Tuesday, January 27, 2009

ศธ.ใจแข็งปิดรับสมัครเอเน็ตชี้จำนวนที่ไม่จ่ายเงินเป็นปกติ

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่มีนักเรียนร้องเรียนต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขอให้ขยายเวลาการสมัครและชำระเงินการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูงหรือ A-NET ประจำปีการศึกษา 2552 ที่ปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่ามีนักเรียนที่เดือดร้อนกว่า 20,000 ราย ว่า ตนนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ แล้วที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า ไม่ควรให้มีการขยายเวลาการสมัครและการชำระเงินตามที่เรียกร้อง เพราะจะส่งผลกระทบต่อการประมวลผลและการประกาศผลแอดมิชชั่น ประจำปี 2552 ที่อาจต้องเลื่อนออกไปอีกเป็นเดือน และที่สำคัญต้องเห็นใจเด็กส่วนใหญ่กว่า 1.9 แสนคนที่ทำตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อไปว่า จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พบว่าปีนี้มีผู้สมัคร A-NET ประมาณ 2.1 แสนคน แต่มีผู้ชำระเงินประมาณ 1.9 แสนคน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกปีก็มีผู้ที่สมัครแต่ไม่ได้ชำระเงินไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนที่สมัคร เช่น ปี 2550 ไม่ชำระเงินกว่า 40,000 คน ปี 2551 ไม่ชำระเงิน 27,000 คน ส่วนปีนี้มีแค่ 22,000 คน โดยสาเหตุที่ไม่ได้ชำระเงินตามกำหนดส่วนหนึ่งเป็นเพราะติดรับตรงไปแล้ว หรือเข้ามหาวิทยาลัยเอกชนได้ จึงไม่มาชำระเงิน A-NET เพื่อเป็นการประหยัด แต่ที่เด็กมาร้องเรียนในครั้งนี้เป็นไปได้ว่า ไม่ติดรับตรงจึงคิดจะกลับมาสอบ A-NET แต่ก็ไม่ทันเวลาแล้ว

“กรณีที่นักเรียนอ้างว่าระบบอินเทอร์เน็ตล่ม จึงทำให้ไม่สามารถชำระเงินได้นั้น จริง ๆ แล้วการชำระเงินไม่เกี่ยวกับระบบอินเทอร์เน็ต เพราะต้องไปชำระเงินผ่านธนาคารหรือที่ทำการไปรษณีย์ อีกทั้งหากระบบคอมพิวเตอร์ล่มนักเรียนอีกกว่า 1.9 แสนคน จะสมัครภายในเวลาที่กำหนดได้อย่างไร” นายชัยวุฒิ กล่าว.

เรียนฟรี15ปียังไม่นิ่งศธ.ขอประชาพิจารณ์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิ การ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กร หลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการขยายวงเงินปล่อยกู้ในกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการ ศึกษา (กยศ.) ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ศธ.ต้องการขยายวงเงินอีก 10,000 ล้านบาท ในปีการศึกษา 2552 รวมเป็น 36,000 ล้านบาท โดยวงเงินที่เพิ่มขึ้นจะให้นักศึกษาชั้นปี 2-4 ที่ยากจน และเรียนในสาขาอาชีพกว่า 400 รหัสวิชา เพื่อจูงใจให้เด็กเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้น และหากเป็นผู้ที่เคยยื่นความจำนงขอกู้แต่พลาดหวังก็จะได้รับการพิจารณาให้ กู้เป็นลำดับแรก ๆ ด้วย

รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า กยศ.รายงานว่ามีเงินคงเหลืออยู่ประมาณ 13,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถปล่อยกู้ให้แก่เด็กที่ยากจน ด้อยโอกาสได้อีกประมาณ 1 แสนราย ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้ น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.ศธ.ไปหารือกับ รศ.นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการ กยศ. และแจ้งให้รับทราบความต้องการของ ศธ. นอกจากนี้ให้หารือถึงความเป็นไปได้ที่จะยืดการชำระหนี้จาก 15 ปี เป็น 20 ปี หรือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดหางานให้ผู้กู้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระในแต่ละงวด

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้ หารือถึงแนวทางการดำเนินโครงการเรียนฟรีอย่างมีคุณภาพ หรือเรียนฟรี 15 ปี ว่า ที่ประชุมยังคงยึดหลักการเดิมให้ฟรี 5 รายการ ได้แก่ 1.ค่าเล่าเรียน จัดให้ในรูปเงินอุดหนุนรายหัว 2.ตำราเรียน ได้ข้อสรุปว่า ศธ.จะจัดสรรงบฯให้โรงเรียน 80% ของราคาหน้าปกหนังสือขององค์การค้าฯ และให้โรงเรียนไปจัดซื้อเอง หากเป็นหนังสือขององค์การค้าฯจะต้องพิมพ์ด้วยกระดาษถนอมสายตาเท่านั้น 3.อุปกรณ์การเรียน เบื้องต้น ได้แก่ แบบฝึกหัด สมุด ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด ปากกา 4.ชุดนักเรียน ระดับประถมและมัธยมศึกษา ได้รับ 2 ชุด ส่วนอาชีวศึกษาได้ชุดนักศึกษา 1 ชุด และชุดฝึกปฏิบัติ 1 ชุด และ 5.กิจกรรมพัฒนาคุณภาพ กำหนดกิจกรรมที่ผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 1 ครั้งต่อปี ได้แก่ ค่ายวิชาการ ค่ายคุณธรรม ทัศนศึกษา การเรียนนอกสถานที่ ชุมนุมลูกเสือ-เนตรนารี และกิจกรรมด้านไอซีที คอมพิวเตอร์ 1 ชั่วโมง/คน/สัปดาห์

“สำหรับวิธีการจัดหาอุปกรณ์การเรียนและชุดนักเรียนนั้นที่ประชุมให้มีการทำ ประชาพิจารณ์ ในวันที่ 30 ม.ค.ภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อ คือ ประหยัด โปร่งใส และเกิดปัญหาในทางปฏิบัติน้อยที่สุด” นายจุรินทร์ กล่าว

ด้าน รศ.นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า หากนำงบฯดังกล่าวมาใช้จริง ๆ จะทำให้ กยศ. ขาดเสถียรภาพ ทั้งนี้วงเงินที่จะไม่ทำให้ กยศ.ได้รับผลกระทบอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาทเท่านั้น.

Wednesday, January 21, 2009

ตั้งคณะทำงานตีกรอบเรียนฟรี

จากการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ โดยได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาจัดทำรายละเอียดและวิธีปฏิบัติ มี ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ปลัด ศธ.เป็นประธาน และนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช. ศธ. เป็นที่ปรึกษา โดยให้เร่งจัดทำรายละเอียด วิธีและแนวปฏิบัติ เสนอในการประชุมนัดหน้า ซึ่งตนขอให้เน้นการประหยัดงบประมาณ วิธีการและแนวปฏิบัติที่โปร่งใสและเกิดปัญหาน้อยที่สุด และมีแนวทางสำหรับผู้ที่ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิด้วย ด้านนายชัยวุฒิกล่าวว่า จะนัดประชุมภายในสัปดาห์นี้

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมศานต์ คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เด็กปฐมวัยแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวถึงนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาล ซึ่งจะครอบคลุมกลุ่มเด็กปฐมวัย (อายุ 3-5 ปี) ด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายหัวให้กับเด็กอนุบาลอยู่แล้ว แต่จะเน้นเด็กที่อยู่ในระบบอนุบาลของรัฐทั้งหมด ซึ่งการขยายให้การอุดหนุนเด็กปฐมวัยนั้น รัฐบาลไม่ควรจะต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้กับครอบครัวที่มีเงิน ทั้งนี้ อย่าพยายามผลักดันนโยบายเพื่อสร้างความนิยมเพียงอย่างเดียว ต้องใช้เงินให้คุ้มค่า.

รร.สาธิตขอบริหารเรียนฟรี15ปีเอง

รศ.ดร.พินิติ รตะนากูล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมชี้แจงผู้บริหารโรงเรียนสาธิตเกี่ยว กับนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาล ว่า ผู้บริหาร รร.สาธิตส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการ ของนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่สำหรับเรื่องการบริหารจัดการนั้น รร.สาธิตต้องการดำเนินการกันเอง เนื่องจากโรงเรียนสาธิตจะมีลักษณะที่แตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป คือ รร.สาธิตจะเป็นห้องปฏิบัติการสำหรับนิสิต นักศึกษา คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ในการฝึกทักษะการสอน และเป็นแหล่งสร้างระบบและพัฒนาการเรียนการสอน หรือ นวัต กรรมทางการศึกษาใหม่ ๆ จึงต้องมีกิจกรรมนอกเหนือจากหลักสูตรทั่วไป มีการทำวิจัยพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อนำไปเผยแพร่ให้โรงเรียนสังกัดอื่น ๆ ดำเนินการด้วย อีกทั้งค่าใช้จ่ายของนักเรียน รร.สาธิตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 25,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งสูงกว่านักเรียนโรงเรียนสังกัดอื่น ๆ

รศ.ดร.พินิติ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการดำเนินการบริหารจัดการเกี่ยวกับนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ของ รร.สาธิตจะเป็นอย่างไรนั้น ทางกลุ่ม รร.สาธิตขอเวลาไปศึกษารายละเอียด โดยมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 คณะ ประกอบด้วย รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ ผอ.รร.สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝ่ายประถม รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ อาจารย์ใหญ่ รร.สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ผศ.เกษม ช่วยพนัง ผอ.รร.มัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร โดยคณะทำงานจะไปรวบรวมความคิดเห็นจาก รร. สาธิตทั้งหมด เพื่อนำเสนอต่อ รมว.ศึกษาธิการ โดยจะให้เหตุผลถึงความแตกต่างและความจำเป็นที่ รร.สาธิตจะขอบริหารจัดการเรื่องการเรียนฟรี 15 ปี เองด้วย

ด้าน รศ.ลัดดา กล่าวว่า ทุกประเทศต้องมีโรงเรียนต้นแบบ ซึ่ง รร.สาธิตของประเทศไทยก็เป็นต้นแบบการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ และมีความแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป เพราะเป็นสถานที่ฝึกสอนของ นิสิต นักศึกษาคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เป็นที่วิจัยหาสิ่งดี ๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอน จึงทำให้การบริหารจัดการของ รร.สาธิตต้องใช้งบฯที่สูง และที่ผ่านมา รร.สาธิตก็ได้รับการสนับสนุนงบฯจากมหาวิทยาลัย องค์กรต่าง ๆ และผู้ปกครอง มากกว่างบฯจาก รัฐบาล ดังนั้นถ้ารัฐบาลจะให้ รร.สาธิตเข้าร่วมนโยบายเรียนฟรี 15 ปีด้วย ก็ต้องดูว่าจะฟรีแค่ไหนอย่างไรบ้าง.

Friday, January 16, 2009

“สมพงษ์”ติงเรียนฟรี15ปีฉาบฉวยมักง่าย

“สมพงษ์” ติง นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ชี้ฉายฉวย เป็นวีการที่มักง่าย แนะควรเน้นเรื่องคุรภาพการศึกษา ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสในการพัฒนาร.ร.ขนาดเล็ก และควรเข้าไปดูแลถึง อปท.

รศ. ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนโยบายเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาลว่า นโยบายการเรียนฟรีเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการศึกษา แต่การจัดการเป็นไปในลักษณะฉาบฉวย ให้ฟรีแบบราชการ โดยนำจำนวนนักเรียนหารด้วยเม็ดเงินในแต่ละหมวด ซึ่งเป็นวิธีการที่มักง่าย และรัฐบาลก็ไม่ฟังเสียงท้วงติงจากนักวิชาการ พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงผู้ปฏิบัติงานจริงในสถานศึกษา โดยเฉพาะการชูนโยบายเรียนฟรี 15 ปี โดยทุ่มเม็ดเงินจำนวนมากนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ จะต้องเน้นเรื่องคุณภาพให้มากกว่านี้ และควรใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาสในการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก

โดยให้เงินอุดหนุนมากกว่า 100% ให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนต่ำกว่ามาตรฐานตามเกณฑ์ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพ การศึกษา (สมศ.)รวมไปถึงศูนย์เด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งพ่อแม่ของเด็กเหล่านี้คือ แรงงานที่ถูกเลิกจ้างมากที่สุด ดังนั้นการเข้าไปดูแลถึง อปท. จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับชาวบ้านได้ตรงจุด

อาจารย์คณะครุศาสตร์ กล่าวต่อว่า กรณีที่นายจุรินทร์ ให้ผู้ที่มีฐานะไม่ขอรับสิทธิจากนโยบายเรียนฟรี 15 ปีนั้น ควรดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ไม่ใช่พูดลอยๆ เพราะเชื่อว่ามีผู้ไม่ต้องการรับสิทธิจากรัฐบาลจำนวนมาก ดังนั้นหากคนเหล่านี้ต้องการสละสิทธิก็ควรมีความชัดเจนว่า เมื่อสละสิทธิแล้ว เงินที่เหลือจะนำไปช่วยเหลือคนยากจนจริงๆ ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ จึงควรมีระบบข้อมูลที่ชัดเจน มีแบบฟอร์ม และการกำหนดว่าจะนำเงินที่ได้ไปช่วยเหลือเด็กยากจนที่โรงเรียนใด

นอกจาก นี้การแจกชุดนักเรียนฟรี ก็ควรให้กลุ่มแม่บ้านใน อปท.ตัดเย็บ เพื่อช่วยกระจายรายได้ หรือแม้แต่ตำราเรียนฟรี ก็ควรพิจารณาของสำนักพิมพ์เอกชน ซึ่งบางวิชาก็มีคุณภาพและน่าอ่าน ราคาถูกกว่าที่องค์การค้าจัดพิมพ์ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐที่ประกาศว่าจะดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่ในทางปฏิบัติกลับสวนทางกับนโยบาย ซึ่งรมว.ศึกษาธิการควรฟังความเห็นของคนนอกกระทรวงบ้าง

ปฏิรูปศึกษารอบ2ปรับเกณฑ์กู้กยศ.เน้นยากจน

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" รมว.ศึกษาเปิดพิมพ์เขียวปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ของรัฐบาล ยกต่อไปเตรียมปรับเกณฑ์กู้ กยศ. เพื่อขยายโอกาสการศึกษาให้เด็กยากจน พร้อมชูธงพัฒนาครู เตรียมเสนอขออัตรารับพนักงานธุรการ 1 หมื่นตำแหน่ง ช่วยรับภาระเรื่องอื่นแทนครู อาจผูกโยงไปร่วมกับนโยบายช่วยคนตกงาน 500,000 คน

นาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ ปฏิรูปการศึกษารอบ 2 : ปฏิรูปอะไร อย่างไร “ โดยมีนักวิชาการ ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เข้าร่วมว่า รัฐบาลนี้ยังคงให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการปฏิรูปการศึกษาซึ่งเริ่มปฏิรูป ตั้งแต่ปี 2542 ในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ แม้การปฏิรูปการศึกษารอบแรกไม่ถือว่าล้มเหลว แต่มีแค่เรื่องการปรับโครงสร้างนั้นที่ทำสำเร็จชัดเจน ส่วนเรื่องอื่น ๆ นั้นยังมีปัญหาอยู่ ส่งผลการจัดการศึกษายังด้อยคุณภาพ ผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเรียนของเด็กออกมาต่ำกว่าเกณฑ์ เด็กบางส่วนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ สะท้อนชัดเจนจากข้อมูลการประเมินคุณภาพสถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งพบว่า มีโรงเรียนขั้นพื้นฐานผ่านเกณฑ์รอบ 2 ร้อยละ 80 ในส่วนของอาชีวศึกษา ยังประเมินไม่ครบทุกแห่ง แต่เบื้องต้นวิทยาลัยอาชีวะที่อยู่ในสังกัดของรัฐบาล ไม่ผ่านเกณฑ์และต้องปรับปรุง 10-16 เปอร์เซ็นต์ วิทยาลัยอาชีวะเอกชน ต้องปรับปรุงถึง 27 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา สมรถนะที่จบออกมาไม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ ผู้เรียนมีอัตราการตกงานและเลิกเรียนกลางคันสูง

นาย จุรินทร์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของรัฐบาลและของตนนั้น หัวใจรสำคัญของการปฏิรูปรอบ 2 เรื่อง คือ พัฒนาคุณภาพและขยายโอกาสทางการศึกษา นโยบายเรียนฟรีอย่างมีคุณภาพ 15 ปีซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ก็คือการขยายโอกาสให้เด็กไทยทุกคนได้เข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกคน รวมทั้ง ตนยังเตรียมปรับเงื่อนไขกองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อเพื่มโอกาสในการกู้เงินให้ผู้ที่ขาดแคลน

“ อาจจะต้องมีการปรับเกณฑ์ของ กยศ. เช่น ให้นักศึกษาปี 2-4 สามารถกู้ได้หากพลาดสิทธิ์จากปี 1 เพื่อแก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน หรือ เด็กที่จบระดับอนุปริญญาก็ควรมีสิทธิ์กู้เพื่อเรียนต่อ นอกจากนั้น กองทุน กยศ. จะต้องเป็นเครื่องมือจูงใจให้เด็กหันมาเรียนในสาขาที่เป็นความต้องการของ ตลาด หากกู้ในสาขานี้อาจได้สิทธิพิเศ่ษ ไม่ใช่ปล่อยให้กู้เงินไปเรียนในสายที่ไม่มีงานทำ เรียนจบก็ตกงาน ไม่มีเงินมาใช้หนี้คืน “ รมว.ศธ. กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องพัฒนาคุณภาพการศึกษานั้น จะเน้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพครูเป็นพิเศษ เพราะถ้าครูมีคุณภาพ การจัดการกเรียนการสอนก็จะมีคุณภาพตามไปด้วย เพราะฉะนั้น ตนจึงมีนโยบายจัดตั้งสถาบันกำหนดมาตรฐานการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการ ศึกษาขึ้นมาควบคุมมาตรฐานการผลิตครูของทุกสถาบัน เป้าหมายก็เพื่อให้ได้คนเก่งมาเป็นครู ส่วนครูเก่าก็ต้องได้รับการอบรมพัฒนาคุณภาพด้วย

“ รัฐบาลจะดูแลด้านขวัญกำลังใจให้ครูด้วย ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินและปัญหาการประเมินเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งจะให้มีการปรับเกณฑ์การประเมินใหม่ จากเน้นที่ผลงานวิชาการมาเป็นเน้นที่ผลสัมฤทธิ์ในการสอน อีกเรื่องหนึ่งที่ผมและรัฐบาลได้ให้ความสำคัญพิเศษ คือ การคืนครูให้นักเรียน ลดภาระอื่นให้ครูได้ทำหน้าที่สอนอย่างเดียวเพราะครูไม่ใช่ซุปเปอร์แมนที่จะ ทำได้ทุกเรื่อง ทั้งงานธุรการ การทำเอกสาร ทำบัญชี ซึ่งผมกำลังคุยกับรัฐบาล ขออัตราบรรจุพนักงานธุรการ มาทำงานธุรการ และกำลังดูว่าจะแก้ปัญหาด้วยการนำโครงการนี้ไปรวมอยู่กับนโยบายอุ้มคนตกงาน 5 แสนคนได้หรือไม่ อาจจะของบประมาณมาจ้างบัณฑิตว่างงานมาทำงานธุรการในโรงเรียนประมาณ 1 หมื่นคน ” นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า นอกจานนั้น นโยบายรัฐบาล ยังเน้นเรื่องการปลูกฝังให้เด็กมีคุณธรรม จริยธรรม และมีจิตสาธารณะด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลเป็นห่วงมาก โดยได้มอบการบ้านให้ทุกหน่วยงานที่มีนักเรียนในสังกัดไปทำการบ้านเรื่องนี้ มา

ด้าน ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ กล่าวในการเสวนาเรื่อง “ ปฏิรูปการศึกษารอบ 2 : ปฏิรูปอะไร อย่างไร “ ว่า ผลการจัดสอนโอเน็ต 3 ครั้งที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า คะแนนสอบไม่ดีขึ้น เฉลี่ยแล้วเด็กยังทำข้อสอบได้แค่ 1 ใน 3 หรือประมาณ 30 คะแนน นั่น หมายความว่า การจัดการเรียนการสอนมีปัญหา ครูสอนนักเรียนปีละ 210 วัน แต่ทำให้เด็กมีความรู้ได้แค่ 1 ใน 3 ซึ่งผลจากตรงนี้ จะส่งต่อไปสู่การเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เห็นได้ชัดจากกรณีที่คณะทางวิทยาศาสตร์ออกมาโวยวายว่า เด็กที่สอบติดเข้ามาเรียนคณะวิทย์นั้นมีความรู้วิชาทางิวทยาศาสตร์ไม่ดีพอ ทำให้เรียนมีปัญหาขณะที่วิทยาศาสตร์ คือ อนาคตของประเทศ

ศ.ดร. อุทุมพร กล่าวต่อว่า ส่วนการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 นั้น มี 2 ประเด็นที่ตนเสนอแนะคือ การปฏิรูปครู และเรื่องการบริหารการเงิน ควรจะมีการจัดสรรเงินโดยตรงไปยังสถานศึกษา ไม่ต้องผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพราะหลายครั้งเงินไปถึงร.ร.ล่าช้าเพราะไปค้างอยู่ที่เขตพื้นที่ นอกจากนั้น จากการที่สทศ. ไปตรวจเบี่ยมร.ร. พบปัญหาเรื่องตำราเรียนด้วย ตำราเรียนหลายวิชาโดยเฉพาะ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา การงานอาชีพและเทคโนโลยี และวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา นั้น ไม่เคยปรับปรุงเนื้อหาให้ทันต่อความรู้ใหม่ ๆ ขณะที่ครูไทย มักสอนตามตำรา เพราะฉะนั้น เมื้อตำราไม่ดี ครูก็จะสอนไม่ดีด้วย

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า น่าจะมีการตั้งสถาบันวิจัยระบบการศึกษาขึ้นมาเหมือนสถาบันวิจัยระบบ สาธารณสุข ปัจจุบันระบบสาธารณสุขของไทยดีกว่าอเมริกา เพราะมีสถาบันดังกล่าวถึงทุกภาคส่วนมาร่วมกับวิจัยและปรับปรุงระบบสาธารณสุข ตอลดเวลา ดังนั้น ระบบการศึกษาควรดึงทุกภาคส่วนมาช่วยกันวิจัยและปรับปรุงระบบเช่นกัน

กทม.เขต 1 ประกาศผลประเมิน ค.ศ.3 แล้ว

นายเติบ ใยเจริญ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานครเขต 1 เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ซึ่งมีนางพรนิภา ลิมปพยอม ประธาน อ.ก.ค.ศ. เป็นประธานในที่ประชุมว่า ที่ประชุมอนุมัติผลประเมินผลงานวิชาการเพื่อเลื่อนวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ (ค.ศ.3) จำนวน 22 สาขา โดยมีผู้ส่งผลงาน 588 คน ผ่านการประเมิน 67 คน ต้องปรับปรุง 121 คน ไม่ผ่านการประเมิน 396 คน โดยผลการประเมินดังกล่าว ทาง กทม.เขต 1 จะส่งเรื่องถึงสถานศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาแจ้งผลต่อครูเป็นรายบุคคล ในวันที่ 16 ม.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับสาขาภาษาจีน ญี่ปุ่น เยอรมัน ซึ่งมีผู้ส่งผลงานจำนวน 4 คน จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถหากรรมการอ่านผลงานวิชาการได้ ซึ่งเรื่องนี้นางพรนิภาได้เสนอให้ กทม.เขต 1 ขอความร่วมมือไปยังสถานศึกษาในเขตซึ่งเปิดสอนวิชาเหล่านี้ และมีอาจารย์มหาวิทยาลัยมาสอน อาทิ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา และ ร.ร.สามเสนวิทยาลัย โดยขออาจารย์มหาวิทยาลัยมาช่วยเป็นกรรมการอ่านผลงาน ซึ่งตนจะได้ทำหนังสือไปยังโรงเรียนทั้ง 2 แห่งแล้ว.

โพลชี้ดัชนีความเชื่อมั่น “ครู” กระเตื้อง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวบรรยาย พิเศษเรื่องนโยบายและทิศทางการศึกษาไทย ที่หอประชุมคุรุสภาว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปการศึกษารอบสอง โดยเน้นคุณภาพและโอกาสทางการศึกษา ต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการครู เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษารอบสองประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญคือการผลิตและพัฒนาครูซึ่งเป็นหัวใจหลักในการเดินสู่เป้าหมายการ ศึกษาคุณภาพ โดยรัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งสถาบันกำหนดมาตรฐานการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากร ทางการศึกษา เพื่อทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานกลางว่าสถาบันการศึกษาต่างๆที่ผลิตครู ต้องมีมาตรฐานอะไรบ้าง เพื่อให้ครูรุ่นใหม่ในอนาคตที่จะเข้าร่วมการปฏิรูปการศึกษามีคุณภาพและ มาตรฐาน ไม่ใช่ต่างคนต่างผลิตโดยใช้คนละมาตรฐาน นอกจากนี้ จะจัดตั้งกองทุนพัฒนาชีวิตครู เพื่อดูเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินรวมทั้งดูแลเรื่องสวัสดิการ

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า เรื่องสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการ คือการคืนครูให้นักเรียนโดยหลักการจะปลดเปลื้องภาระของครูที่มีอยู่ เช่น งานธุรการ การทำเอกสาร ทำบัญชี การทำผลงานวิชาการ เพื่อให้ครูไปทำหน้าที่สอนหนังสือเป็นหลัก ซึ่งกำลังดูว่าจะนำโครงการนี้ไปรวมอยู่กับการแก้ไขปัญหาบัณฑิตว่างงาน 5 แสนคนของรัฐบาลได้อย่างไร โดยอาจของบประมาณจ้างบัณฑิตว่างงานมาทำงานธุรการในสถานศึกษาแทนครู ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1 หมื่นกว่าคน อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้ทั้งหมดก็จะขอมาบางส่วน ที่เหลือก็จะใช้วิธีอื่น ซึ่งกำลังให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปดูอยู่

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นครูไทยปี 2551 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นปี 2551 อยู่ที่ 7.79 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 จำนวน 0.11 คะแนน โดยดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเกือบทุกด้าน ยกเว้นการมีบทบาทในการพัฒนาชุมชน สังคม ประเทศชาติลดลง นอกจากนี้ พบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อครูน้อยที่สุดในประเด็นของการไม่เป็นหนี้สิน การแสดงออกและการควบคุมอารมณ์ และการใช้วาจา คำพูดต่อนักเรียน.

'จุรินทร์'ย้ำปฏิรูปศึกษารอบ 2 มุ่งคุณภาพและโอกาสเท่ากัน

จากการเสวนาโต๊ะกลม “ปฏิรูปการศึกษา รอบ 2: ปฏิรูปอะไร อย่างไร” ที่ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เมื่อวันที่ 15 ม.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ผลจากการปฏิรูปการศึกษารอบแรก 9 ปีที่ผ่านมาพบว่า ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพ การพัฒนาการเรียนการสอนของครูไม่ทันกับหลักสูตรที่เปลี่ยนไป สื่อเทคโนโลยีไม่พร้อมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ อย่างไรก็ตามตนไม่คิดว่าล้มเหลว แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษายุคใหม่ ซึ่งมีหลายเรื่องที่ต้องสานต่อ แต่เรื่องไหนที่เดินมาผิดทิศก็ต้องกำหนดทิศทางใหม่ให้ถูกต้อง

นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า การปฏิรูปรอบ 2 ได้กำหนดกรอบเบื้องต้นไว้ 8 ประการ คือ 1.การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 2.การผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา 3.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม 4.การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา 5.การผลิตและพัฒนากำลังคน 6.การปฏิรูปเงินเพื่อการศึกษา 7.การปฏิรูปเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และ 8.กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จะวิเคราะห์หาข้อสรุปภายในเดือนเมษายนนี้

“รัฐบาลจะให้ความสำคัญทุกเรื่อง แต่มี 2 เรื่องหลักที่จะให้ ความสำคัญเป็นพิเศษเพราะถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูป คือเรื่องคุณภาพและโอกาสที่ต้องทำควบคู่กันไป เพราะลำพังทำเรื่องการศึกษาให้มีคุณภาพ แต่ไม่อาจขยายคนทุกกลุ่มให้ได้เข้าถึงโอกาสก็คงไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ รวมทั้งจะให้ความสำคัญกับการศึกษานอกระบบ เนื่องจากช่วงชีวิตของคนเราอยู่นอกระบบโรงเรียนมากกว่าในระบบโรงเรียน แต่การศึกษานอกระบบ ไม่ใช่การเก็บผู้ใหญ่ที่ตกหล่นมาเข้าระบบการศึกษา แต่จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ครบวงจรชีวิตคนเรา” นายจุรินทร์ กล่าว.

ตั้งสถาบันกำหนดมาตรฐานผลิตครู

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง “นโยบายและทิศทางการศึกษาไทย” ที่ หอประชุมคุรุสภา เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ว่า รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปการศึกษารอบสอง โดยเน้นเชิงคุณภาพการศึกษา ซึ่งสิ่งสำคัญในการทำให้การปฏิรูปการศึกษารอบสองสำเร็จ คือ การพัฒนาครูประจำการ และ การผลิตครู ที่เป็นหัวใจหลักในการเดินไปสู่เป้าหมายการศึกษาคุณภาพ โดยรัฐบาลมีนโยบายให้จัดตั้งสถาบันกำหนดมาตรฐานการผลิตและพัฒนาครูและ บุคลากรทางการศึกษาขึ้น เพื่อทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานกลาง ว่า สถาบันการศึกษา ต่าง ๆ ที่ผลิตครูจะต้องมีมาตรฐานอะไรบ้าง ไม่ใช่ต่างคนต่างผลิต โดยใช้คนละมาตรฐาน นอกจากนี้สถาบันแห่งนี้อาจจะมีทำหน้าที่จัดหลักสูตรอบรมพัฒนาครูด้วย แม้ว่าปัจจุบันจะมีสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ที่วัดไร่ขิง และหน่วยงานต่าง ๆ ก็มีส่วนที่พัฒนาครูอยู่แล้ว แต่ก็ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น รัฐบาลจะจัดตั้งกองทุนพัฒนาชีวิตครูขึ้น เพื่อดูแลเรื่องสวัสดิการครู นอกจากนี้จะต้องดูเรื่องการลดหนี้ โดยอาจจะใช้วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายวิธี เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การยืดเวลาชำระหนี้ การลดดอก การพักเวลาชำระหนี้ เป็นต้น เพื่อให้ครูลดภาระจากปัจจุบันที่เป็นอยู่ สำหรับเรื่องวิทยฐานะของครูตนได้มอบเป็นนโยบายให้ปรับปรุงระบบวิทยฐานะ โดยมุ่งเน้นระบบให้วัดผลสัมฤทธิ์การสอนของครูกับนักเรียนเป็นหลัก ไม่ต้องเน้นทำเอกสารวิชาการ เพราะครูจะได้ไม่ต้องเน้นการทำเอกสารจนไม่มีเวลาไปสอน ทั้งนี้การทำเอกสารนั้นไม่ส่งผลมาที่ผู้เรียนเลย แต่คนที่รวยคือบริษัทรับจ้างทำเอกสาร

“อีกเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ การคืนครูให้นักเรียน โดยจะปลดเปลื้องภาระของครูที่มีอยู่ เช่น งานธุรการ และการทำผลงานวิชาการ เป็นต้น เพื่อให้ครูไปทำหน้าที่สอนหนังสือเป็นหลัก ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะนำโครงการนี้ไปรวมอยู่กับการแก้ไขปัญหาบัณฑิตว่างงาน 5 แสนคน โดยอาจจะของบประมาณมาจ้างบัณฑิตว่างงานมาทำงานธุรการแทนครูประมาณ 1 หมื่นกว่าคน นอกจากนี้จะเตรียมการตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเพื่อพัฒนาครู ผู้เรียน และส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเสริม” นายจุรินทร์ กล่าว.

ครูดีเด่นเซ็งกรรมการประเมินวิทยฐานะ

นาย ไพบูลย์ กฤษณจักราวัฒน์ ครูโรงเรียนบดินทร เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา รับรางวัลคุรุสภา ประจำปี 2551 ประเภทครูผู้ปฏิบัติการ สอน หรือ ครูดีเด่น กล่าวถึงการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่า เชื่อว่าทุกวันนี้มีครูจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาในการประเมินเพื่อมีหรือ เลื่อนวิทยฐานะไม่ว่าจะวิทยฐานะระดับใดก็ตาม ถึงแม้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จะย้ำเสมอว่า การประเมินเพื่อมีหรือเลื่อนวิทยฐานะจะเน้นที่ผลงานเชิงประจักษ์ หรือผลที่เกิดกับผู้เรียนแต่ในทางปฏิบัติคณะกรรมการประเมินก็มักจะเน้นที่ผล งานวิชาการเป็นหลัก ซึ่งตนเชื่อว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่จะขอเลื่อนวิทยฐานะเกิดความ ท้อแท้ และเบื่อหน่ายจนไม่อยากยื่นขออีก

“ผมเจอมากับตัวเองผมจึงพูดได้ วันนี้ผมมีวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ และได้ยื่นขอเลื่อนวิทยฐานะเป็นครูเชี่ยวชาญ แต่ก็ไม่ผ่านทั้งที่มีผลงาน และได้รับรางวัลมากมายจนนับไม่ถ้วน แต่พอคณะกรรมการประเมินซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาประเมินกลับไม่สนใจผล งาน ซึ่งถือเป็นผลงานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนเหล่านั้นเลย จะเน้นแต่ผลงานที่เป็นตัวอักษร เป็นงานวิจัย ซึ่งผมก็ยอมรับในธรรมชาติของอาจารย์มหา วิทยาลัยที่จะเน้นเรื่องงานวิจัย มากกว่าการคลุกคลีกับนักเรียน เมื่อมาเป็นกรรมการประเมินจึงให้ความสำคัญกับงานวิจัย มาสัมภาษณ์ว่า อะไรคือตัวแปรต้น อะไรคือตัวแปรตาม ความเชื่อมั่นคืออะไร แต่ผมก็อยากให้คณะกรรมการเข้าใจความเป็นครูในโรงเรียนและดูที่ผลงาน หรือผลที่เกิดกับตัวเด็กมากกว่า ไม่ควรใช้บรรทัดฐานของอาจารย์มหาวิทยาลัยมาตัดสินครูในโรงเรียน” นายไพบูลย์ กล่าว.

ขอของขวัญ'วันครู'เลิกดึงศึกยุ่งการเมือง

นายบุญช่วย ทองศรี ประธานอนุกรรมการพัฒนาเครือข่ายและการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบวิชาชีพทางการ ศึกษา เปิดเผยว่า เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยเรามีรัฐบาลชุดใหม่ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ประกอบกับวันนี้เป็นวันครู ครูทั้งประเทศจึงได้ร่วมกันสะท้อนมุมมองที่เป็นปัญหา ประมวลภาพที่เป็นวิกฤติการศึกษา และวิกฤติที่เกิดขึ้นกับเด็กไทย เพื่อนำเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ ในวันที่ 16 มกราคม ที่นายกรัฐมนตรีจะมาเป็นประธานงานวันครู โดยประเด็นแรกที่จะนำเสนอ คือ การปฏิรูปที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดการแสวงหาอำนาจ ซึ่งทำให้เราได้โรงเรียนที่เป็นนิติบุคคล แต่ก็ติดกับดักเป็นตอน ๆ ทำให้โรงเรียนไม่สามารถเป็นนิติบุคคลได้อย่างแท้จริง ประเด็นที่สอง ที่ผ่านมาเราพยายามปฏิรูปการเรียนรู้ แต่ผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้น ฐาน หรือ NT ที่ผ่านมากลับได้ต่ำกว่า 50% ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้

ประการที่สาม รมว.ศึกษาธิการทุกคน ที่เข้ามามักจะมุ่งเป้าหมายไปที่สวัสดิภาพและสวัสดิการของครู และแก้ปัญหาหนี้สินครู แต่วันนี้ครูก็ยังตายจากวิกฤติทางภาคใต้ตลอดเวลา และหนี้สินครูก็ยังไม่ลดลงแต่กลับจะมีเพิ่มขึ้น ประการที่สี่ ในขณะที่ทั้งสังคมและกระทรวงศึกษาธิการมักจะเรียกร้องให้ครูพัฒนาคุณภาพ แต่ในความเป็นจริง ทุกคนยังใช้ครูในบทบาทที่หลากหลายจนครูไม่สามารถสอนได้เต็มที่ 100% ประการที่ห้า ปัจจุบันเรามีหน่วยงานประเมินมาตรฐานการศึกษา คือ สำนักงานรับรองและประเมินมาตรฐานการศึกษา (สมศ.) ทำให้เราทราบว่า ในการประเมินภายนอกรอบแรกจากโรงเรียนกว่า 30,000 โรง มีโรงเรียนที่ต่ำกว่ามาตรฐานถึง 65% ประการที่หก ในช่วง 5 ปีมานี้ เรามีรมว.ศึกษาธิการ ถึง 8 คน แต่ปฏิรูปการศึกษาก็ล้มเหลว แสดงให้เห็นว่าการมีรัฐมนตรีมากมายไม่ได้ช่วยให้สามารถปฏิรูปการศึกษาได้ และประการสุดท้าย คือ คำถามว่า การที่เราได้ลงทุนเพื่อวิทยฐานะของครูกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าการอุดหนุนโรงเรียนทั้งประเทศ แต่สิ่งที่ได้คืออะไร

“โจทย์ในการปฏิรูปการศึกษา เป็นโจทย์ใหญ่และหนัก ซึ่งไม่ใช่การบวกเลขที่จะหาคำตอบได้ในช่วงสั้น ๆ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของเด็กและสังคมที่รัฐบาลจะต้องมองภาพจริง และต้องกล้าทุ่มเทเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งทางองค์กร วิชาชีพครูอยากจะขอให้ยกเว้นเรื่องของการศึกษาเรื่องของเด็กไม่ถูกนำไปเป็น ประเด็นทางการเมืองจะได้หรือไม่ เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จเสียที” นายบุญช่วย กล่าว.

'วันครู'เปิดใจขอรัฐช่วยสวัสดิการ

"วันครู"โพลเอแบคแฉ ปัจจุบันนี้ครูที่เสียสละและมีจริยธรรมมีน้อยลง ส่วนใหญ่มุ่งหวังแต่กอบโกยผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ครูดีที่คอยอบรมสั่งสอนศิษย์ยังมีมาก โดยเฉพาะครูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รองลงมาสอนในถิ่นทุรกันดาร ตามด้วยแนวชายแดนและอยู่บนดอย ส่วนครูในตัวเมืองประทับใจแค่ 4.8 เท่านั้น และอยากให้ครูมีคุณธรรม ความรับผิดชอบ ขณะเดียวกันอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือครู คือเรื่องสวัสดิการ เพิ่มรายได้ และความปลอดภัยในชีวิต

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 16 ม.ค. ซึ่งเป็น “วันครู” ทางสำนักวิจัยได้ทำวิจัยเชิงสำรวจภาคสนามเรื่อง ภาพลักษณ์คุณครูปัจจุบันในสายตาของสาธารณชน โดยพบว่าร้อยละ 64 ทราบว่าวันครูตรงกับวันที่ 16 ม.ค.ของทุกปี แต่ประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 36 ไม่ทราบว่าวันครูตรงกับวันที่เท่าไหร่และเดือนอะไร และร้อยละ 48.2 มองว่าภาพลักษณ์ของคุณครูที่เปรียบเหมือนแม่พิมพ์ พ่อพิมพ์เป็นแบบอย่างที่ดีของประเทศชาติ แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ร้อยละ 62.6 ระบุคุณครูที่เสียสละ เพื่อลูกศิษย์มีน้อยถึงน้อยลง และร้อยละ 56.7 คุณครูที่ทุ่มเทหรือเตรียมการสอนมีน้อยถึงน้อยลง และร้อยละ 64.3 คุณธรรม จริยธรรมของคุณครูในปัจจุบันมีน้อยถึงน้อยลง

ผอ.เอแบคโพลระบุต่อว่า ร้อยละ 68.5 คุณครูในปัจจุบันมุ่งแต่กอบโกยผลประโยชน์ทางธุรกิจมีมากถึงมากขึ้น แต่ร้อยละ 52.8 มองว่าคุณครูคอยอบรมสั่งสอนให้เด็ก ๆ เป็นคนดีมีมากถึงมากขึ้น ส่วนความประทับใจของคุณครูในพื้นที่ ต่าง ๆ พบว่าร้อยละ 70.5 ประทับใจคุณครูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รองลงมาร้อยละ 64.8 สอนในถิ่นทุรกันดาร ร้อยละ 60 ในพื้นที่ชายแดน ครู ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และร้อยละ 59.4 สอนอยู่บนดอย และร้อยละ 4.8 เท่านั้นที่ประทับใจคุณครูที่ทำหน้าที่ในเขตเมือง

ดร.นพดลกล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือร้อยละ 81.5 ไม่ประทับใจที่คุณครูลวนลามลูกศิษย์ รองลงมาคือร้อยละ 61.7 ประพฤติชู้สาว และร้อยละ 56.4 ลงโทษลูกศิษย์ด้วยความรุนแรง แต่สิ่งที่ประทับใจของประชาชนต่อการกระทำของคุณครู พบว่าร้อยละ 74.2 ประทับใจคุณครูที่กล้าหาญปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยและทุรกันดาร และร้อยละ 67.4 ช่วยเด็กในเหตุลอบวางระเบิดที่ภาคใต้ ส่วนคุณธรรมด้าน ต่าง ๆ ที่ต้องการให้คุณครูเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชน พบว่าร้อยละ 74 คุณธรรมด้านความรับผิดชอบ รองลงมาร้อยละ 64.8 ความเสียสละ และร้อยละ 62.1 ความซื่อสัตย์สุจริต

ส่วนสิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือคุณครู ร้อยละ 69 สวัสดิการของครู รองลงมาร้อยละ 56.3 อยากให้เพิ่มรายได้ ร้อยละ 55.3 อยากให้ดูแลเรื่องความปลอดภัยของครู ร้อยละ 50.4 อยากให้ช่วยเหลือด้านคุณภาพชีวิต ร้อยละ 30.5 ช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน ร้อยละ 30 ที่อยู่อาศัย สำหรับสิ่งที่ประชาชนอยากจะกล่าวเพื่อเป็นกำลังใจแก่คุณครู ร้อยละ 36.6 เป็นกำลังใจให้คุณครู สู้ต่อไป อย่ายอมแพ้ ให้เข้มแข็ง มีเป้าหมาย แรงกล้า และอยู่อย่างมีความหวัง รองลงมาร้อยละ 21.3 ขอให้รักษาความดี ทำดีต่อไป เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นต่อไป

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่าตนจะไปเป็นประธานเปิดงานวันครู ในเช้าวันที่ 16 ม.ค. ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ โดยภายในงานตนจะกราบคารวะ รศ.ลินจง อินทรัมพรรย์ ผู้บริหารโรงเรียนอู่ทิพย์ ที่เคยเป็นครูประจำชั้น ป.5 และนายองอาจ บุญรักษ์ อดีตครูประจำชั้น ป.6 ที่เคยสอนตนสมัยเรียนอยู่ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาก่อน.

Thursday, January 15, 2009

ครม.ไฟเขียว 1.9 หมื่นล้านเรียนฟรี

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายกลางปี 2552 เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 115,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นงบฯสำหรับโครงการเรียนฟรีอย่างมีคุณภาพจำนวน 19,000 ล้านบาท โดยครอบคุลมสำหรับการเรียนฟรีของนักเรียนในทุกสังกัด ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับจำนวน 18,258 ล้านบาท แบ่งเป็นตำราเรียนกว่า 6,000 ล้านบาท อุปกรณ์การเรียนกว่า 2,000 ล้านบาท เครื่องแบบนักเรียน 4,500 ล้านบาท และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้จะเรียกประชุมผู้บริหารองค์กรหลักเพื่อเตรียมการให้สามารถ ดำเนินการได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งจัดทำรายละเอียดของการดำเนินการทั้งหมด ซึ่งจะเร่งให้ทันการเปิดภาคเรียนที่ 1/2552 นี้

ด้านนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติ เห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2552 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการเรียนฟรี 15 ปี ของนักเรียนนักศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โดย วธ.ได้เสนอในวงเงิน จำนวน 42,397,605 บาท แต่ ครม.ได้ให้สำนักงบประมาณพิจารณาลดวงเงินเหลือประมาณ 20 ล้านบาท ขณะที่โครงการพัฒนาทุนวัฒนธรรมจากรากหญ้าสู่ตลาดสินค้าสากล และโครงการนาฏศิลป์ ดนตรี คีตศิลป์ และช่างศิลป์ สำหรับนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ให้มีงานทำ และสามารถสร้างรายได้ ขณะนี้ผ่านความเห็นชอบในหลักการ แต่จะต้องนำทั้ง 2 โครงการดังกล่าวเสนอต่อนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณด้านแรงงาน ที่รัฐบาลได้วางแนวทางการจ้างงานไว้สำหรับทุกกระทรวง จำนวน 6 พันล้านบาท อีกครั้ง ว่า วธ.จะได้รับงบประมาณดำเนินการในส่วนนี้จำนวนเท่าใด.

ดึงผลประเมิน ร.ร.เชื่อมปฏิรูปศึกษา

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยหลังหารือร่วมกับ ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ว่า นโยบายรัฐบาลจะเน้นใช้เกณฑ์การประเมินของ สมศ.เป็นหลักในการประเมินคุณภาพการศึกษา ทั้งนี้ เท่าที่ตนได้รับรายงานผลการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานรอบที่ 2 ซึ่งอยู่ระหว่างการ ประเมินปี 2549-2553 พบว่าเบื้องต้นผลการประเมินคุณภาพโรงเรียนอยู่ในสัดส่วน ที่ดีขึ้นกว่าการประเมินคุณภาพในรอบแรก มีโรงเรียนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ปรับปรุง 20% ส่วนใหญ่กว่า 80% ถือว่ากระเตื้องขึ้นกว่ารอบแรก ซึ่งตนจะนำผลการประเมิน ดังกล่าวมาพิจารณา เพื่อให้เห็นภาพคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ เมื่อผลการประเมิน รอบที่ 2 เสร็จสมบูรณ์ 100% จะนำมากำหนดเป็นแนวนโยบายในการปรับปรุงคุณภาพสถานศึกษาในภาพรวม ทั้งในส่วนของผู้เรียน ครูอาจารย์ ผู้บริหาร รวมทั้งสถานศึกษา เพื่อไปสู่เป้าหมายให้โรงเรียนทุกแห่งผ่านการประเมิน

ศ.ดร.สมหวังกล่าวว่า ได้รายงานภาพกว้างๆ ของผลการประเมินคุณภาพการศึกษารอบ 2 ของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 22,456 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวน 359 แห่ง และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จำนวน 150 แห่ง พร้อมเสนอแนวทางการแก้ไข นอกจากนี้ ได้หารือถึงการปฏิรูปการศึกษารอบ ที่ 2 ว่ากุญแจไขปฏิรูปการศึกษาฯอยู่ตรงไหน โดยตนนำผลประเมินสถานศึกษา มาเชื่อมโยงกับการปฏิรูปฯ และชี้ประเด็นว่าอะไรบ้างที่การปฏิรูปการศึกษารอบแรก ยังไม่ได้ทำ โดยทำให้เป็นระบบครบวงจร แล้วค่อยมาปรับแต่งเพิ่มเติม.

วธ.ชง “อภิสิทธิ์” ขจัดสื่อร้ายขยายสื่อดี

นายธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ในวันที่ 15 ม.ค. วธ.ได้จัดประชุมสัมมนาทิศทางประเทศไทยในมิติวัฒนธรรม ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มาปาฐกถาพิเศษ เรื่องทิศทางประเทศไทยในมิติทางวัฒนธรรม ในส่วนของ วธ.นั้น จะนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีให้รับทราบปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานวัฒนธรรมด้าน ต่างๆเพื่อแก้ปัญหาสังคม ดังนี้ 1. ปัญหาเกี่ยวกับการขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี ที่มีนายกฯเป็นประธานคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพราะขณะนี้เด็กและเยาวชนบริโภคสื่อแบบผิดจำนวนมาก 2. การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้แข่งขันในระดับเวทีสากล เพื่อนำความเป็นคุณค่าทางวัฒนธรรมไทย สู่สายตาชาวโลก 3. ปัญหาบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และกรมศิลปากร ที่กำลังขาดแคลนอย่างหนัก 5. การบูรณะแหล่งโบราณคดีที่ค้นพบใหม่ และอยู่ระหว่างการขุดค้น ผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

นายธีระกล่าวต่อว่า เรื่องสำคัญที่นายกฯหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในการมอบหมายงาน 18 รัฐมนตรีที่ดูแลปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยยกตัวอย่างการใช้ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน พัฒนาชุมชนให้เข้าถึงบ้าน วัด โรงเรียน และสร้างความเข้มแข็งด้านวัฒนธรรมนั้น วธ.จะนำเสนอแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวให้นายกฯรับทราบด้วย ซึ่งจะขยายศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนไปยังทุกตำบลและพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับกระตุ้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สภาวัฒนธรรมตำบล ชุมชน เห็นความสำคัญและสนับสนุนศูนย์ดังกล่าวให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิต พัฒนาสินค้าทางวัฒนธรรม สร้างรายได้ให้แก่ ท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ตนจะไม่พัฒนาศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนในเชิงปริมาณ แต่จะเน้นพัฒนาคุณภาพ และสร้างเครือข่ายวัฒนธรรมให้เข้มแข็ง และอยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจคำว่า ทุนทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะสำนักงบประมาณต้องเห็นว่าวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมประเพณี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้.

เสนอจบปวส.ไม่มีใบครูก็สอนได้

น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช. ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการมอบนโยบายแก่ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ว่า เรื่องเร่งด่วนที่ สอศ. ต้องดำเนินการ คือ การจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา ที่เปิดสอนระดับปริญญาตรี ตามที่ พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 โดยในปี 2552 จะจัดตั้ง 20 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ต้องปฏิรูปครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา โดยฝึกอบรมเพิ่มเติม เพื่อรองรับจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี พร้อมทั้งปรับปรุงหลักสูตร อุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ล้าสมัย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการสอนมากขึ้น โดยจะต้องให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ทั้งนี้ สอศ.ไม่ควรเน้นสอนอาชีพเพียงอย่างเดียว จะต้องเสริมความรู้ด้านการเงิน และการลงทุนให้แก่เด็กด้วย

ด้าน นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิ การคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สอศ.ประสบปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังครูเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีจุดอ่อนที่ไม่สามารถรักษาลูกจ้างและพนักงานราชการไว้ได้ เพราะมักจะถูกมหาวิทยาลัยดึงตัวไปหมด จึงอยากขออัตราครูเพิ่ม 7,000-10,000 อัตรา ซึ่งจะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัญหากรณีครูอาชีวะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ตามข้อบังคับของคุรุสภา ในขณะที่ สอศ. ต้องการมือโปรวิชาชีพทางช่าง อาทิ วิศวกร นักบัญชี นักเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งคนเหล่านี้ไม่มีใครไปเรียนเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ดังนั้นตนจะเสนอแนวทางที่จะปรับตำแหน่งอัตราครูอาชีวศึกษาใหม่ โดยระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู ส่วนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ขึ้นไปไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู เพื่อจะได้บรรจุผู้ที่จบปริญญาโทด้านต่าง ๆ มาเป็นครูอาชีวะได้.

เล็งหาช่องสละสิทธิ์เรียนฟรี

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลัง ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนเข้าพบ เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ว่า โรงเรียนเอกชนได้ขอให้ช่วยแก้ไข พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ที่กำลังมีปัญหาอยู่ เช่น กรณีครูโรงเรียนเอกชนถูกกันออกจากระบบประกันสังคม เป็นต้น ซึ่งเท่าที่ตนดูเบื้องต้นคิดว่า คงใช่เรื่องยากที่จะช่วยแก้ไขให้ในหลายประเด็น เพราะก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่งพอทราบปัญหาในเรื่องนี้อยู่บ้างแล้ว อีกทั้งระบบการเรียนฟรีอย่างมีคุณภาพรัฐบาลก็สนับสนุนให้เรียนฟรีในโรงเรียน เอกชนตามมาตรฐานของ ศธ.ดังนั้นนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนเอกชนก็จะได้รับสิทธิประโยชน์นี้เช่น กัน

“ผมเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นความบกพร่องของตัวกฎหมาย ดังนั้นเราจึงต้องแก้ไขให้ตรงจุด และต้องเร่งทำ เพราะรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการศึกษาเอกชนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามผมกำลังหาแนวทางในการเปิดโอกาสให้นักเรียนที่ได้รับสิทธิในการ เรียนฟรี แต่ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิสามารถที่จะไม่ใช้สิทธิได้ โดยในวันที่ 19 มกราคม 2552 นี้ จะมีการประชุม เพื่อพิจารณาหาแรงจูงใจให้แก่ผู้ปกครองที่มีความประสงค์จะไม่ใช้สิทธิ และพร้อมที่จะจ่ายเงินเอง เพื่อจะได้ประหยัดงบประมาณและนำไปใช้ในเรื่องอื่น” รมว. ศึกษาธิการ กล่าว.

Friday, January 9, 2009

สกสค.อ้อน “จุรินทร์” จัดงบฯ ผุดกองทุนสางหนี้ ครู

เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (สถาบันวัดไร่ขิง) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ ได้ มอบนโยบายและรับฟังปัญหาการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม สวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) โดยนายเกษม กลั่นยิ่ง เลขาธิการ สกสค. กล่าวว่า หนี้สินครูเป็นปัญหาที่อยากให้ รมว.ศึกษาธิการช่วยดูแลเป็นพิเศษ แม้ว่ารัฐบาลที่ผ่านมาจะแก้ไข กระทั่งล่าสุดมีโครงการให้ครูรวมหนี้ไว้เป็นก้อนเดียว แต่ครูก็ยังแบกรับภาระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงอยู่ ดังนั้นหากรัฐบาลช่วยเหลือโดยตั้งกองทุนและจัดสรรงบประมาณ 500-1,000 ล้านบาท เพื่อให้ สกสค.บริหารจัดการแก้ไขหนี้สินครู โดยมี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานกองทุน นอกจากแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยการพึ่งตนเองแล้ว ยังทำให้ครูมีวินัยทางการเงินมากขึ้น นอกจากนี้องค์การค้าฯมีปัญหาหนี้สินสะสมมานาน เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันในตลาดการค้าเสรีได้ จึงเห็นว่าองค์การค้าควรกลับไปสู่สถานะเดิมคือ ผลิตตำราเรียนราคาถูกให้กับผู้ปกครอง และตรึงราคาตำราเรียนไว้



นายจุรินทร์กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะแก้ปัญหาหนี้สินของคนทั้งประเทศ ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชน และ หนี้ครูก็เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายดังกล่าว ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะจัดทำรายละเอียดการปรับโครงสร้างหนี้ครูเพื่อนำไป สู่การลดต้นหรือยืดเวลาชำระหนี้หรือทั้ง 2 อย่างต่อไป รวมทั้งเร่งรัดจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตครู ส่วนปัญหาองค์การค้าฯต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้.

ศธ.ไฟเขียว 5 รายการเรียนฟรีเริ่มปีนี้

นาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ประชุมได้หารือถึงการดำเนินนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะเริ่มในปีการศึกษา 2552 โดยมีมติกำหนดที่จะให้ฟรีใน 5 รายการ ดังนี้ ค่าเล่าเรียน ตำราเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ อุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน 2 ชุดต่อคนต่อปี และค่ากิจกรรมพิเศษ ซึ่งจะมีการพิจารณากันอีกครั้งว่าเป็นกิจกรรมอะไรบ้างที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ที่จะไม่เก็บค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบหมายให้แต่ละองค์กรหลักที่มีสถานศึกษาในแต่ละสังกัดไปจัดทำราย ละเอียด วิธีการ รวมทั้งงบประมาณ เพื่อมาพิจารณาร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 12 ม.ค.นี้ เนื่องจากการจัดการศึกษาในแต่ละสังกัด และแต่ละระดับชั้น จะมีความต้องการที่แตกต่างกัน


รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า หลักการใหญ่ในการเรียนฟรีคือ เด็กที่เรียนอยู่ในระดับชั้น อ.1-ม.ปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทุกสังกัดในกระทรวงศึกษาธิการ จะได้รับสิทธิ์ฟรีทั้ง 5 รายการทุกคน เพียงแต่ว่าหากเด็กคนใดจะไม่ขอใช้สิทธิ์ก็ไม่เป็นไร ถือเป็นการช่วยประหยัดงบฯ และสามารถนำเงินที่เหลือไปช่วยเหลือคนอื่นต่อได้ ส่วนเรื่องอาหารกลางวัน และปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กที่ยังได้งบฯ รายหัวน้อยนั้น เป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องคุณภาพ และการบริหารจัดการอยู่แล้ว ซึ่งตนไม่อยากให้นำมารวมเป็นเรื่องของการจัดการศึกษาฟรี


นายจุรินทร์กล่าวด้วยว่า สำหรับงบฯที่จะนำมาใช้ในการจัดการศึกษาฟรีใน 5 รายการนั้น เบื้องต้นจะเกลี่ยจากงบฯ ปี 2552 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเจียดเงินจากงบฯกลาง ที่รัฐบาลจะเสนอในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวงเงินจำนวน 1 แสนล้านบาท ซึ่งคงต้องพิจารณาว่าจะสามารถเจียดเงินจากส่วนนี้มาเป็นงบฯเรียนฟรีได้เท่าใด ส่วน ที่เกรงว่าจะมีปัญหาความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อชุดนักเรียนเหมือนที่ผ่านมา นั้น เรื่องนี้ขอให้ทุกคนสบายใจได้ ตนจะเลือกวิธีการดำเนินงานที่โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนและวงการศึกษามากที่สุด.

ศธ.ไฟเขียว 5 รายการเรียนฟรีเริ่มปีนี้

นาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ประชุมได้หารือถึงการดำเนินนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะเริ่มในปีการศึกษา 2552 โดยมีมติกำหนดที่จะให้ฟรีใน 5 รายการ ดังนี้ ค่าเล่าเรียน ตำราเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ อุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน 2 ชุดต่อคนต่อปี และค่ากิจกรรมพิเศษ ซึ่งจะมีการพิจารณากันอีกครั้งว่าเป็นกิจกรรมอะไรบ้างที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ที่จะไม่เก็บค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบหมายให้แต่ละองค์กรหลักที่มีสถานศึกษาในแต่ละสังกัดไปจัดทำราย ละเอียด วิธีการ รวมทั้งงบประมาณ เพื่อมาพิจารณาร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 12 ม.ค.นี้ เนื่องจากการจัดการศึกษาในแต่ละสังกัด และแต่ละระดับชั้น จะมีความต้องการที่แตกต่างกัน


รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า หลักการใหญ่ในการเรียนฟรีคือ เด็กที่เรียนอยู่ในระดับชั้น อ.1-ม.ปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทุกสังกัดในกระทรวงศึกษาธิการ จะได้รับสิทธิ์ฟรีทั้ง 5 รายการทุกคน เพียงแต่ว่าหากเด็กคนใดจะไม่ขอใช้สิทธิ์ก็ไม่เป็นไร ถือเป็นการช่วยประหยัดงบฯ และสามารถนำเงินที่เหลือไปช่วยเหลือคนอื่นต่อได้ ส่วนเรื่องอาหารกลางวัน และปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กที่ยังได้งบฯ รายหัวน้อยนั้น เป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องคุณภาพ และการบริหารจัดการอยู่แล้ว ซึ่งตนไม่อยากให้นำมารวมเป็นเรื่องของการจัดการศึกษาฟรี


นายจุรินทร์กล่าวด้วยว่า สำหรับงบฯที่จะนำมาใช้ในการจัดการศึกษาฟรีใน 5 รายการนั้น เบื้องต้นจะเกลี่ยจากงบฯ ปี 2552 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเจียดเงินจากงบฯกลาง ที่รัฐบาลจะเสนอในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวงเงินจำนวน 1 แสนล้านบาท ซึ่งคงต้องพิจารณาว่าจะสามารถเจียดเงินจากส่วนนี้มาเป็นงบฯเรียนฟรีได้เท่าใด ส่วน ที่เกรงว่าจะมีปัญหาความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อชุดนักเรียนเหมือนที่ผ่านมา นั้น เรื่องนี้ขอให้ทุกคนสบายใจได้ ตนจะเลือกวิธีการดำเนินงานที่โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนและวงการศึกษามากที่สุด.

คุรุสภาชงเลิกออกหวยวันครู

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 8 ม.ค. ที่หอประชุมคุรุสภา มีการแถลงข่าวการจัดงานวันครู พ.ศ. 2552 โดย ดร.ดิเรก พรสีมา ประธานกรรมการคุรุสภา กล่าวว่า การจัดงานวันครูปี 2552 นับเป็นครั้งที่ 53 โดยมีคำขวัญปีนี้ว่า “ครูสร้างคนดี เป็นศรีแผ่นดิน ทั่วถิ่นศรัทธา บูชาคุณครู” และจะมีจุดเน้นเพิ่มเติมคือ การรณรงค์ให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาประพฤติปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของ วิชาชีพ และเป็นแบบอย่างที่ดีโดยการลด ละ เลิก อบายมุข ซึ่งจะมอบให้หน่วยงานต่าง ๆ จัดกิจกรรมรณรงค์ทั่วประเทศ

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานจัดงานวันครู กล่าวว่า งานวันครูปีนี้จะจัดวันที่ 12-16 ม.ค. 2552 โดยส่วนกลางจัดที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ส่วนภูมิภาคจัดที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.จะมีนิทรรศการสัปดาห์ระลึกพระคุณครู ที่สนามหน้า ศธ. อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นิทรรศการยกย่องครูที่เป็นต้นแบบของชีวิต คือ ครูจูหลิง ปงกันมูล ปู่เย็น และด.ต.โสภณ ฤทธิสาร ส่วนวันที่ 16 ม.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานเปิดงานที่หอประชุมคุรุสภา และคารวะ รศ.ลินจง อินทรัมพรรย์ ซึ่งเคยสอนนายกรัฐมนตรีขณะเรียนชั้น ป.5-ป.6 ที่รร.สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายประถม)

นายองค์กร อมรสิรินันท์ เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า คุรุสภาจะเสนอให้เลื่อนวันออกสลากกินแบ่งรัฐบาล จากวันที่ 16 มกราคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันครูไปเป็นวันอื่น เพื่อเป็นการให้เกียรติ และให้ความสำคัญแก่ครู โดยเบื้องต้นตนได้ประสานไปยังสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้ว แต่ไม่ทราบว่าสามารถทำได้ทันหรือไม่.

ชี้ไม่ใช่เรื่องง่ายตั้ง กศน.เป็นองค์กรหลัก

ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ นักวิชาการด้านการศึกษา อดีตประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) กล่าวถึงกรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายที่จะยกระดับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตาม อัธยาศัย (กศน.) เป็นองค์กรหลักที่ 6 ใน ศธ. ว่า เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ต้องการสร้างเอกภาพทางการศึกษา โดยแบ่งความรับผิดชอบของกลุ่มการศึกษาให้ชัดเจนเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอุดมศึกษา และมาเพิ่มการอาชีวศึกษาตอนหลัง โดยให้สำนักงาน กศน.เป็นส่วนหนึ่งของสำนักงาน ปลัด ศธ. แต่หากวันนี้รัฐบาลจะยกสำนักงาน กศน.ขึ้นเป็นองค์กรหลัก ก็จะมีคำถามตามมาว่า งาน กศน.จะยังเป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิมหรือไม่ ทำให้ตนเป็นห่วงว่า ศธ.กำลังจะย้อนไปสู่การบริหารแบบกรมอีกหรือ เพราะการศึกษายุคใหม่ จะต้องเน้นที่ผลมากกว่ากระบวนการและขั้นตอน ดังนั้นถ้า ศธ.เน้นกระบวนการขั้นตอนโดยไม่เน้นกระจายอำนาจ ก็จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและสังคม ท้ายสุดเมื่อขยับตัวปรับองค์กรให้ใหญ่ขึ้น มีอำนาจมากขึ้นก็จะไม่เป็นผลดีต่อการศึกษา

“คงต้องหันมาทบทวนกันใหม่ว่า การปฏิรูปการศึกษาจะเน้นคุณภาพของนักเรียนเป็นหลัก หรือ จะเน้นเรื่องอื่นโดยเฉพาะเรื่องของโครงสร้าง อย่างไรก็ตามสำหรับปัญหาความไม่คล่องตัวของ กศน.สามารถแก้ปัญหาโดยการกระจายอำนาจได้ ไม่ใช่การแก้ปัญหาด้วยการตั้งแท่งใหม่ อีกทั้งหากดูจำนวนเสียงของรัฐบาลในขณะนี้ซึ่งก็ไม่ได้เด็ดขาดมากก็คงไม่ใช่ เรื่องง่ายที่จะผลักดันกฎหมายผ่านสภาผู้แทนราษฎร ให้ กศน.เป็นองค์กรหลักที่ 6 ได้” ศ.ดร.ปรัชญากล่าว

ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่นายจุรินทร์ ให้ความสำคัญกับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นสิ่งที่ดี แต่การยกขึ้นเป็นองค์กรหลักเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง และคิดให้รอบคอบ เพราะ 9 ปีที่ผ่านมาของการปฏิรูปการศึกษา เรายังวนเวียนอยู่แต่เรื่องโครงสร้าง หากวันนี้จะมุ่งแต่เรื่องโครงสร้างอีกก็อาจทำให้หลงทางได้.

Wednesday, January 7, 2009

ผู้ปกครอง-นร.เฮเรียนฟรี15ปี พร้อมชุด-ตำราเรียน-อุปกรณ์

ผู้ปกครอง-นร.เฮ รัฐบาลทำแล้วนโยบายเรียนฟรี 15 ปี “จุรินทร์“ประกาศเริ่มปีการศึกษา 52 ร.ร.สังกัดศธ. ฟรีค่าเทอมพร้อมของแจกอีก 4 อย่าง ชุดนักเรียน ตำราเรียน อุปกรณ์การเรียนและค่ากิจกรรมพิเศษ ย้ำ นักเรียนทุกคนในร.ร.อนุบาลถึงม. 6 มีสิทธิได้รับของแจก รอประชุมอีกนัด 12 ม.ค.ชัดเจน

(7ม.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยหลังประชุมร่วมดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการและผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้น ฐาน(สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เพื่อหารือเรื่องเรียนฟรี 15 ปีตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งกำหนดให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา2552ว่า ที่ประชุมหารือกัน และได้ข้อสรุปว่า มาตรฐานในการจัดเรียนฟรี 15 ปีของ ร.ร.ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัด ศธ. จะต้องประกอบไปด้วยของฟรี 5 รายการได้แก่ ค่าเทอม ตำราเรียน อุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียนและค่ากิจกรรมพิเศษ

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า นักเรียนที่เรียนอยู่ระดับอนุบาลถึง ม.6 หรือเทียบเท่า ในร.ร.สังกัด สพฐ. สอศ.และ สช. จะมีสิทธิ์ได้รับของฟรี 5 รายการทุกคนโดยไม่จำเป็นต้องมาพิจารณารายได้ของผู้ปกครอง แต่เจ้าตัวสามารถปฏิเสธไม่รับสิทธิดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดลงลึกว่า การแจกตำราเรียน อุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียนและค่ากิจกรรมพิเศษ จะแจกในปริมาณเท่าใด และดำเนินการอย่างไรนั้น จะต้องรอประชุมหารืออีกนัดในวันที่ 12 ม.ค.นี้ ระหว่างนี้ ได้ให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเตรียมข้อมูลไว้และมอบให้ปลัดศธ.เป็นผู้ ประสานงาน

“เบื้อง ต้นที่คุยนั้น ตำราเรียนจะแจกทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชา ชุดนักเรียนแจกรายละ 2 ชุด ส่วนอุปกรณ์การเรียนนั้น กำลังให้แต่ละหน่วยงานไปกำหนดมาว่า การศึกษาแต่ละระดับ แต่ละประเภทต้องใช้อุปกรณ์การเรียนใดบ้าง เพราะการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพใช้อุปกรณ์การเรียนแตกต่างกัน “ รมว.ศึกษาธิการ

นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับงบประมาณที่จะนำมาดำเนินการนั้นจะมาจาก 2 ส่วน คือ เกลี่ยมาจากงบปกติปี 2552 และขอใช้ขอกลางของประเทศที่มีอยู่ 100,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้ยังประเมินไม่ได้ว่า ต้องใช้เงินจำนวนเท่าใด รอคณะทำงานไปศึกษาอยู่ อย่างไรก็ตาม ตนขอย้ำว่า การดำเนินการจัดซื้อชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ตำราเรียนั้น แม้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะจัดสรรเงินให้ร.ร.จัดซื้อเอง หรือจัดซื้อรวมที่ส่วนกลาง แต่จะเน้นเรื่องความโปร่งใสเป็นสำคัญ เลือกวิธีการที่โปร่งใสและได้ประโยชน์ต่อนักเรียนมากที่สุด

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ในส่วนของตำราเรียนฟรีนั้น จะแจกทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชาทั้งตัวหนังสือเรียนและแบบฝึกหัด แต่ไม่รวมแบบเรียนสำเร็จรูป ซึ่งสพฐ.ไม่สนับสนุนให้โรงเรียนใช้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สพฐ.กำลังจัดทำรายละเอียดในเรื่องนี้อยู่

สทศ.แฉซ่อนมือถือที่หน้าอกขู่เจอโทรศัพท์ปรับตก

ศ. ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวตอนหนึ่งในงานสัมมนาครู แนะแนวทั่วประเทศ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า สทศ.มีการเปลี่ยนแปลงวันสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ หรือ PAT ครั้งที่ 1 เดือน มี.ค. 2552 โดยขอปรับเวลาสอบของ PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ และ PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครู ดังนี้ วันเสาร์ที่ 7 มี.ค. เวลา 09.00-12.00 น. สอบความถนัดทั่วไปหรือ GAT เวลา 13.00-16.00 น. สอบ PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ วันอาทิตย์ที่ 8 มี.ค. 2552 เวลา 09.00-12.00 น. สอบ PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ เวลา 13.00-16.00 น. สอบ PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครู วันเสาร์ที่ 14 มี.ค. 2552 เวลา 09.00-12.00 น. สอบ PAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ เวลา 13.00-16.00 น. สอบ PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ วันอาทิตย์ที่ 15 มี.ค. 2552 เวลา 09.00-12.00 น. สอบ PAT 6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ เวลา 13.00-16.00 น. สอบ PAT 7 ความถนัดด้านภาษา



“ใน ปีนี้ห้ามนำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องสอบโดยเด็ดขาด หากนำเข้าจะปรับตกทันที ที่ผ่านมามีผู้คุมสอบแจ้งมาว่า สังเกตพบนักเรียนหญิงก้มมองหน้าอกตัวเองอยู่ตลอดเวลา เมื่อผู้คุมสอบเห็นผิดสังเกตมองที่หน้าอกของนักเรียน ก็โดนเด็กย้อนถามว่ามองอะไร ทำให้ผู้คุมสอบไม่กล้า ซึ่งทราบภายหลังว่าเด็กก้มมองมือถือไว้ที่ซ่อนไว้ที่หน้าอก จึงห้ามนำมือถือเข้าห้องทุกกรณี หากจะติดต่อกับพ่อแม่ให้ใช้โทรศัพท์สาธารณะ” ศ.ดร.อุทุมพรกล่าว.

“จุรินทร์”รุกถกอุดมฯขยายฐานผู้กู้ กยศ.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในวันที่ 8 ม.ค. ตนจะมอบนโยบายให้ กกอ.ช่วยดูแลและหาทางช่วยเหลือนิสิต นักศึกษา ชั้นปีที่ 2 ปีที่ 3 และปีที่ 4 ที่ไม่ได้รับโอกาสกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้มีโอกาสได้กู้ยืมเรียน เพราะที่ผ่านมาพอไม่ได้กู้ กยศ. ในชั้นปีที่ 1 ก็ทำให้หมดสิทธิ์กู้ กยศ. เด็กบางคนต้องดิ้นรนเพื่อหาทางให้ได้เรียนต่อ หรือบางคนก็ไม่จบการศึกษาเพราะไม่มีเงิน ในขณะที่งบประมาณ กยศ.ยังมีเหลืออยู่เกือบ 10,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงน่าจะนำมารองรับเด็กกลุ่มนี้ โดยต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด


ต่อ ข้อถามว่า จะมีการขยายกลุ่มผู้กู้รายใหม่ของกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับ รายได้ในอนาคต (กรอ.) ด้วยหรือไม่ ในระหว่างที่ยังไม่มีการยุบรวมกองทุน กรอ.กับ กยศ.เข้าด้วยกัน รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขอหารือร่วมกับ กกอ.เพื่อศึกษารายละเอียดของทั้ง 2 กองทุนก่อนว่าจะมีช่องทางอย่างไรหรือไม่


ดร. สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า ได้หารือเบื้องต้นกับ นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการ กยศ.เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยเห็นตรงกันว่าทำได้ถ้ามีงบฯเพิ่มขึ้น และเป็นนโยบายของ รมว. ศึกษาธิการ



ด้าน นพ.ธาดากล่าวว่า กยศ. อยากให้สถานศึกษาทำความเข้าใจกับผู้กู้เกี่ยวกับการจัดสรรเงินกู้ยืม และขั้นตอนการกู้ยืมให้ถูกต้อง โดยปีการศึกษา 2551 กยศ. มีผู้กู้ประมาณ 730,000 ราย บางสถาบันมีผู้กู้ยืมมากกว่าจำนวนที่ได้รับจัดสรร จึงเกิดปัญหาผู้กู้ยืมบางรายไม่ได้รับการคัดเลือก จึงอยากให้สถานศึกษาได้ให้ข้อเท็จจริงแก่ นักเรียน นักศึกษา ถึงโควตาที่สถานศึกษาได้รับมา เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความไม่เข้าใจว่าเมื่อยื่นกู้แล้วจะได้รับเงินกู้ทุก ราย ซึ่งโดยปกติแล้วการรับสมัครผู้กู้รายใหม่ สถานศึกษาจะต้องแจ้งให้ผู้สมัครทราบถึงจำนวนจัดสรรที่คงเหลือ เพื่อประกอบการตัดสินใจ ส่วนในปีการศึกษา 2552 กยศ. จะเปิดให้มีการกู้ยืมตั้งแต่กลางเดือน ม.ค. เป็นต้นไป โดยสถานศึกษาจะทราบจำนวนโควตาได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ ส่วนภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2552 กยศ. ประมาณการงบประมาณที่จะใช้ทั้งสิ้น 18,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายจะมีผู้กู้ประมาณ 800,000 ราย.

โอเน็ตปีนี้ห้ามพกมือถือทุกกรณี

ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า ตามที่สทศ. ประกาศปฏิทินการสอบวัดความถนัดทั่วไปหรือ GAT (General Aptitude Test) และความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการหรือ PAT (Professional and Academic Aptitude Test) ครั้งที่ 1 เดือนมีนาคม 2552 ในวันที่ 7-15 มี.ค.นั้น เนื่องจากมีผู้สมัครสอบจำนวนไม่มาก ดังนั้นจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงตารางสอบใหม่ โดยวันที่ 7 มี.ค.เวลา 09.00-12.00 น. สอบ GAT และเวลา 13.00-16.00 น. สอบ PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์, วันที่ 8 มี.ค. 09.00-12.00 น. สอบ PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ เวลา 13.00-16.00 น. สอบ PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครู, วันที่ 14 มี.ค. 09.00-12.00 น. สอบ PAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ 13.00-16.00 น. สอบ PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ และวันที่ 15 มี.ค. 09.00-12.00 น. สอบ PAT 6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ 13.00-16.00 น. สอบ PAT 7.1 ความถนัดทางภาษาฝรั่งเศส PAT 7.2 ความถนัดทางภาษาเยอรมัน PAT 7.3 ความถนัดทางภาษาญี่ปุ่น PAT 7.4 ความถนัดทางภาษาจีน PAT 7.5 ความถนัดทางภาษาอาหรับ และ PAT 7.6 ความถนัดทางภาษาบาลี

ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือ O-Net ของนักเรียน ป.6 จะสอบวันที่ 12 ก.พ. , ม.3 สอบ 13 ก.พ. และม.6 สอบวันที่ 21-22 ก.พ. 2552 โดยในส่วนของม.6 สามารถตรวจสอบเลขที่นั่ง สถานที่สอบและพิมพ์บัตรประจำตัวได้ที่ http://www.niets.or.th ตั้งแต่บัดนี้ หรือหากมีข้อสงสัยติดต่อ สทศ. เลขที่ 128 อาคารพญาไทพลาซ่า ชั้น 35 ถนนพญาไท โทร. 0-2219-2992-5 และขอย้ำว่าห้ามนำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องสอบโดยเด็ดขาดในทุกกรณี แม้แต่นำเข้าแล้วปิดเครื่องก็ห้ามเช่นกัน หากใครฝ่าฝืนจะปรับตกทันที.

'จุรินทร์'ยกกศน.เป็นองค์กรหลักที่6ของศธ.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว. ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตนมีนโยบายที่จะยกระดับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการ ศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นองค์กรหลักที่ 6 ใน ศธ. เพื่อเติมเต็มการศึกษาทั้งระบบ ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการให้เป็นรูปธรรมแล้ว โดยองค์กรหลักใหม่นี้อาจใช้ชื่อว่า “สำนักงานคณะกรรมการการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ทำหน้าที่ดูแลการศึกษานอกระบบและการศึกษาตลอดชีวิต นอกเหนือจากความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรม การการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ทั้งนี้ถ้าจำเป็นต้องแก้กฎหมาย หรือ ต้องมีกฎหมายเฉพาะขึ้นมาก็ต้องทำ เพราะเป้าหมายของนโยบาย คือ ต้องการเห็นการเรียนนอกระบบหรือการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนเกิดเป็นรูป ธรรม มีองค์กรรับผิดชอบที่มีศักยภาพและชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานการศึกษานอกระบบที่เป็นรูปธรรม

“การตั้งองค์กรหลักเพิ่มขึ้น จะไม่กลับไปสู่การมี 14 องค์ชายเหมือนในอดีต แต่เป็นการปรับให้มีความเหมาะสมและรองรับการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาตลอดชีวิตของคนไทย นอกเหนือจากการศึกษาในระบบที่ให้ความสำคัญอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญมากและต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมให้ได้ โดยจะต้องได้กรอบการดำเนินการที่ชัดเจนภายในปีนี้ ส่วนผู้บริหารองค์กรหลักใหม่จะเป็นระดับ 11 เช่นเดียวกับผู้บริหารองค์กรหลักทั้ง 5 ที่มีอยู่แล้วหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่ต้องหารือต่อไป” รมว.ศธ.กล่าว

ด้าน ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ปลัด ศธ. กล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 กำหนดเจตนา รมณ์ในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยเน้นให้สำนักงาน กศน.มีหน้าที่ 2 ส่วน คือ เป็นทั้งผู้จัด และ ผู้ส่งเสริม เพื่อให้ภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ ศึกษาให้มากที่สุด ซึ่งการยกสำนักงาน กศน.เป็นอีกหนึ่งองค์กรหลักใน ศธ. ก็เป็นนโยบายที่มุ่งเน้นยกระดับการจัดการศึกษานอกระบบและการจัดการศึกษาตาม อัธยาศัยให้มีความสำคัญมากขึ้น รองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะต้องมาดูในรายละเอียดเพื่อจัดระบบ แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอัตรากำลังให้ชัดเจนยิ่งขึ้น.

Tuesday, January 6, 2009

ศธ.นำเยาวชนดีเด่นกว่า700คนพบนายกฯ8ม.ค.นี้

ศธ.จัดงานวันเด็กยิ่งใหญ่นำเยาวชนดีเด่นกว่า700คนพบนายกฯ 8 ม.ค.นี้ พร้อมผนึกหน่วยงานรัฐ-เอกชน 28 หน่วยงานจัดกิจกรรมวันเด็กแบ่ง 5 โซนในวันที่ 10 ม.ค.นี้

เมื่อ วันที่ 5 ม.ค.2552 เวลา 13.00 น. วันที่ 5 ม.ค. ที่ห้องโถงกรมประชาสัมพันธ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธาน พร้อมด้วย ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายเผชิญ ขำโพธิ์ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้แทนเด็กและเยาวชน ร่วมกันแถลงข่าว การจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2552 ในวันเสาร์ที่ 10 ม.ค. นี้ ที่อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ ตาม

นายจุรินทร์ กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ การจัดงานวันเด็กแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยจัดในวันเสาร์ที่ 10 ม.ค. นี้ ที่อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ ทั้งนี้ วันเด็กคือวันที่ผู้ใหญ่ทุกคนจะตระหนักว่า เด็กจะต้องเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชาติ อีกทั้งยังเป็นกำลัง เป็นความหวังของชาติ ที่จะนำพาบ้านเมืองไปสู่สังคมที่สงบสุข สามารถดำรงตนเองในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการใช้ชีวิตที่พอดี มีความสุข และดำรงความเป็นไทย ดังคำขวัญวันเด็กของนายกรัฐมนตรีว่า “ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี”

“สิ่งที่ กระทรวงต้องการ คือ ให้เด็กไทยเป็นเด็กเก่ง มีความรู้ ความสามารถ คู่คุณธรรม จริยธรรม อยู่ร่วมในสังคมอย่างมีความสุข และเติบโตเป็นกำลังของชาติซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของ ศธ. ” รมว.ศธ. กล่าว

ดร. ชินภัทร กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในงานวันเด็กแห่งชาติ มีกิจกรรมหลักอยู่ 2 กิจกรรม คือ 1. นำเด็กและเยาวชนดีเด่นและทำชื่อเสียงมาสู่ประเทศ เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ซึ่งในปีนี้นายกรัฐมนตรีอนุญาตให้เข้าเยี่ยมคารวะที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กว่า 700 คน ในวันพฤหัส 8 ม.ค.นี้ ทั้งนี้เด็กและเยาวชนดีเด่น จะได้รับโล่และของที่ระลึกจากนายกรัฐมนตรีอีกด้วย 2. การจัดพิธีเปิดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2552 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันเสาร์ที่ 10 ม.ค. นี้ ที่อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ

ปลัดศธ. กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2552 มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนราชการอื่นๆและภาคเอกชน รวม 28 หน่วยงาน ร่วมกันจัดบูธและกิจกรรม อาทิ การเล่นเกมส์ การแจกของรางวัล การตอบปัญหาชิงรางวัล การแสดงบนเวที กิจกรรมฐานวิทยาศาสตร์ นิทรรศการ กิจกรรมสันทนาการ และการเลี้ยงอาหารกลางวัน ภายใต้แนวคิดการจัดกิจกรรม 5 โซน ได้แก่ โซนเสือ จัดกิจกรรมเกี่ยวกับกีฬา โซนผีเสื้อ จัดกิจกรรมเกี่ยวกับดนตรีและศิลปะ โซนม้าลาย จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการศึกษา โซนเต่าทอง จัดกิจกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยี และโซนยีราฟ จัดกิจกรรมการอ่านและการเล่นเกมต่างๆ ทั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร พระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญพระรูปพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ลงพิมพ์เป็นหน้าปกหนังสือที่ระลึกวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2552 ชื่อว่า “อรุณรุ่ง” ในฐานะที่ทรงเป็นต้นแบบที่ดีของเด็กไทยที่ทรงมีพัฒนาการยอดเยี่ยม

ชงรัฐเพิ่มงบ3หมื่นล.จัดเรียนฟรี15 ปี "จุรินทร์" นัดถก 6 มกราคมนี้

สพฐ.เสนอรัฐทุ่มงบเพิ่ม 3 หมื่นล้านบาท จัดเรียนฟรี 15 ปี "จุรินทร์" นัดหน่วยงาน ศธ.ที่มีสถานศึกษาในสังกัดถก 6 ม.ค.นี้

แหล่ง ข่าวกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำข้อมูลเรียนฟรี 15 ปี เสนอนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ โดยจะต้องใช้งบเพิ่มอีก 3 หมื่นล้านบาท จากเดิมในปีงบประมาณ 2552 ได้รับงบเรียนฟรี 12 ปี จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดเรียนฟรี 15 ปีครบวงจรอย่างแท้จริงในโรงเรียนสังกัด สพฐ.กว่า 3 หมื่นแห่ง

แหล่งข่าว ศธ. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐได้จัดสรรงบให้โรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในรูปของเงิน อุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวเพื่อให้โรงเรียนจัดเรียนฟรี 12 ปี ซึ่งในปีงบประมาณ 2552 สพฐ.ได้รับจัดสรรงบค่าใช้จ่ายรายหัวประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท แต่เงินจำนวนนี้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาจริงของโรงเรียน ทำให้โรงเรียนต้องขอเก็บค่าใช้จ่ายหรือระดมเงินเพิ่มเติมจากผู้ปกครอง อย่างไรก็ตาม คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ให้ สพฐ.ไปศึกษามาว่า หากต้องการให้โรงเรียนจัดเรียนฟรี 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายจริงๆ พร้อมทั้งจัดสรรอุปกรณ์การศึกษาบางรายการเพิ่มเติมให้นักเรียนนั้น จะต้องใช้เงินเพิ่มอีกจำนวนเท่าใด ซึ่งผลการศึกษาพบว่าต้องใช้เงินเพิ่มอีก 3 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าว ศธ.รายเดิม กล่าวด้วยว่า เงินจำนวนนี้แบ่งเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย 2 ส่วน คือ เงินที่จัดสรรให้นักเรียนเพื่อนำมาจัดซื้อเครื่องแบบนักเรียนให้รายละ 2 ชุดต่อปี อุปกรณ์การเรียน หนังสือเรียน รวมถึงขอเพิ่มสนับสนุนเป็นค่าอาหารกลางวัน และค่าอาหารเสริมนม ซึ่งจากเดิมรัฐบาลจัดสรรให้ตั้งแต่ระดับอนุบาล-ป.4 แต่ สพฐ.จะขอเพิ่มไปถึงระดับ ป.6 ส่วนเงินที่จัดสรรให้โรงเรียนนั้น เพื่อนำไปปรับปรุงห้องสมุด อุปกรณ์ไอซีที พร้อมทั้งเป็นค่าสาธารณูปโภคเพิ่มเติมให้โรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนมีงบเพียงพอจัดและพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพโดยไม่ ต้องเก็บค่าใช้จ่ายหรือระดมทรัพยากรเพิ่มเติมจากผู้ปกครอง โดยโรงเรียนจะขอเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้ปกครองได้เฉพาะกรณีที่ โรงเรียนจัดบริการพิเศษทางการศึกษาเพิ่มเติมนอกเหนือหลักสูตร

นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันที่ 6 มกราคมนี้ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มาหารือเพื่อกำหนดว่าเรียนฟรี 15 ปี จะให้ฟรีในเรื่องใดบ้าง เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะกำหนดเป็นมาตรฐานชัดเจนเพื่อประกาศใช้ในโรงเรียนทุก สังกัด ทั้งนี้เมื่อรัฐจัดสรรงบเพิ่มเติมแล้ว จะต้องกำหนดเป็นมาตรฐานด้วยเช่นกันว่าโรงเรียนเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองได้ เท่าไร และเก็บได้ในเรื่องใดบ้าง แต่ในส่วนที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรแล้ว โรงเรียนจะเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมไม่ได้

“จุรินทร์” นำทีมเด็กพบนายกฯ ชูแนวคิด “มหัศจรรย์เด็กไทย”

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 5 ม.ค. ที่ศูนย์แถลงข่าวกรมประชาสัมพันธ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานวันเด็ก ประจำปี 2552 ว่า วันเด็กในปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 10 ม.ค. ซึ่งนับเป็นวาระสำคัญของไทยอีกวันหนึ่ง เพราะคือวันที่ผู้ใหญ่ทุกคนตระหนักว่าเด็กต้องเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญของ ชาติ นำพาบ้านเมืองไปสู่สังคมอันสงบสุข ดำรงตนอยู่ในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการใช้ชีวิตที่พอดี มีความสุข สำหรับการจัดกิจกรรมเนื่องในงานวันเด็กแห่งชาติ มี 2 กิจกรรมหลัก คือ ในวันที่ 8 ม.ค.นี้ ตนจะนำเด็กและเยาวชนดีเด่นที่ทำชื่อเสียงมาสู่ประเทศ ประมาณ 700 คน เข้าเยี่ยมคารวะและฟังโอวาทจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ตึกสันติไมตรี และการจัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ในวันที่ 10 ม.ค. เวลา 09.00 น. ที่บริเวณอาคารนิมิบุตร กีฬาสถานแห่งชาติ โดยการจัดงานในปีนี้จำเสนอแนวคิด “มหัศจรรย์เด็กไทย” ในมุมของการเชิดชูเด็กไทยผ่านการละเล่นตามภูมิปัญญาไทย และการก้าวหน้าสู่ยุคใหม่และความสนใจระดับนานาชาติ.

'จุรินทร์'สุมหัวเดินหน้าเรียนฟรี 15 ปี

นาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว. ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 ม.ค.ตนได้เชิญผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นต้น มาหารือเกี่ยวกับการจัดการศึกษาฟรี 15 ปีตาม นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่จะให้เริ่มในปีการศึกษา 2552 เป็นต้นไป โดยในเบื้องต้นต้องมาหารือว่าจะให้ฟรีในรายการใดบ้าง อาทิ หนังสือเรียน เครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียน เป็นต้น เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานกลางที่ทุกคนจะได้รับเท่ากัน

นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ในส่วนของ สอศ.ได้มีการเสนอข้อมูลไปยังสำนักงานปลัด ศธ.แล้ว โดยเสนอให้รัฐสนับสนุนเรื่องเรียนฟรี 15 ปี ในการจัดการศึกษาสายอาชีวะ ที่ปัจจุบันมีนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประมาณ 4.8 แสนคน และได้รับเงินอุดหนุนประมาณ 3.5 พันล้านบาท แต่สิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับการเรียนสายอาชีวะ คือ วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ฝึกปฏิบัติที่ราคาจะแพงมาก ทำให้ที่ผ่านมาสถานศึกษาในสังกัด สอศ.ต้องขอเก็บค่าใช้จ่ายบางส่วนจากผู้ปกครอง ขณะที่หนังสือเรียนและชุดนักเรียนนั้น แม้จะมีความจำเป็น แต่ก็ไม่มากเท่ากับวัสดุอุปกรณ์ อย่างไรก็ตามหากรัฐจัดงบสนับสนุนจัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวให้ก็น่าจะเป็น สิ่งที่ดี

ด้าน นายบำเรอ ภานุวงศ์ ผอ.องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กล่าวว่า องค์การค้าฯ พร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายเรียนฟรี 15 ปี โดยเฉพาะในส่วนของแบบเรียนที่จะจัดให้นักเรียนตามนโยบายเรียนฟรี ซึ่งขณะนี้องค์การค้าฯ มีลิขสิทธิ์แบบเรียนในสาขาวิชาหลักทุกกลุ่มสาระวิชา ทั้งคณิต ศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคมศึกษาและศิลปะ โดยองค์การค้าฯ ได้เตรียมความพร้อมในส่วนของแท่นพิมพ์เพื่อรองรับนโย บายนี้ไว้แล้ว ซึ่งจะสามารถจัดพิมพ์แบบเรียนส่งให้โรงเรียนได้ทันก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2552 ในเดือนพฤษภาคมนี้ นอกจากนี้สำหรับชุดนักเรียนที่จะจัดฟรีให้นักเรียนนั้น องค์การค้าฯ ก็มีความพร้อมเช่นกันเพราะในปัจจุบันมีการตัดชุดนักเรียนส่งขายในร้าน ศึกษาภัณฑ์พานิชและส่งให้ร้านค้าตัวแทนทั่วประเทศอยู่แล้ว.

Monday, January 5, 2009

สช.เบรกโรงเรียนเอกชนขึ้นค่าเทอมปี 52

นาย บัณฑิต ศรีพุทธางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2552 นี้ สช.จะทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังโรงเรียนเอกชนให้ชะลอการขึ้นค่าธรรมเนียม การเรียนไปก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจในปี 2551 ขาดสภาพคล่อง ควรจะช่วยบรรเทาภาระผู้ปกครอง แม้ค่าธรรมเนียมและค่าเทอมจะเป็นอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร โรงเรียนแต่ใน พ.ร.บ.การศึกษาเอกชนมีข้อบัญญัติให้คณะ กรรมการ สช.สามารถที่จะยับยั้งได้ ถ้าเห็นว่าไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม สำหรับผลกระทบต่อผู้ขอรับใบอนุญาตเปิดและปิดโรงเรียนเอกชนในรอบปี ที่เศรษฐกิจตกต่ำนั้นที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนมีทั้งเปิดและปิด ขณะเดียวกัน หลักสูตรนอกระบบระยะสั้นประเภทวิชาชีพอาชีวศึกษาและกวดวิชามีแนวโน้มเปิดมาก ขึ้น


นาย บัณฑิตกล่าวด้วยว่า หลักสูตรระยะสั้นที่ขอเปิดมากส่วนใหญ่เป็นประเภทโรงเรียนบริบาลเลี้ยงดูเด็ก และผู้สูงอายุ เพราะตลาดมีความต้องการสูง ทั้งในและต่างประเทศ ผู้เรียนรู้แน่นอนว่าจบแล้วไม่ตกงาน นอกจากนี้ มีหลักสูตรโหราศาสตร์ ซึ่งเป็นไปตามกระแสสังคมไทยที่เชื่อเรื่องโชคลาง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯที่พิจารณาอนุญาต ได้กำหนดให้เพิ่มเติมเรื่องคุณธรรมจริยธรรมลงไปในหลักสูตรด้วย ส่วนนโยบายรัฐบาลที่จะส่งเสริมให้เอกชนร่วมจัดการศึกษามากขึ้นนั้น สช.เคยจัดระดมความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้มีข้อเสนอว่าถ้ารัฐออก คูปองการศึกษาให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนที่ไหนก็ได้ จำนวนเด็กที่จะเข้าโรงเรียนเอกชนจะมีเพิ่มขึ้น.

ครูกรุงโวยผลประเมินวิทยฐานะล่าช้า

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ได้มีครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงเรียนดังในเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 สอบถามเข้ามามาก กรณีคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้เห็นชอบหลักสูตรอบรมและพัฒนาผู้ที่ไม่ผ่านการประเมินวิทยฐานะชำนาญการ พิเศษ พร้อมทั้งเห็นชอบให้มีการอบรมเพื่อเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษา ประมาณ 20,000 คน ที่ไม่ผ่านการประเมินวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ เนื่องจากที่ผ่านมาทางสำนักเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร (สพท.กทม.) เขต 1 ยังไม่แจ้งผลการประเมินวิทยฐานะ แต่ กลับแจ้งให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ยื่นประเมินวิทยฐานะ แจ้งความจำนงขอรับการอบรมและพัฒนาทั้งๆที่ยังไม่ทราบว่าผ่านการประเมินหรือ ไม่



นาย ประเสริฐ งามพันธุ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องสอบถามจาก สพท.กทม. เขต 1 เพราะเข้าใจว่าผลการประเมินวิทยฐานะน่าจะออก เรียบร้อยแล้ว และ สพท.ต้องแจ้งผลการประเมินดังกล่าวให้ครูทราบ อย่างไรก็ตาม ขอให้ครูอย่าวิตก เพราะ สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ทำหนังสือแจ้งต้นสังกัดให้รายงานข้อมูลว่ามีครูที่ไม่ผ่านการ ประเมินและต้องเข้ารับการอบรมพัฒนามีกลุ่มใดบ้าง และทุกคนที่ไม่ผ่านการประเมินจะต้องได้รับการอบรมและพัฒนาให้ผ่านจนได้รับ วิทยฐานะ



ด้านนายเติบ ใยเจริญ ผอ.สพท.กทม. เขต 1 กล่าวว่า ในส่วนของการอ่านผลงานวิชาการครู ค.ศ.3 ของ สพท.กทม. เขต 1 นั้น จะมีการประชุม อ. ก.ค.ศ. เขต 1 ในวันที่ 15 ม.ค. 2552 ซึ่งจะประกาศผลผลงาน วิชาการของครูทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ทั้งนี้ สาเหตุที่การประกาศผลงานวิชาการครู สพท.กทม. เขต 1 ล่าช้า ประมาณ 500 กว่าคน บางกลุ่มสาระ หากรรมการอ่านผลงานค่อนข้างยาก เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาสเปน แต่ทางเขต 1 ก็ได้ให้ครูทุกคนที่ส่งผลงานแสดงความจำนงเพื่อขอรับการอบรมหากไม่ผ่านเกณฑ์ การประเมินไว้ทุกคน เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ ดังนั้น หากครูคนใดที่ทราบผลแล้วว่าไม่ผ่านการประเมิน ก็สามารถเข้ารับการอบรมเยียวยาตามเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. ประกาศไว้ได้.