไม่มีทางสำคัญไปกว่าบ้านหลังแรกของลูก เพราะฉะนั้น ถ้าเรากดดันให้เข้าบ้านหลังที่สองที่พ่อแม่รู้สึกว่าดีเลิศประเสริฐศรี แล้วทำให้บรรยากาศในครอบครัวในบ้านหลังแรกเต็มไปด้วยความคาดหวัง กดดัน บ้านหลังที่สองสวยงามแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ เพราะบ้านหลังที่ลูกอาศัยอยู่คือบ้านหลังแรก ขอให้มองมุมกว้าง ไม่อย่างนั้นแล้ว เรานี่แหละคือคนที่ปิดกั้นอนาคตลูก ปิดกั้นความคิดลูก คงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง" พญ.อัมพรกล่าวทิ้งท้าย

สพฐ.โหมตีปี๊บแจงเรียนฟรี 15 ปี

ดร.สมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการจัดสรรงบประมาณในโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ซึ่งหลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2552 ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา สพฐ.ได้โอนงบฯ ในวงเงิน 11,000 ล้านบาท ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ต่าง ๆ แล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม ซึ่งคาดว่าภายในวันที่ 16 มีนาคมนี้ สพท.ทุกแห่งจะได้รับงบฯเรียบร้อย เพื่อจัดสรรให้โรงเรียนต่าง ๆ นำไปดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามโครงการเรียนฟรี 15 ปีต่อไป

รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้แม้ว่าประชาชนจะรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเรียนฟรี 15 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีผู้ไม่รู้อยู่ ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ ได้ให้ สพฐ.ทำหนังสือแจ้งไปยัง ผอ.สพท. และผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ทราบถึงแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งให้ผู้บริหารสถานศึกษาทำหนังสือแจ้งผู้ปกครอง ว่า เมื่อเปิดภาคเรียนที่ 1/2552 นักเรียนจะได้รับสิทธิเรียนฟรีในรายการใดบ้าง และในเร็ว ๆ นี้ สพฐ.จะทำประชาสัมพันธ์พร้อมกันทั่วประเทศอีกครั้ง นอกจากนี้คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการ กพฐ.ยังได้ตั้งคณะติดตามการดำเนินโครงการเรียนฟรี 15 ปี ขึ้น เพื่อวิเคราะห์คำถามต่าง ๆ เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ลงไปดูแลและแก้ไขปัญหาด้วย ตลอดจนจะเปิดศูนย์อำนวยการ เพื่อเผยแพร่และตอบคำถามต่าง ๆ โดยจะมีการนำคำถามยอดฮิตลงในเว็บไซต์ www.obec.or.th ของ สพฐ.ด้วย ทั้งนี้หากผู้ปกครองและนักเรียนมีข้อสงสัยสามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วนการศึกษา 1579.

สพฐ.ยํ้าห้ามโรงเรียนบังคับสละสิทธิของฟรี

ดร. สมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่โครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพได้จัดสรรเงินให้ผู้ปกครองจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนและเครื่อง แบบนักเรียนได้เองนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่ได้จำกัดรายการและจำนวนของที่จะต้องซื้อ โดยผู้ปกครองจะต้องดูตามความเหมาะสม ถ้ามีเงินเหลือสามารถซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการเรียนเพิ่มเติมให้ครบตาม จำนวนเงินได้ แต่ห้ามจัดซื้อน้อยกว่าวงเงินที่ได้รับ เพราะจะถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิของเด็ก

ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ในการซื้อเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนนั้น ศธ.ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องซื้อที่ใด เพียงแต่เมื่อซื้อแล้วจะต้องมีใบเสร็จ หรือถ้าซื้อตามตลาดทั่วไป ที่อาจจะไม่มีใบเสร็จก็ควรขอบิลเงินสด เพื่อนำมายืนยันกับทางโรงเรียนว่าได้ซื้อของตามวัตถุประสงค์ และไม่ได้ไปซื้อของมือสองมา อย่างไรก็ตามถ้าไม่มีใบเสร็จมายืนยันก็ยังมีหลักฐานคือเครื่องแบบ หรืออุปกรณ์การเรียนมาแสดงได้ ทั้งนี้หากผู้ปกครองไม่นำเงินไปซื้อของตามโครงการ แต่มีบิลเงินสดที่ทำขึ้นเองมาแสดงก็จะถือว่ามีความผิด

“ส่วนกรณีบางโรงเรียนบังคับให้นักเรียนสละสิทธิในโครงการนั้น ผมอยากขอร้องว่าการจะสละสิทธิหรือไม่ควรเป็นไปด้วยความสมัครใจ เพราะในแต่ละโรงเรียนจะต้องมีทั้งเด็กที่มีพร้อมทุกอย่างและบางคนก็ขาดแคลน จริง ๆ ดังนั้นถ้าโรงเรียนใดบังคับให้สละสิทธิก็ให้แจ้งมาที่ สพฐ.ได้ เพราะถือว่ามีความผิด” ดร.สมเกียรติ กล่าว และว่า สำหรับแนวทางการโอนงบประมาณให้แก่สถานศึกษาจัดซื้อหนังสือเรียนนั้น งบฯที่โอนให้จะหักจากราคาปกหนังสือขององค์การค้าฯ 20% แล้ว โดยกรณีที่สถานศึกษาได้รับงบฯ น้อยกว่า 1 แสนบาท จะดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีตกลงราคา แต่ถ้าได้รับงบฯ มากกว่า 1 แสนบาท แต่ไม่ถึง 2 ล้านบาท จะจัดซื้อโดยวิธีสอบราคา ซึ่งสถานศึกษาจะต้องประกาศในคราวเดียวกันว่า แต่ละระดับชั้นจะใช้หนังสือของสำนักพิมพ์ใด จากนั้นจะเปิดโอกาสให้ผู้แทนจำหน่าย หรือร้านค้าเสนอราคาหนังสือที่ตัวเองมีอยู่ เพื่อให้สถานศึกษาได้เลือกราคาที่ถูกที่สุด ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการซอยซื้อ

“ก่อนที่จะมีการกำหนดวงเงินจัดซื้อหนังสือเรียน ได้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบจากหลายฝ่ายแล้ว พบว่าอัตราที่จัดสรรให้เพียงพอต่อการจัดซื้อ เนื่องจากสามารถถัวเฉลี่ยในการจัดซื้อระดับชั้นต่างๆ ได้ ซึ่งผมยืนยันว่าการกำหนดแนวทางดังกล่าว ไม่ได้ล็อกสเปกให้สถานศึกษาซื้อหนังสือจากองค์การค้าฯ เท่านั้น” ดร.สมเกียรติ กล่าว.

รร.เอกชนคคึกคักเปิดใหม่รับเรียนฟรี

นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร ผอ.สำนักบริหารงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพในส่วนของสถานศึกษาเอกชนว่า ขณะนี้ทางโรงเรียนเอกชนสอบถามเข้ามามากว่าหากมีงบประมาณเหลือจากการจัดซื้อ หนังสือเรียน จะสามารถนำไปใช้พัฒนาการเรียนการสอนในกิจกรรมอื่นได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ตนอยากให้โรงเรียนใช้จ่ายในส่วนที่ได้รับมาให้เต็มที่และเกิด ประโยชน์มากที่สุดก่อน ยังไม่อยากให้นำไปใช้ส่วนอื่น ส่วนเรื่องการสละสิทธิ์ชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนนั้น ยังอยู่ระหว่างการให้โรงเรียนต่าง ๆ รณรงค์เรื่องนี้ เพราะในเบื้องต้นทราบว่ายังมีจำนวนน้อยมากที่ขอสละสิทธิ์ จึงให้ยืดระยะเวลาการแจ้งขอสละสิทธิ์ออกไปอีก เนื่องจากขณะนี้บางโรงเรียนปิดภาคเรียนแล้ว คงต้องรอให้มีการประชุมผู้ปกครองก่อน

นายบัณฑิตย์ กล่าวต่อไปว่า โครงการเรียนฟรี 15 ปี ได้รับเสียงตอบรับดีมากจากผู้บริหารโรงเรียนเอกชน เพราะเอื้อประโยชน์ต่อโรงเรียนเอกชนเป็นอย่างดี และขณะนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการขอเปิดสถานศึกษาเอกชนมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจ เพราะในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ โรงเรียนเอกชนน่าจะได้รับผลกระทบ อาจต้องมีการปิดตัว และชะลอการเปิด แต่กลับมีการมาขอเปิดโรงเรียนมากขึ้น ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะสาเหตุที่รัฐดำเนินนโยบายเรียนฟรี 15 ปีหรือไม่

นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดทำร่างหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บเงินบำรุงการศึกษา การบริจาคและการระดมทรัพยากรเพื่อใช้จ่ายในการจัดการศึกษา สำหรับนักศึกษาหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 1-3 ภาคปกติ เสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างให้สถานศึกษาในสังกัดช่วยกันพิจารณา คาดว่าในวันที่ 16 มี.ค. นี้ตนจะลงนามในประกาศดังกล่าว โดยเบื้องต้นร่างหลักเกณฑ์ฯ ได้กำหนดรายละเอียดไว้ เช่น 1.ค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่รัฐบาลจัดสรรฯให้จะไม่สามารถจัดเก็บหรือขอรับการสนับสนุนจากผู้ปกครองและ นักเรียนได้ อาทิ ค่าเล่าเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ค่าวัสดุการศึกษาไม่รวมถึงอุปกรณ์การเรียนส่วนตัวของนักเรียนซึ่งต้องจัดหา เอง เงินอุดหนุนชดเชยเงินบำรุงการศึกษา ค่าอุดหนุนเกษตรเพื่อชีวิต ค่าซ่อมแซมยานพาหนะและขนส่ง ค่าซ่อมแซมครุภัณฑ์และอุปกรณ์การเรียนการสอน ค่าซ่อมแซมสิ่งก่อสร้าง ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าวัสดุสำนักงาน ค่าวัสดุเชื้อเพลิงและหล่อลื่น ค่าวัสดุยานพาหนะและขนส่ง ค่าวัสดุงานบ้านงานครัว ค่าวัสดุเวชภัณฑ์ ค่าวัสดุงานโฆษณาและเผยแพร่ ค่าวัสดุคอมพิวเตอร์ ค่าบริการห้องสมุดพื้นฐาน ค่าบริการห้องพยาบาล ค่าอุปกรณ์กีฬา.

เรียนฟรีได้ฤกษ์แล้วคาด19มี.ค.นี้รับเงิน

เริ่มแล้วเรียนฟรีทั่วไทย!!! "จุรินทร์" กดปุ่มส่งสาร คาด 19 มี.ค. ได้รับเงินงบประมาณจากกระทรวงการคลังแน่นอน ก่อนจะกระจายไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ ระบุไม่น่ามีปัญหา เพราะหน่วยงานรับผิดชอบเตรียมพร้อมแก้ไขอยู่แล้ว ด้าน “คุณหญิงกษมา” มั่นใจผู้บริหารโรงเรียนจัดการบริหารเงินถึงมือผู้ปกครองแบบ ไร้ปัญหา

เมื่อวันที่ 15 มี.ค.นายจุรินทร์ ลักษณ วิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการกดปุ่มส่งสารนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ที่สถานีโทรทัศน์ NBT ว่า ขณะนี้นโยบายเรียนฟรีได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งถือได้ว่ารัฐบาลได้ลงทุนเพื่อการศึกษาชาติอย่างแท้จริง และการดำเนินงานทุกอย่างมีความพร้อมเกือบ 100% เหลือเพียงการรองบประมาณจากกระทรวงการคลังโอนมาให้กับ ศธ. เพื่อจัดส่งไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งคาดว่ากระทรวงการคลังจะพร้อมโอนมาให้ ศธ. ได้ในวันที่ 19 มี.ค. จากนั้นโรงเรียนประมาณ 30,000-40,000 โรง จะได้รับจัดสรรเงินอย่างพร้อมเพรียงกัน สำหรับเรื่องการบริหารจัดการนั้น ศธ.ได้ทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง และสถานศึกษาเองก็มีความเข้าใจระเบียบกฎเกณฑ์ที่จะดำเนินการเป็นอย่างดี ดังนั้นการบริหารจัดการไม่น่าจะมีปัญหาอะไร หากจะมีก็คงเป็นรายละเอียดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ว่าทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบได้มีการเตรียมรองรับพร้อมที่จะแก้ปัญหาที่ เกิดขึ้นอยู่แล้ว

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จะประชุมทำความเข้าใจกับสถานศึกษาที่ไม่ได้สังกัด ศธ. เช่น วิทยาลัยนาฏศิลป์ สังกัดกระ ทรวงวัฒนธรรม (วธ.) หรือโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อขอให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับศธ.ในการดำเนินการ เพื่อให้ถือเป็นแนวปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามจะประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจเพิ่มเติมให้กับโรงเรียนและผู้ ปกครองได้รับทราบถึงแนวปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวด้วย ซึ่งหากผู้ปกครองมีปัญหาไม่เข้าใจเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การดำเนินการตามนโยบายนี้ ก็สามารถแจ้งปัญหาและข้อสงสัยเหล่านั้นมาได้ที่ สายด่วน ศธ. 1579 ขณะเดียวกันจะจัดทำคู่ มือประเด็นคำถามและคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนโยบายเรียนฟรีในครั้งนี้ เพื่อแจกจ่ายไปยังสถานศึกษาทั่วประเทศด้วย

ด้านคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ในวันที่ 19 มี.ค. จะกดปุ่มโอนเงินได้พร้อมกันทั่วประเทศ โดยจะแจกจ่ายเงินไปยังโรงเรียนต่าง ๆ และเมื่อเงินถึง โรงเรียนแล้ว โรงเรียนจะไปบริหารจัดการเองว่าจะนัดผู้ปกครองมารับเงินได้ในวันไหน เพราะ อยู่ในช่วงปิดภาคเรียน แต่ก็เชื่อว่าโรงเรียนจะ สามารถบริหารจัดการได้.

เดินหน้าปรับพื้นฐานคณิต-วิทย์ นศ.ใหม่

รศ.ดร.จุไรรัตน์ ดวงเดือน รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า มทร.ธัญบุรี เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถทั้งภาคทฤษฎีและ ปฏิบัติ ตรงตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่จะผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติให้ตรงตามความต้องการ ของสถานประกอบการ ทั้งจัดหลักสูตรสหกิจศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานทาง คณิตศาสตร์และฟิสิกส์ แต่ที่ผ่านมาพบว่านักศึกษากลับมีพื้นฐานในรายวิชาดังกล่าวค่อนข้างต่ำ บางคนเข้าศึกษาวิศวกรรมศาสตร์และวิชาวิทยาศาสตร์ แต่มีปัญหาการเรียนในรายวิชาคณิตศาสตร์ และวิชาฟิสิกส์ เนื่องจากความรู้พื้นฐานของนักศึกษายังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ที่จบการศึกษาระดับ ปวช.จะเรียนไม่ค่อยทัน รวมถึงนักศึกษาที่จบ ม.6 บางคนด้วย ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงจัดโครงการ สอนปรับพื้นฐานวิชาคณิตศาสตร์และวิชาฟิสิกส์ให้แก่ นักศึกษาใหม่ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2552 เพื่อให้นักศึกษามีความรู้พื้นฐานเพียงพอในการเรียนวิชาแคลคูลัสสำหรับ วิศวกรรม ถือเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเทอม.

“ชัยวุฒิ” ปูดข่าวถูกทัก “รับตรง” ฝากเด็กได้

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมประธานคณะทำงานศึกษาแอดมิชชั่น ฟอรั่ม ปีการศึกษา 2553 ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาที่ขณะนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งหันไปรับนิสิต นักศึกษา ด้วยวิธีการรับตรงมากขึ้น เพราะเห็นว่าสัดส่วนองค์ประกอบที่ใช้พิจารณาประกอบการคัดเลือกบุคคลเข้า ศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ในระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือแอดมิชชั่น ไม่สามารถตอบ สนองความต้องการของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ได้ ที่ประชุมจึงเห็นร่วมกันในหลักการ ว่า จะมีการปรับสัดส่วนองค์ประกอบแอดมิชชั่น ปีการศึกษา 2554

“หลังจากนี้ทางคณะวิชาของทุกมหาวิทยาลัย จะต้องประชุมร่วมกันว่าจะ ปรับปรุงสัดส่วนอย่างไรให้เหมาะสมที่สุด แต่อย่างน้อย คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต และคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย หรือจีพีเอเอ็กซ์ จะต้องกำหนดสัดส่วนไม่น้อยกว่า 10% ซึ่งภายในเดือน ก.ค.นี้ จะได้ข้อสรุปสัดส่วนของแต่ละคณะ วิชาที่จะใช้ในแอดมิชชั่นปีการศึกษา 2554 โดยแต่ละ กลุ่มคณะ/สาขาวิชาของแต่ละมหาวิทยาลัย อาจจะไป ตกลงรวมกลุ่มกันและใช้สัดส่วนเดียวกันในการรับตรง โดยให้ สกอ.เป็นผู้ดำเนินการ หรือหากในแต่ละคณะ/ สาขาวิชาของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีความต้องการที่ แตกต่างกัน ก็อาจแยกออกเป็นรับตรง 2-3 กลุ่มก็ได้” นายชัยวุฒิกล่าวและว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งหันมาใช้วิธีการรับตรงมากขึ้น ทำให้เกิดข้อสงสัยในสังคมเมื่อ เร็วๆนี้ มีคนมาพูดกับตนว่า รับตรงฝากเด็กได้ใช่หรือไม่ แสดงให้เห็นว่าระบบการรับตรงสร้างความแคลงใจให้สังคม ทุกมหาวิทยาลัยจะต้องไปหารือร่วมกันว่าทำอย่างไรที่จะคงระบบแอดมิชชั่นกลาง เอาไว้

ด้านนายมณฑล สงวนเสริมศรี ประธานคณะทำงานแอดมิชชั่นฟอรั่ม กล่าวว่า สัดส่วนและองค์ ประกอบของแอดมิชชั่นปี 2553 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนแอดมิชชั่น 2554 ที่ต้องปรับสัดส่วนและองค์ ประกอบนั้น ทาง ทปอ.จะให้ฝ่ายกฎหมายไปพิจารณาในประเด็นต่างๆ ก่อน เพราะอาจมีปัญหาเด็กนักเรียนยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองเหมือนคดีอื่นๆได้.

ชง 3 แนวทางอัพเกรดวิชาวิทย์-คณิต

นาย ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ปัญหาเด็กไทยมีผลสัมฤทธิ์วิชาวิทยาศาสตร์และ คณิตศาสตร์ตกต่ำว่า ได้มีการประชุมคณะทำงานเพื่อสรุปปัญหาและหาแนวทางแก้ไข โดยจะมีการสรุปอีกครั้งในวันที่ 18 มี.ค.นี้ จากนั้นคาดว่าจะนำเสนอที่ประชุมองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการได้ ในวันที่ 26 มี.ค.นี้ สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหานั้น หลักการเดิมจะแก้ปัญหาเฉพาะเด็กอ่อนในโรงเรียนไอซียู กว่า 6,000 โรง แต่คิดว่าจะไม่ครอบคลุมและไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว ดังนั้น เบื้องต้นคณะทำงานได้กำหนด แนวทางแก้ปัญหา 3 แนวทาง คือ 1. แบ่งเด็กออกเป็นเด็กอ่อน ปานกลาง และเด็กเก่ง และพัฒนาการเรียนการสอนพร้อมกันทุกระดับ 2. ลงไปแก้ปัญหาการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถม ซึ่งถือเป็นรากฐานที่สำคัญของการเรียนในระดับ ม.ปลาย และมหาวิทยาลัย และ 3. สร้าง การ มีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในสังคมให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าว เป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องแก้ไขโดยด่วน รวมทั้งต้องสร้างแรงจูงใจให้คนเก่งอยากเป็นครูโดยเฉพาะการเพิ่มค่าตอบแทน.

แนะใช้เกณฑ์คุณธรรม-จริยธรรมคัดเด็กเรียน ม.

น. ส.นราทิพย์ พุ่มทรัพย์ ผอ.ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีแนวความคิดที่จะนำหลักคุณธรรม จริยธรรมมาเป็นเกณฑ์ข้อหนึ่งในการรับนักเรียน นักศึกษา เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษานั้น ตนเห็นว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นเรื่องที่สำคัญ และควรสนับสนุนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เพราะปัจจุบันปัญหาเด็กและเยาวชนขาดคุณธรรม จริยธรรม จะมีแนวโน้มสูงขึ้น หากรัฐบาล โดยเฉพาะ รมว.ศึกษาธิการเห็นความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมให้คุณธรรม จริยธรรม เป็นเกณฑ์ข้อหนึ่งในการคัดเลือก โดยเฉพาะในช่วงรับสมัครนักเรียน นักศึกษา เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ทางสถาบันก็จะสามารถคัดสรรนักศึกษาในเบื้องต้นได้ก่อน นำไปสู่การผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพ ดังนั้น ตนอยากเสนอเรื่องดังกล่าวต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เพื่อพิจารณาเป็นแนวทางหนึ่งในการดำเนินการรับนักศึกษาเข้าศึกษาต่อใน มหาวิทยาลัยในปี 2552 นี้ด้วย



น. ส.นราทิพย์กล่าวต่อว่า การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรู้จักการทำความดี จะต้องเริ่มตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยใช้กิจกรรมเป็นแนวทางการส่งเสริมการทำความดีให้เด็กและเยาวชน เช่น การช่วยเหลือชุมชน การสร้างจิตอาสาให้แก่เด็ก ทั้งนี้ โรงเรียน ครู จะต้องไม่ใช้วิธีการสั่งให้เด็กทำ แต่ต้องให้เด็กได้คิดและลงมือทำด้วยตัวเอง เพื่อเป็นการสร้างกระบวนการของการทำความดีไปในตัวด้วย ซึ่งกระบวนการดังกล่าว เด็กสามารถรวบรวมเป็นข้อมูลเป็นแฟ้มผลงานไว้ใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้.

ครูเอกชนรวมพลเสื้อชมพูทวงสัญญารัฐ

นาย ยืนยง จิรัฎฐิติกาล ผู้แทนครูโรงเรียนเอกชน ในคณะกรรมการคุรุสภากล่าวว่า ตามที่ผู้แทนครูและ ผู้แทนผู้บริหารโรงเรียนเอกชนในคณะกรรมการคุรุสภา ได้นำมติของการประชุมสมาคมโรงเรียนเอกชนและผู้แทนสมาคมโรงเรียนเอกชนทั่ว ประเทศ เสนอต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ และ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้มีการพิจารณาช่วยเหลือผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนเอกชน ในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1. ให้ช่วยออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเงินวิทยฐานะของผู้บริหารและครู โรงเรียนเอกชน 2. การช่วยเหลือเงินค่าครองชีพชั่วคราวแก่ข้าราชการและครูโรงเรียนเอกชนที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 11,700 บาท ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2552-ก.ย. 2552 ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรให้แก่ข้าราชการไปแล้วแต่ในส่วนของโรงเรียนเอกชนยังไม่ได้ดำเนินการ 3. การจัดสรรเบี้ยยังชีพ 2,000 บาท ให้แก่ข้าราชการและบุคคลทั่วไปที่ประกันตนเอง และมีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งครูและบุคลากรโรงเรียนเอกชน จะไม่ได้รับเนื่องจากถูกล็อกด้วยมาตรา 86 ของ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 และ 4. ขอ ให้มีการปรับแก้ระเบียบว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ครูใหญ่และครูเอกชน ให้ สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันที่กองทุนจ่ายเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลแก่ครู โรงเรียนเอกชนคนละ 1 แสนบาท ต่อปี โดยไม่รวมสามี-ภรรยา บุตร บิดา และมารดาของครู ทำให้ครูเอกชนได้รับ ความเดือดร้อนอย่างมาก


นายยืนยงกล่าวอีกว่า ทั้งนี้จากข้อเรียกร้องดังกล่าว รมว.ศึกษาธิการยังไม่ ดำเนินการใดๆเลย และล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ทำหนังสือทวงถามเรื่องดังกล่าวถึง รมว.ศึกษาธิการอีกครั้ง และพร้อมกับได้แจ้งให้ทราบว่า ในวันที่ 18 มี.ค. เวลา 13.00 น. ครู ผู้บริหาร และบุคลากรของโรงเรียนเอกชนจำนวนกว่า 15,000 คน จะพร้อมใจกันใส่เสื้อสีชมพูมารวมตัวเพื่อขอพบ รมว.ศึกษาธิการ ที่ หอประชุมคุรุสภา เพื่อรอฟังคำชี้แจงจาก รมว.ศึกษาธิการ ทั้งนี้ ยืนยันว่าการชุมนุม ครั้งนี้จะเป็นการชุมนุมโดยสงบ แต่หาก รมว.ศึกษาธิการไม่ให้ความสนใจก็จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลต่อไป.

Friday, March 6, 2009

โยนนายกฯตัดสินขายเหล้าเทศกาล

นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุมเพื่อหารือเรื่องมาตรการ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ว่ามีข้อมูลชี้ว่าเบียร์มียอดการจำหน่ายสูงสุด ในเดือน เม.ย.และ ธ.ค.สอดคล้องกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 2.6 เท่า และมีคดีเกี่ยวกับความรุนแรงเพิ่มขึ้น ในช่วงเทศกาล

ด้านนายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข กล่าว ว่า ได้มอบหมายให้ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมในฐานะเลขาการประชุมสรุปข้อมูลเพื่อ รายงานให้นายวิทยารับทราบและเสนอเข้า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานให้เร็วที่สุดเพื่อให้ทันการบังคับใช้ ในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้

นายฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์ ผอ.สายการตลาด บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายคือการควบคุม ไม่ใช่การจำกัดการห้ามการจำหน่าย เป็นแค่การย้ายปัญหาจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งย้ายการซื้อจากร้านสะดวกซื้อไป ร้านของชำเท่านั้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา.

ทปอ.แบไต๋รับปรับองค์ประกอบแอดมิชชั่น

ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยถึงการคัดเลือกนิสิตในระบบ รับตรงของจุฬาฯในปีการศึกษา 2553 ว่า คณะที่รับตรงได้แก่ เภสัชศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา สถาปัตยกรรมศาสตร์ ครุศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิเทศศาสตร์ โดยกำหนดว่าทุกคณะมีองค์ประกอบดังนี้ คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอด หลักสูตรมัธยมปลายหรือจีแพ็กซ์ 10%, ผลคะแนนแบบทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และคะแนนแบบทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT โดยจะใช้คะแนนสอบครั้งที่ 2 ในเดือน ก.ค. 2552 เพื่อความยุติธรรม นักเรียน เลือกได้ 4 คณะ/หลักสูตร ดูข้อมูลรับตรงได้ที่ http://www.atc.chula.ac.th ทั้งนี้ หาก ทปอ.ปรับเกณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการ ของจุฬาฯ ก็พร้อมกลับมารับด้วยระบบแอดมิชชั่นกลาง กรณีกลุ่มคณะวิทยาศาสตร์ขอแยกสอบ 3 วิชา คือ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา รวมถึงการปรับค่าน้ำหนัก PAT ภาษาต่างประเทศ จะหารือ ทปอ. วันที่ 13 มี.ค.นี้ และ ทปอ.จะวิจัย GAT และ PAT ว่าสามารถวัดศักยภาพการคัดนิสิตนักศึกษาได้จริงหรือไม่

ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีฝ่าย วิชาการ จุฬาฯ กล่าวว่า คณะอักษรฯ จุฬาฯ รับตรง 100% เนื่องจากค่าน้ำหนัก PAT ภาษาต่างประเทศในแอดมิชชั่นกลางเพียง 10% อาจทำให้ได้คนไม่ตรงกับปณิธานคณะ และจะทำเรื่องถึง ทปอ. ปรับเป็น 30% ในปีการศึกษา 2554 หากทำได้ก็จะกลับไปรับในระบบ แอดมิชชั่นกลาง ด้าน ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คณะรับตรง 50% และจะติดตามผลคะแนนสอบ GAT, PAT หากไม่ต่างจากคะแนนความถนัดทางวิทยาศาสตร์ที่คณะจัดสอบเอง จะเปลี่ยนเป็นรับตรง 100% ในปีถัดไป

ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า บอร์ด สทศ. ได้หารือกรณีผู้เข้าสอบโอเน็ตประจำปี 2551 ที่ทุจริตและทำ ผิดระเบียบ 10 ราย แยกเป็น ทุจริต 1 ราย ถูกตัดสิทธิไม่ตรวจข้อสอบ ส่วนที่เหลือมีมติให้ตรวจข้อสอบและทำหนังสือถึงโรงเรียนให้ตักเตือน นักเรียน.

เหยื่อ อ.หื่นคว้ารางวัล “สตรีดีเด่น”

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี นายอิสสระ สมชัย รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานมอบโล่เกียรติยศและโล่ประกาศเกียรติคุณ แก่สตรี บุคคล หน่วยงาน องค์กรดีเด่นทั้งภาครัฐและเอกชน ในงานวันสตรีสากล ประจำปี 2552 โดยปีนี้ มี 31 รางวัล ใน 17 สาขา ซึ่งมีบุคคลสำคัญๆ ที่ได้รับรางวัล อาทิ นางสายสุรี จุติกุล สมาชิกคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุก รูปแบบของสหประชาชาติ ได้รับรางวัลบุคคลเกียรติยศดีเด่นด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายและการ คุ้มครองสิทธิสตรี นางสุรภีร์ โรจนวงศ์ ผู้ก่อตั้งสมาคมส่งเสริมและพัฒนาหัตถกรรมอาเซียน ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นในเวที/เครือข่ายระดับสากล นางรัตนา จงสุทธนามณี นายก อบจ. เชียงราย ได้รับรางวัลนักการเมืองท้องถิ่นสตรีดีเด่น น.ส.ปรียาภรณ์ มนัส นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ปกป้องตนเองจากการคุกคามทางเพศในสถานศึกษา ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นด้านการปกป้องสิทธิของตนเอง พล.ต.ท. ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายและการ คุ้มครองสิทธิสตรีภาคราชการ เป็นต้น


น. ส.ปรียาภรณ์กล่าวว่า ดีใจที่ได้รับรางวัล และเชื่อว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และได้ต่อสู้เพื่อให้ ผู้หญิงที่ถูกละเมิดและถูกคุกคามสิทธิได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ ตนเชื่อว่ายังมีนักศึกษาอีกจำนวนมากที่ถูกคุกคามทางเพศ แต่ไม่กล้าออกมาพูดความจริง เพราะเกรงว่าจะอับอายและเสียหาย แต่สำหรับตนที่ผ่านมาแม้จะมีผลกระทบจากความไม่เข้าใจจากอาจารย์ และเพื่อนบ้างในระยะแรก แต่ต่อมาก็เข้าใจและให้กำลังใจ อยากจะฝากถึงผู้หญิงทุกคนที่ถูกคุกคามละเมิดสิทธิทางเพศว่าขอให้ต่อสู้จนถึง ที่สุด อย่าปกปิดคนผิด.

หวั่นบิ๊กเสมาเสียขวัญดัน กศน.-สช.-ก.ค.ศ.ขึ้นกรม

ดร. ชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาดูแลการปรับปรุงโครงสร้างสำนักงาน คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยมีนายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการ กศน. เป็นประธาน เพื่อยกฐานะทั้ง 3 หน่วยงาน จากสำนักเป็นกรม ภายในสำนักงานปลัดเพราะตั้งแต่มีการปรับโครงสร้างใหม่ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ได้ส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าของบุคลากรในระดับผู้บริหารมาก


ปลัด กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า เรื่องความก้าวหน้าของบุคลากรเป็นปัญหายืดเยื้อมานาน โดยเฉพาะสำนักงาน ก.ค.ศ. ซึ่งเดิมเป็นสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.) มีฐานะเป็นกรม แต่หลังจากลดฐานะเป็นสำนักแล้วทำให้เกิดช่องว่างของความเจริญก้าวหน้าใน หน้าที่ราชการ ขณะนี้ ก.ค.ศ.เปรียบเหมือนที่ดินตาบอดที่ไม่มีทางเข้าทางออก ทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยลำบาก หากปล่อยไว้จะทำให้ข้าราชการขาดขวัญกำลังใจ จึงต้องเร่งแก้ไข ทั้งนี้ ตนขอย้ำว่าทั้ง 3 หน่วยงานจะแยกเป็นแท่ง ซึ่งคณะทำงานต้องรีบดำเนินการ และชี้แจงต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เข้าใจว่าการยกฐานะครั้งนี้ไม่ได้ขัดกับหลักของการกระจายอำนาจ ตามที่ ก.พ.ร.เคยตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้านี้ แต่จะสนับสนุนการกระจายอำนาจให้มีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น.

วอน ม.ชื่อดังให้ที่นั่งแอดมิชชั่นกลาง 30%

ตามที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับตรงเนื่องจากเห็นว่าค่าน้ำหนักแบบทดสอบความถนัดทางวิชาการหรือวิชาชีพ PAT-7 ด้านภาษาต่างประเทศ จำนวน 10% ในระบบแอดมิชชั่นปี 2553 ไม่สามารถคัดเลือกเด็กได้ตรงตามที่คณะต้องการ จึงต้องรับตรงและเสนอต่อที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ขอให้ เพิ่มน้ำหนักเป็น 30% นั้น


รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี ประธานคณะทำงาน แอดมิชชั่นฟอรั่ม ปีการศึกษา 2553 กล่าวว่า องค์ประกอบ และค่าน้ำหนักแอดมิชชั่นปี 2553-2554 คงไม่มีการ เปลี่ยนแปลง ส่วนการขอเพิ่มน้ำหนัก PAT-7 นั้น ไม่ สามารถทำได้ เพราะค่าน้ำหนักดังกล่าวเป็นกติกากลางที่เหมาะสมสำหรับมหาวิทยาลัยโดยรวม หากกำหนดน้ำหนักสูงเกินไปจะทำให้มหาวิทยาลัยบางแห่งไม่ได้เด็กเข้าเรียน ทั้งนี้ การที่มหาวิทยาลัยยอดนิยมซึ่งขณะนี้


มีประมาณ 7 แห่ง จะกำหนดเกณฑ์และหันไปรับตรงก็เป็นสิ่งที่ทำได้ และการใช้คะแนนแบบทดสอบความถนัด ทั่วไปหรือ GAT และแบบทดสอบความถนัดทางวิชาการ/ วิชาชีพหรือ PAT ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่อยากขอร้อง บางคณะของมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าตรงทั้ง 100% ขอพื้นที่สำหรับแอดมิชชั่นกลาง 30% เพื่อเปิดโอกาสให้เด็ก ต่างจังหวัดได้มีโอกาสเข้าเรียนมหาวิทยาลัยยอดนิยมบ้าง ส่วนข้อเสนอของกลุ่มคณะวิทยาศาสตร์ขอแยกสอบ วิชาวิทยาศาสตร์ออกเป็น 3 วิชาต่างหากนั้น ทาง ผอ. สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ยินดีที่จะจัดสอบให้ คาดว่าจะเริ่มจัดสอบ ให้ได้ในปีการศึกษา 2554 และในวันที่ 13 มี.ค.นี้ ที่ประชุมแอดมิชชั่นฟอรั่มจะหารือว่า ในปีการศึกษา 2554 อาจใช้คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลายหรือจีแพกซ์ เป็นเงื่อนไขขั้นต่ำในการสอบคัดเลือก เช่น ควรได้ จีแพกซ์ 3.00-3.50 เพื่อที่เด็กจะได้ไม่ทิ้งห้องเรียน เป็นต้น


ด้าน ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวว่า สทศ. พร้อมจัดสอบ GAT และ PAT ครั้งแรกวันที่ 7-15 มี.ค.แล้ว ผู้เข้าสอบต้องปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด เช่น นั่งสอบจนหมดเวลา ห้ามไปผิด สนามสอบ ห้ามนำเครื่องมือสื่อสารเข้าห้องสอบ ส่วนผู้ที่สอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต รอบพิเศษ รับสมัครถึงวันที่ 10 มี.ค.เท่านั้น.

สพฐ.ชี้แยกวิชาวิทย์หรือไม่ไม่แตกต่าง

ดร.สุชาติ วงศ์สุวรรณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่ ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการด้านการวิจัย จุฬาฯ ระบุปัญหาผลการเรียนของนิสิต นักศึกษา ในกลุ่มวิทยาศาสตร์ ตกต่ำไม่ได้เกิดจากระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วย ระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือ แอดมิชชั่น อย่างเดียว การจัดการกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่รวม วิชาฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา เข้าด้วยกันก็มีส่วนทำให้เกิดผลดังกล่าวด้วยว่า เด็กทุกคนต้องเรียนเนื้อหาวิทยาศาสตร์ที่เป็นวิชาพื้นฐาน แต่สำหรับเด็กที่เรียนสายวิทย์จะต้องเรียนเพิ่มเติมใน วิชาฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ซึ่งโรงเรียนจะกำหนดว่าต้องเรียนกี่รายวิชา และจากการวิเคราะห์หลักสูตรก็ยังไม่เห็นว่ามีความแตกต่างกันระหว่างรวมหรือ แยกรายวิชา ดังนั้นปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่หลักสูตร แต่อยู่ที่เครื่องมือคัดเด็กเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ควรหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อปรับปรุงเครื่องมือ การคัดกรองเด็กมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามหากต้องการให้ สพฐ.ปรับปรุงส่วนใดก็ยินดีที่จะดำเนินการ

ด้าน รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี ประธานคณะทำงานศึกษาระบบแอดมิชชั่น ปีการศึกษา 2553 กล่าวถึงองค์ประกอบและค่าน้ำหนักแอดมิชชั่น ปีการศึกษา 2553-2554 ว่า โดยส่วนตัวคิดว่าคงไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนมหาวิทยาลัยยอดนิยมจะไปรับตรง และกำหนดค่าน้ำหนักองค์ประกอบใหม่ก็สามารถทำได้ แต่ตนอยากให้นำข้อสอบกลาง คือ การทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และการทดสอบความถนัดทางวิชาการหรือวิชาชีพ หรือ PAT มาใช้ด้วย เพื่อลดภาระเด็กจะได้ไม่ต้องสอบหลายที่ และอยากให้มหาวิทยาลัยที่คิดว่าจะรับตรง 100% ให้พื้นที่รับแอดมิชชั่นกลางสัก 30% เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กต่างจังหวัดมีโอกาสเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยยอดนิยม ด้วย.

ประกาศผลตัดสินหนังสือดีเด่นปี2552

ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี 2552 เปิดเผยว่า ปีนี้มีผู้ส่งหนังสือเข้าประกวด 405 เรื่อง โดย กลุ่มหนังสือสารคดี ดีเด่น “ซ่อนไว้ในสิม ก-อ ในชีวิตอีสาน” ของอู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย ชมเชย 3 รางวัล “คนสองแผ่น ดิน” ของ รุ่งมณี เมฆโสภณ “ไม่ขอรับเกียรติยศ ใด ๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน พูนศุข พนมยงค์” และ “142 วัน 1,800 กม.นิเวศศิลป์ริมโขงของศิลปินนอกคอก” ของพิน สาเสาร์ กลุ่มหนังสือนวนิยาย ไม่มีเรื่องใดได้ดีเด่น ส่วนชมเชย 2 รางวัล “ฆาตกรรมลวง” ของ ธันวา วงษ์อุบล และ “ยิ่งฟ้ามหานที” ของ กนกวลี พจนปกรณ์ กลุ่มหนังสือกวีนิพนธ์ ไม่มีดีเด่น ส่วนชมเชย 3 รางวัล “เดินตามรอย” ของ วันเนาว์ ยูเด็น “นิยายของน้ำหยดหนึ่ง พิราบขาว และดอกหญ้า” ของ ชัยพร ศรีโบราณ และ “โลกยนิทาน” ของ ธีรภัทร เจริญสุข

กลุ่มหนังสือรวมเรื่องสั้น ดีเด่น “จาก สายน้ำสู่นคร” ของประกาศิต คนไว ชมเชย 3 รางวัล “เด็กทารกแห่งเมืองหมองหม่น” ของ อดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์ “เมรุมายา” ของศันสนีย ศีตะ ปันย์ และ “รูปรัก” ของ วรภ วรภา กลุ่มหนังสือสำหรับเด็ก อายุ 3-5 ปี ดีเด่น “ทายซิ ทายซิ นั่นตัวอะไร” ของ ตุลย์ สุวรรณกิจ ชมเชย 3 รางวัล “กระจิ๊บกระจ๊อบมองโลก” ของ สมาพร สุขสำอาง “บึ๊กซ่าขี้โมโห” ของ มณิศา ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา และ “แมวหมิวผู้กล้าหาญ” ของ ฉันทนา ยกมา พันธ์ กลุ่มหนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี ประเภทหนังสือบันเทิงคดี ไม่มีดีเด่น ส่วนชมเชย “สายรุ้งหายไปไหน” ของ นวรัตน์ สีหอุไร และประเภทหนังสือสารคดี ไม่มีทั้งดีเด่นและชมเชย

กลุ่มหนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี ประเภทหนังสือบันเทิงคดี ไม่มีเรื่องใดได้ดีเด่น ส่วนชมเชย 3 รางวัล “กระท่อมดินทุ่งดาว” ของ พิบูลย์ศักดิ์ ละครพล “ขวัญสงฆ์” ของ ชมัยภร แสงกระจ่าง และ “สายลมกับทุ่งหญ้า” ของ วิเชียร ไชยบัง ประเภทหนังสือสารคดี “เงาะป่า : วรรณคดีสัญลักษณ์แห่งรัชสมัย” ของ ยุพร แสงทักษิณ รางวัลชมเชยไม่มี ประเภทหนังสือบทร้อยกรอง ไม่มีเรื่องใดได้ทั้งดีเด่นและชมเชย

กลุ่มหนังสือการ์ตูน และหรือนิยายภาพ ดีเด่น “มะเขื่องแห่งเมืองโหวกเหวก” ของ อิทธิวัฐก์ สุริยมาตย์ ชมเชย 3 รางวัล “การผจญภัยของสุดสาคร พระอภัยมณี” ของ อัมรินทร์ เดชณรงค์ “บันทึกสี่เท้าจากหัวใจผู้ไร้บ้าน (ฉบับการ์ตูน)” ของ ชนประเสริฐ คินทรักษ์ และ “แบนเล็กผจญภัย : ชีวิตชีปะขาวตัวแบนในโลกมหัศจรรย์ใต้สายน้ำ” ของ นิรมล มูนจินดา

กลุ่มหนังสือสวยงาม ประเภทหนังสือสวยงามทั่วไป ดีเด่น “สยามรัฐวัฒนา ใต้ฟ้าพระสยามินทร์” ของ โรงงานยาสูบ ชมเชย 3 รางวัล “ซ่อนไว้ในสิม ก-อ ในชีวิตอีสาน” “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” ของ ทศพล จังพาณิชย์กุล และ “หนังสือชุดเครื่องถ้วยในเมืองไทย 3 เล่ม” ของ ภุชชงค์ จันทวิช ประเภทหนังสือสวยงามสำหรับเด็ก ดีเด่น “ที่สุดในโลก” ของ รัตนา คชนาท ชมเชย 3 รางวัล “กระจิ๊บกระจ๊อบมองโลก” ของ สมาพร สุขสำอาง “ช้างเพื่อนกัน” ของ ธนากร ศรีวิเชียร และ “ตลาดน้ำ อ้ำ! อร่อย” ของ ตุ๊บปอง”.